xs
xsm
sm
md
lg

ครึ่งปีพบป่วย “ฉี่หนู” กว่า 1,000 ราย ตาย 26 ราย ห่วงหน้าฝนป่วยเพิ่ม 2-3 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค เตือนหน้าฝนนี้เลี่ยงลุยน้ำย่ำโคลนป้องกันโรคไข้ฉี่หนู เผยครึ่งปีพบป่วยมากกว่า 1,000 ราย เสียชีวิต 26 ราย ชี้ หน้าฝนถึงปลายปีพบเพิ่ม 2 - 3 เท่า แนะมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่อง หรือ โคนขา รีบพบแพทย์ด่วน

วันนี้ (12 ก.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ อาจเกิดน้ำท่วมขัง และมีพื้นที่ชื้นแฉะในหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคที่มากับฤดูฝน โดยเฉพาะโรคไข้ฉี่หนู สำหรับสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 4 กรกฎาคม 2560 มีรายงานผู้ป่วย 1,083 ราย เสียชีวิต 26 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง และ พังงา เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 58 ของผู้เสียชีวิตทั้งประเทศ นอกจากนี้ จากข้อมูล 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงหน้าฝนจนถึงปลายปี จะมีผู้ป่วยสูงขึ้นประมาณ 2 - 3 เท่า (เดือนละ 200 - 300 ราย) จากช่วงต้นปีถึงก่อนเข้าฤดูฝนที่จะพบผู้ป่วยเพียงเดือนละประมาณ 100 กว่าราย

นพ.เจษฎา กล่าวว่า เชื้อโรคของโรคไข้ฉี่หนู อาจพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าหนู โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสเชื้อเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำขัง หรือพื้นดินที่เป็นดินโคลนชื้นแฉะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่มีหนูอาศัยอยู่ชุกชุม เช่น ตลาด คันนา สวน อาการของโรคไข้ฉี่หนู จะเริ่มจากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และ ตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ร่วมกับมีประวัติ หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสน้ำ เช่น น้ำขัง บ่อน้ำขัง พื้นที่ชื้นแฉะ หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนการขับถ่ายของสัตว์ ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญ ขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด อาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู ดังนี้ 1. ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูต หรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง 2. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง 3. หากมีบาดแผลที่เท้า หรือที่บริเวณขา ขอให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล 4. หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงาน และ 5. กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด ปกปิดอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิดโดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้
กำลังโหลดความคิดเห็น