ขณะนี้หลายจังหวัดยังคงประสบปัญหาน้ำท่วม และยังมีแนวโน้มฝนตกต่อเนื่องและอาจเกิดน้ำท่วมขึ้นได้อีกหลายพื้นที่ ปัญหาคือโรคต่างๆ ที่ต้องระมัดระวัง เพราะมันมาพร้อมกับน้ำ
เริ่มจากโรคทางกาย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคและภัยสุขภาพที่มาพร้อมกับน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคติดเชื้อ แมลงมีพิษกัดต่อย และ ไฟฟ้าดูด โรคติดเชื้อที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคอุจจาระร่วง โรคน้ำกัดเท้า และ โรคตาแดง จากข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 1 สิงหาคม 2560 พบทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแล้ว 608,637 ราย และผู้ป่วยโรคตาแดง 65,454 ราย
โรคอุจจาระร่วง มีสาเหตุจากอาหารสุกๆ ดิบๆ ค้างคืน มีแมลงวันตอม หรือดื่มน้ำมีเชื้อโรคปนเปื้อนโดยผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง อาเจียนบ่อย กินอาหารไม่ได้ กระหายน้ำกว่าปกติ มีไข้สูง การป้องกันทำได้โดยยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่สะอาด อาหารค้างมื้ออุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานใหม่ หากมีรสหรือกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ก่อนหลัง รับประทานอาหารและหลังขับถ่าย หรือสัมผัสสิ่งสกปรก ไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค ที่สำคัญควรปฏิบัติตนให้ถูกหลักสุขอนามัย
โรคตาแดง เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา มักมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา ขี้ตามาก ตาบวม จะเป็นอยู่ประมาณ 5 - 14 วัน ติดต่อโดยการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย หรือน้ำสกปรกเข้าตา ป้องกันโดยการล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ อย่าให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตาหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย เครื่องใช้ ไม่ควรลงเล่นน้ำในสระหรือคลอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคแพร่กระจายในน้ำ หากป่วย ไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที
โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเกิดจากเชื้อราจากการที่เท้าแช่อยู่ในน้ำที่สกปรกเป็นเวลานาน หรือมีความชื้นที่เท้าอยู่ตลอดเวลา เป็นอาการทางผิวหนังที่พบบ่อยในช่วงที่มีน้ำท่วมขังทำให้ผิวหนังซอกนิ้วเท้าแดง ขอบนูนเป็นวงกลมและคัน หากเกา แผลจะแตก และมีน้ำเหลืองเยิ้มออกมา วิธีป้องกัน คือ ควรหลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีน้ำท่วมขัง หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ท และเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังขึ้นจากน้ำหากผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน หรือมีบาดแผล ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการดังกล่าวก่อนที่จะลุกลามจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน
“ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม อย่าทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงน้ำท่วมขัง ควรทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงแล้วเก็บไว้ในที่ที่แห้ง นำไปกำจัดให้ถูกวิธี ซึ่งจะเป็นการป้องกันโรคตาแดงและโรคอื่นๆ เช่น โรคอุจจาระร่วงได้ด้วย ทั้งนี้ อย่าให้ลูกหลานลงเล่นน้ำท่วมขัง เนื่องจากในน้ำ จะมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนอยู่ และหากน้ำท่วมกระเด็นเข้าตาหรือมีฝุ่นละอองเข้าตา ขอให้ใช้น้ำสะอาดเช่นน้ำดื่มบรรจุขวดล้างหน้าให้สะอาด เพื่อป้องกันโรคตาแดง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” อธิบดี คร. กล่าว
สำหรับโรคทางใจนั้น น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าในช่วงที่น้ำลดนี้ ซึ่งเป็นระยะของการฟื้นฟู จำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นความเสียหายของทรัพย์สินปรากฎชัดเจนขึ้น รวมทั้งในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ กรมฯ ได้เตรียมแผนรับมือฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับคืนสู่สภาพปกติ โดยส่งทีมแพทย์พยาบาลออกเยี่ยมบ้าน ตรวจคัดกรองสุขภาพจิตทั้งผู้ประสบภัยทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงที่มีความเปราะบางทางจิตใจได้แก่ ผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังประจำตัว ผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูญเสียคนรัก ทรัพย์สิน และให้เฝ้าระวัง 4 อาการ ได้แก่
1. อาการของโรคเครียดรุนแรงหรือโรคพีทีเอสดี 2. ความเครียดและวิตกกังวล 3. ภาวะซึมเศร้า และ 4.
ภาวะติดเหล้าและสารเสพติด หากพบต้องรีบดูแลรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามจนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช และที่รุนแรงที่เน้นหนักที่สุดคือการฆ่าตัวตาย ซึ่งได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันในพื้นที่น้ำท่วมทุกแห่ง ในส่วนของ จ.สกลนคร ซึ่งได้รับผลกระทบหนัก กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมจิตแพทย์จาก รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ ปฏิบัติงานที่ อ.อากาศอำนวย เพิ่มอีก 1 ทีม
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า ในช่วงหลังน้ำลด 1 - 2 สัปดาห์นี้ รพ.จิตเวชนครพนมฯ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ได้วางแผนป้องกันปัญหาสุขภาพจิตร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ตรวจคัดกรองความเครียดในสถานพยาบาล ในชุมชนโดยออกเยี่ยมบ้านร่วมกับทีมควบคุมป้องโรคติดต่อ ทีมฟื้นฟูอนามัยสิ่งแวดล้อม หากพบรายใดมีความเครียด จะให้การดูแลรักษาทันทีและติดตามผลต่อเนื่อง 1 เดือน และ 6 เดือน หรือจนกว่าจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ และการให้ความรู้คำแนะนำประชาชนผ่านทางหอกระจายข่าวและอสม. ทั้งนี้โดยทั่วไปหลังประสบภัยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จะปรับตัวได้ภายใน 1 - 3 เดือน
สำหรับโรคเครียดรุนแรงนั้น โดยทั่วไปจะพบได้หลังเกิดเหตุการณ์ 3 - 6 เดือน แต่บางคนอาจเกิดได้เร็วกว่า มีอาการคือ ฝันร้ายถึงเหตุการณ์บ่อยๆ รู้สึกว่าจะเกิดซ้ำๆ อีก นอนไม่หลับ ตกใจง่าย ไม่มีสมาธิ อาการนี้หากเกิดในเด็กเล็ก จะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้ตัดสินใจไม่ดี ไม่มีสมาธิการเรียน รู้สึกไม่มีคุณค่า อาจมีอารมณ์ก้าวร้าวเมื่อโตขึ้น
ส่วนผู้ที่มีความเครียดและวิตกกังวล จะมีอาการตื่นตระหนก มักมีมือสั่น ใจสั่น เหงื่อออก มักจะมีอาการปรากฏทางกายร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะบ่อยๆ ท้องอืด แน่นจุกเสียด ปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้ อ่อนเพลียไม่มีแรง นอนหลับยาก
ส่วนของภาวะซึมเศร้า จะมีทั้งอาการทางกายปรากฎเช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ทำงานไม่ไหว ปวดหัวบ่อยๆ ท้องอืด จุกเสียด นอนไม่หลับ และอาการทางจิตใจ คือ อารมณ์เศร้าหมอง ท้อแท้ ร้องไห้ง่าย เบื่อหน่าย ลืมบ่อย ใจลอย อยากตาย รู้สึกชีวิตไม่มีความหมาย ซึ่งเป็นภาวะที่มีอันตรายมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ง่าย สำหรับภาวะติดเหล้าและสารเสพติด เป็นการแก้ไขปัญหาทางออกชีวิตที่ไม่เหมาะสม จะนำไปสู่การสูญเสียความสามารถด้านต่างๆ เช่น ความจำ อารมณ์
“หากผู้ประสบภัยมีอาการดังกล่าวขอให้รีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ โทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนของประชาชนทั่วไปหากพบผู้ประสบภัยหรือคนในครอบครัวหรือคนรู้จัก มีปัญหาและอาการที่กล่าวมา อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว ขอให้รีบไปพูดคุยและแจ้งอสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที เพื่อให้ได้รับการบำบัดรักษาโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะมีโอกาสหายขาดได้สูง” นพ.กิตต์กวี กล่าว