กรมสุขภาพจิต เผย หนุ่มสาวยุคใหม่เริ่มสนใจ “ฝึกสมาธิ” คลายเครียดแทน “พัก - เที่ยว - ช้อป” ชวนดาวน์โหลดคู่มือสร้างสุขด้วยสติในองค์กร แนะวิธีฝึกปฏิบัติทำสมาธิ 3 ขั้นตอนง่ายๆ ขจัดความเครียดถูกต้อง ไม่คั่งค้างในสมอง
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มวัยทำงาน ใช้เวลา 1 ใน 3 ของแต่ละวันอยู่ที่ทำงาน เสี่ยงต่อการเกิดความเครียดได้ง่าย และมักแก้ความเครียดด้วยการหยุดพักผ่อน ไปเที่ยวหรือไปชอปปิ้ง ซึ่งช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้นชั่วคราวเท่านั้นแต่ไม่ได้ช่วยให้ความเครียดสลายไป ยังคงสะสมอยู่ใต้จิตสำนึก เมื่อกลับมาทำงานจะเกิดความเครียดสะสมไปอีก หากสะสมมากจะส่งผลต่ออารมณ์ หงุดหงิดง่าย ซึ่งวิธีการคลายเครียดด้วยสติและสมาธินี้กำลังได้รับความนิยมจากหนุ่มสาวสมัยใหม่มากขึ้น กรมฯ จึงจัดทำคู่มือสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (Mindfulness In Organization : MIO) เพื่อเผยแพร่ความรู้และวิธีการขจัดความเครียดที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนทุกคนด้วยการปฏิบัติฝึกสติและสมาธิง่ายๆ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ตลอดชีวิต ซึ่งมีผลการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันตรงกันว่าสามารถขจัดความเครียดออกจากจิตใต้สำนึกได้ผลที่สุดและยั่งยืน ประชาชนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือนี้ได้ที่เว็บไซต์ ไทยเอ็มไอโอดอทคอม (www.thaimio.com) โดยเลือกที่หมวดเมนูทั่วไป
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สติเป็นจิตที่มีคุณภาพในขณะทำงาน ส่วนสมาธิเป็นจิตที่มีคุณภาพขณะพัก ทั้ง 2 ส่วนนี้สัมพันธ์เกื้อหนุนกัน การนั่งสมาธิทุกวัน วันละ 10 - 20 นาที จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวบุคคล ทำให้การทำงานดีขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น แสดงออกอย่างระมัดระวัง ตระหนักรู้ตัวเอง ทำให้คุณภาพจิตมีความรัก ความเมตตาเสียสละอดทน เนื่องจากจิตในขณะที่มีสติ จะทำงานโดยไม่วอกแวก ไม่ถูกสอดแทรกด้วยอารมณ์ ส่วนจิตขณะทำสมาธิจะหยุดคิดจนเกิดความสงบ เกิดการผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะเป็นการคลายเครียดในระดับลึกตรงข้ามกับกระบวนการเกิดอารมณ์และความเครียดซึ่งจะเริ่มจากการสะสมความว้าวุ่น ความคิดลบจากแรงกดดันต่างๆ และจบด้วยการเกิดอารมณ์และความเครียด การทำสมาธิทุกวันเท่ากับเป็นการปลดปล่อยความเครียดออกจากสมองทุกวัน สมองจะไม่มีความเครียดคั่งค้างอยู่ เมื่อมีความเครียดเข้ามาใหม่ ก็จะเผชิญกับสถานการณ์ได้ดี
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า วิธีฝึกสมาธิมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ ได้แก่ 1. ฝึกหยุดความคิด 2. ฝึกการจัดการความคิดที่มาจากจิตใต้สำนึก โดยรับรู้ แต่ไม่คิดตาม และ 3. ฝึกการจัดการความง่วงจากจิตที่เริ่มสงบ โดยขั้นที่ 1 การฝึกหยุดความคิด ให้นั่งตัวตรง ศีรษะตรง หลับตาเบาๆ หายใจเข้าออกยาวๆ สัก 5 - 6 ลมหายใจ และให้มุ่งการรับรู้ลมหายใจที่มาสัมผัสบริเวณปลายจมูกข้างที่รู้สึกชัดกว่า ซึ่งจะต้องใช้ความตั้งใจจับความรู้สึกลมหายใจที่เข้าออก เนื่องจากบริเวณปลายจมูกมีประสาทรับรู้น้อยกว่าที่อื่น การรู้ลมหายใจจึงทำให้หยุดคิด เมื่อรับรู้ได้แล้ว ให้หายใจตามปกติ ขั้นที่ 2 ฝึกการจัดการความคิดที่เกิดขึ้นมาในใจ โดยให้รู้ตัวว่ามีความคิดเกิดขึ้น แต่อย่าติดตาม ปลดปล่อยความคิดนั้นไป และกลับมาหยุดคิดโดยสนใจที่ลมหายใจที่ปลายจมูก อย่าสั่งตัวเองให้หยุดคิดหรือว้าวุ่นวกวนกับความคิดเพราะจะทำให้จิตไม่สงบ ด้วยวิธีนี้สมองจะค่อยๆ ปลดปล่อยความว้าวุ่นออกไปจากจิตใต้สึกนึกจนสงบ และขั้นที่ 3 การจัดการความง่วงซึ่งเกิดขึ้นจากจิตเริ่มสงบ ให้พยายามยืดตัวให้ตรง เพื่อให้ร่างกายตื่นตัว หายใจเข้าออกลึกๆ 5 - 6 ครั้ง เมื่อหายง่วงให้กลับมารับรู้ลมหายใจที่ปลายจมูกเช่นเดิม ช่วงเวลาการฝึกสมาธิที่ดีที่สุดคือเช้าตรู่หรือก่อนนอน เนื่องจากเป็นช่วงสงบ
“การสะสมความเครียดทั้งจากบ้านที่ทำงานจากภาระหนี้สิน จะก่อความเครียดที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบร่างกายและจิตใจ ไม่มีความสุข ทำให้หมดไฟในการทำงาน (Burn out) มีแนวโน้มกระทบกระทั่งกันง่าย รวมทั้งก่อให้เกิดโรค เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคซึมเศร้า เป็นต้น” นพ.ยงยุทธ กล่าว