กรมควบคุมโรค เผย ปี 2560 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเกือบ 100 ราย เกือบทั้งหมดอยู่ในภาคเหนือ - อีสาน เตือนอาหารงานบุญเลี่ยงการกินเมนูหมูดิบ ทั้งลาบ หลู้ เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับไม่รู้ตัว อาจทำหูหนวกถาวรหรือตายได้
วันนี้ (3 พ.ค.) นพ.เจษฎา โชคดํารงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงนี้บางจังหวัดมีเทศกาลและงานบุญต่างๆ ซึ่งอาจมีการจัดเลี้ยง หรือทำอาหารรับประทานร่วมกัน ดังนั้น จึงควรระวังเรื่องการบริโภคอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมากินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ หมูกระทะปิ้งย่างไม่สุก จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก ที่สำคัญควรงดนำอาหารดิบไปถวายพระสงฆ์ เพราะเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้
นพ.เจษฎา กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 เมษายน 2560 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 89 ราย เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมา คือ 45 - 54 ปี และ 55 - 64 ปี ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก เป็นจังหวัดในภาคเหนือทั้งหมด ได้แก่ อุตรดิตถ์ น่าน นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และ พิจิตร นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 90 อยู่ในภาคเหนือ (50 ราย) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (30 ราย) สำหรับข้อมูลในปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 300 ราย เสียชีวิต 16 ราย โดยพบผู้ป่วยในภาคเหนือสูงถึง 210 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด
“โรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดของหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา 2. การกินหมูดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ ทั้งเนื้อ เครื่องใน และเลือด ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ และที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบ และเสื่อมจนหูหนวก” อธิบดี คร. กล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวว่า ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับ คือ ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู และผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคอ่อนแออยู่แล้ว สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าในร่างกาย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3 - 5 วัน อาการที่พบ คือ ไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด วิธีการป้องกัน คือ 1. กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อนหรือทำให้สุกจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่กินสุกๆ ดิบๆ และควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ 2. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบูตยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง
“หากประชาชนมีอาการป่วยหลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันทีและต้องบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบด้วย เพราะหากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและเสียชีวิตได้ เนื่องจากโรคนี้รักษาหายและมียารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ” อธิบดี คร. กล่าว