กรมสุขภาพจิต เผยผลดูแลจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม “สกลนคร” ส่วนใหญ่ปรับตัวได้ พบเครียด วิตกกังวล 13 คน แต่ไม่รุนแรง แนะสังเกตดูแลจิตใจลูก เหตุเด็กรับรู้ความทุกข์ผู้ใหญ่ เกิดความสูญเสีย หวาดกลัว และ เครียดเป็น
วันนี้ (30 ก.ค ) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการให้บริการดูแลสุขภาพจิตประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมฉับพลันที่จังหวัดสกลนคร โดยทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤต หรือ ทีมเอ็มแคท พบว่า ประชาชนเริ่มปรับตัวได้ สภาพจิตใจดีขึ้น เนื่องจากได้รับการดูแลช่วยเหลือย่างรวดเร็วจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่วนการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตจากน้ำท่วมจำนวน 68 คน ที่อยู่ในภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวในโรงยิมศูนย์ราชการจังหวัดสกลนคร พบมีความเครียด วิตกกังวลในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง 13 คน ในจำนวนนี้ 6 คน มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด ผู้ป่วยหลังผ่าตัดสมอง โดยมีอาการตกใจกับเหตุการณ์ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ไม่มีรายใดอาการรุนแรง ไม่มีอาการซึมเศร้า ไม่มีความคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเยี่ยมติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง และพบผู้ติดสุราเรื้อรัง 1 คน เกิดอาการเพ้อสับสนจากอาการถอนพิษสุรา ได้ส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลสกลนคร
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ต้องระวังคิอ สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น เด็กๆ อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจไปด้วย อันเนื่องจากการที่ได้เห็นและรับรู้ความทุกข์ความกังวลของผู้ใหญ่ และคนในครอบครัว ซึ่งเด็กๆ อาจสูญเสียสัตว์เลี้ยง หรือของเล่นที่ตนรัก ชีวิตประจำวันตามปกติต้องสะดุดลง เช่น โรงเรียนต้องปิด ต้องอพยพย้ายที่อยู่ เป็นต้น รวมไปถึงการที่เห็นคนในครอบครัวและคนที่รู้จักบาดเจ็บ หรือ เสียชีวิตในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์รุนแรงได้ ดังนั้น การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่ดีที่สุดในภาวะเช่นนี้ คือ การเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งเด็กจะเป็นปกติสุขได้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถปรับตัวจัดการกับปัญหาได้ ทั้งระหว่างเกิดภัยน้ำท่วมและในภายหลัง เด็กๆ มักต้องการพึ่งพาในเรื่องข้อมูลทั่วไป คำปลอบโยน และความช่วยเหลือ
“ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของเด็กต่อภาวะน้ำท่วมแตกต่างกันไปตามระดับอายุ พัฒนาการ และประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อน พ่อแม่จึงควรรับรู้และสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาที่อาจพบในเด็ก เช่น กลัว หวาดหวั่นเรื่องความปลอดภัย กลัวการแยกจากคนในครอบครัว มีพฤติกรรมติดผู้ใหญ่ อยู่ไม่นิ่งเพิ่มขึ้น สมาธิ และความตั้งใจลดลง หลีกหนีผู้อื่น โกรธ หงุดหงิดง่าย ลงมือลงเท้า แสดงอารมณ์ก้าวร้าว บ่นเจ็บป่วยไม่สบาย ปวดท้อง ปวดหัว เพ่งความสนใจอยู่กับเรื่องน้ำท่วม เช่น พูดถึงซ้ำๆ แสดงเนื้อหาเรื่องน้ำท่วมในการเล่น ไวต่อสิ่งเตือนใจที่ทำให้นึกถึงน้ำท่วม มีปัญหาการกินการนอน กลับมาปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้เวลาเพื่อพูดคุยกับพวกเขา ทำให้พวกเขารู้ว่าเขาสามารถพูดคุยซักถามและแบ่งปันความกังวลใจที่มีได้ โดยมีผู้ใหญ่ยินดีรับฟัง ควรเปิดโอกาสให้เด็กรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัว หรือกับโรงเรียนของเขา หรือ กับชุมชนที่อยู่ และอย่าลืมถามความรู้สึก ความคิดเห็นของเขาบ้าง กรณีเด็กกังวลสงสัยขึ้นมาถามซ้ำๆ ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรกังวลใจหรือเบื่อที่จะตอบ และในเด็กเล็ก หลังจากคุยกันแล้ว อาจเล่านิทาน หรือเรื่องราวสนุกๆ ให้เขาฟัง หรือทำกิจกรรมสบายๆ ผ่อนคลายร่วมกันในครอบครัว เพื่อทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลายและใจสงบได้ พ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถช่วยได้ โดยแสดงตนเป็นแบบอย่างของการปรับตัวในทางที่ดี มีอารมณ์สงบมั่นคง เพื่อให้เด็กเรียนรู้วิธีจัดการกับปัญหาที่เหมาะสม ระมัดระวังคำพูดของผู้ใหญ่ในเรื่องวิกฤตที่เกิดขึ้น เพราะเด็กอาจรับรู้และแปลความอย่างผิดๆ จนเกิดเป็นความหวาดกลัว
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงเรื่อยๆ ที่ศูนย์พักพิงที่โรงยิมศูนย์ราชการ จ.สกลนคร เหลือผู้ประสบภัยอยู่ประมาณ 100 คน จากเดิมที่มีประมาณ 500 คน ในวันนี้ทีมเอ็มแคทของ รพ.จิตเวชนครพนม และ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 จะดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างพลังใจให้ผู้ประสบภัย พร้อมรับมือเมื่อกลับเข้าบ้าน เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างถูกต้อง และไม่ส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตตามมา อย่างไรก็ดี ขอแนะนำให้ผู้ประสบภัยทุกคน ช่วยกันสอดส่องความทุกข์ ช่วยกันให้กำลังใจรับฟังความรู้สึก และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเท่าจะทำได้ เพื่อให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้
“ประการสำคัญ ขอให้สังเกต ใส่ใจการเปลี่ยนแปลงของคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือคนรู้จัก หากพบเห็นผู้ที่เคยร่าเริงยิ้มแย้ม กลายเป็นคนเศร้าซึม ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ เก็บตัว หรือนั่งเหม่อลอย หรือดื่มเหล้า กินไม่ได้ ให้รีบเข้าไปพูดคุยเพื่อคลายความทุกข์ในใจทันที อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว หากอาการยังไม่ดีขึ้น มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ขอให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ เจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ให้การช่วยเหลือ หรือส่งตัวไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน” นพ.กิตต์กวี กล่าว