xs
xsm
sm
md
lg

เร่งปฐมพยาบาลจิตใจผู้ประสบภัย “น้ำท่วม” ลดเครียด คัดกรองปัญหาสุขภาพจิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต ส่งทีมดูแลจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม เร่งปฐมพยาบาลจิตใจผู้สูญเสีย คัดกรองปัญหาสุขภาพจิต ให้การปรึกษาลดความเครียด พร้อมติดตามใกล้ชิดต่อเนื่อง 3 เดือน ในรายที่นอนไม่หลับรุนแรง ท้อแท้ ป้องกันโรค PTSD แนะลดการสื่อสารหลายช่องทาง เหตุมีข่าวลือมากยิ่งทำให้ตื่นตระหนก

วันนี้ (29 ก.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในเวลานี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจผู้ประสบภัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตดูแลเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยร่วมกับทีมแพทย์ฝ่ายกาย จึงจัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (ทีม MCATT) จาก รพ.จิตเวช และ ศูนย์สุขภาพจิต ประเมินผลกระทบ รวมทั้งดูแลช่วยเหลือและฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัย ในกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติการรักษาโรคทางจิตเวช ใช้สารเสพติด ผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และทรัพย์สินอย่างมาก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก กลุ่มผู้ที่ต้องการบริการด้านสุขภาพจิต ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายทุกราย

ทั้งนี้ ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย จะมีหลักสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ 1. การทําให้ประชาชน รู้สึกปลอดภัย ตั้งแต่ การให้ข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสม การให้ที่พักพิง รวมถึงการเข้าถึงความต้องการพื้นฐานต่างๆ 2. การทําให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ได้แก่ การรับฟังอย่างเข้าใจ การให้ข้อมูล การให้คําปรึกษาเบื้องต้น ตลอดจนการคลายเครียดต่างๆ 3. การช่วยเหลือ จัดการ ให้มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างสมํ่าเสมอ โดยเฉพาะ ครอบครัว และการช่วยเหลือต่างๆ 4. การสร้างความหวังที่เป็นไปได้ เช่น การประสานงานให้ได้รับการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐและอื่นๆ การให้ข้อมูล การช่วยเหลือ การติดตามคนที่สูญหาย การจัดหางาน การฝึกอาชีพ รวมถึงการช่วยเหลือในการกลับไปสู่ภาวะปกติ และ 5. การส่งเสริม กระตุ้น บุคคล หรือชุมชน ในการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟู และช่วยเหลือกันและกัน

“ปฏิกิริยาทางด้านจิตใจของผู้ประสบภัย จะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันไป ตามระยะของการเกิดภัย ซึ่งในระยะนี้ อยู่ในช่วงระยะวิกฤตและฉุกเฉิน ขอให้พึงระลึกเสมอว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ได้ ด้านอารมณ์ เช่น ช็อก โกรธ สิ้นหวัง หวาดกลัว เศร้าโศก เสียใจ หงุดหงิด ด้านความคิด เช่น ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี สับสน ตำหนิตัวเอง วิตกกังวล ด้านร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ท้ายทอย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตื่นเต้น ตกใจง่าย และ ด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น แยกตัว ขัดแย้งกับคนใกล้ชิด เป็นต้น เหล่านี้ ถือเป็นการตอบสนองตามปกติที่เกิดขึ้นและจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งแต่ละคนจะมีระดับความเครียดแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับต้นทุนชีวิตเดิมหรือบุคลิกภาพเดิมเป็นอย่างไร และเป็นคนที่สามารถปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด หากเดิมเป็นคนไม่ค่อยเครียดและปรับตัวได้ง่ายก็มักจะไม่เกิดภาวะเครียดรุนแรง รวมทั้ง สภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น และการเตรียมตัวในการป้องกัน ที่หากมีการเตรียมตัวป้องกันดี เกิดความเสียหายน้อย ความเครียดก็จะน้อยตามไปด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า การดูแลในระยะนี้ จึงเน้นไปที่การจัดบริการภายใต้ภาวะวิกฤตฉุกเฉิน โดยจัดบริการปฐมพยาบาลด้านจิตใจ ตรวจคัดกรองประเมินปัญหาสุขภาพจิต ให้การปรึกษาเพื่อลดภาวะความเครียด การฝึกผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเอง เช่น การนวดคลายเครียด การฝึกลมหายใจ ให้กำลังใจ สร้างแรงใจให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ หากพบผู้ประสบภัยมีความเครียดสูง มีภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย สังเกตได้จากเดิมเคยเป็นคนร่าเริง เปลี่ยนเป็นซึมเศร้า บ่นท้อแท้ หดหู่ใจ หรือบ่นถึงความตายบ่อยๆ จะรีบเข้าไปช่วยเหลือ พูดคุย ให้กำลังใจ ช่วยลดความเครียดลง สำหรับรายที่มีอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรง ท้อแท้ หรือเครียดมากๆ จนถึงขั้นกระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ อาจต้องให้ยาคลายความเศร้า หรือยาคลายความเครียดที่จะทำให้การนอนหลับดีขึ้นร่วมด้วย โดยจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงในระยะยาว และเกิดโรคทางจิตเวช เช่น โรคภาวะเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) นอกจากนี้ การติดตามข่าวสารในแต่ละวัน ตลอดจนข่าวลือต่างๆ อาจทำให้เกิดความกลัวและตื่นตระหนก ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลสูงได้ จึงขอแนะนำให้ลดการสื่อสารหลายช่องทางลงบ้าง ให้ติดตามสถานการณ์และสอบถามข้อมูลจากแหล่งข่าวสำคัญของท้องถิ่นหรือของทางราชการแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น