ผลการเลือกตั้งผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยคนใหม่ หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว โดยรศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ได้รับการเลือกด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายขององค์การฯ
ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่จะผ่านกระบวนการคัดเลือกด้วยความโปร่งใส ตามที่ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ นักสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีบทบาทในทีวีไทย ทีวีสาธารณะแห่งนี้ จะกำหนดตัวรศ.ดร.วิลาสินีไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่
และจะมีการตรวจสอบ ฟ้องร้อง หรือล้มผลการคัดเลือกผอ.ไทยพีบีเอสใหม่หรือไม่ เป็นสิ่งที่สาธารณชนรอติดตามกันอยู่
แต่สิ่งที่สังคมเริ่มตั้งคำถามกันมากขึ้นคือ ความจำเป็นในการดำรงอยู่ของ “ไทยพีบีเอส”
ไม่มีใครบังอาจระบุ ไทยพีบีเอสกลายเป็นสื่อที่นักสิทธิมนุษยชนเพียงกลุ่มหนึ่งเข้าซ่องสุม และสนุกสนานกับผลประโยชน์ที่เจือจุนกัน
มีแต่เสียงถามไถ่ที่กำลังขยายออกไปในวงกว้างว่า ภาษีบาปที่นำไปสนับสนุนไทยพีบีเอสปีละ 2,000 ล้านบาทนั้น ประชาชนเจ้าของเงินได้รับประโยชน์กลับคืนที่คุ้มค่าหรือไม่
“ไทยพีบีเอส” ก่อกำเนิดขึ้นจากหยาดน้ำตาของบรรดานักข่าวสาวไอทีวีที่กำลังจะตกงาน และเดินสายสร้างกระแส “ดราม่า” โดยการบีบน้ำตา จนพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น อ่อนระทวย อนุมัติให้ตั้งไทยพีบีเอสเพื่อช่วยให้พนักงานไอทีวีเกือบ 300 คนมีที่ลง
จุดประสงค์ในการก่อตั้งไทยพีบีเอส เพื่อเป็นทีวีสาธารณะ เป็นสื่อของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ไทยพีบีเอสไม่สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อของประชาชนตามเจตนารมณ์ในการก่อตั้งได้ และบางครั้งแสดงตัวเป็นสื่อที่ฝักใฝ่การเมือง ถือหางนายทักษิณ ชินวัตร อดีตเจ้านายเก่ากลุ่มนักข่าวไอทีวีอีกด้วย
ความดำรงอยู่ของไทยพีบีเอส ถูกตั้งคำถามเป็นระยะ เพราะกลายเป็นสื่อทีวีที่ได้รับความนิยมต่ำ อยู่ท้ายตารางของสื่อทีวี รายการในเชิงสร้างสรรค์ แม้จะมีบ้าง แต่ถ้าเทียบกับเงินภาษีของประชาชนที่ต้องสนับสนุน ไม่น่าจะคุ้มค่า
ภาษีสังคมที่ต้องสนับสนุนไทยพีบีเอสตกปีละ 2,000 ล้านบาท เฉลี่ยวันละประมาณ 6 ล้านบาท หรือชั่วโมงละ 250,000 บาท โดยไม่หักวันหยุด
เงินจำนวน 6 ล้านบาท ถ้าจัดสรรให้ตำบล เพื่อสร้างห้องสมุดสมัยใหม่ มีเทคโนโลยีพร้อม หรือนำไปปรับปรุงสถานีอนามัย สร้างห้องฉุกเฉินรับคนไข้
หรือสร้างบ่อน้ำขนาดใหญ่ประจำตำบล เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อน แหล่งน้ำทางการเกษตร และเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา เป็นแหล่งอาหารประจำตำบล น่าจะเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า
เพราะถ้าไม่ต้องนำภาษีสังคมมาชุบเลี้ยงคณะกรรมการ พนักงานไทยพีบีเอส หรือเปิดเวทีให้นักสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่งได้แสดงออกผ่านหน้าจอทีวี โดยนำเงินก้อนเดียวกันไปสนับสนุนการพัฒนาตำบล
ทุกวันจะมี 1 ตำบลได้งบประมาณในการพัฒนาจำนวน 6 ล้านบาท
1 ปีจะมีตำบลที่ได้รับเงินสนับสนุนในการทำกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม 365 ตำบล ในเวลา 10 ปี จะมีตำบล 3,650 แห่ง ได้รับงบการพัฒนา และภายในเวลา 20 ปี ตำบลทั่วประเทศซึ่งมีจำนวนประมาณ 7,255 ตำบล จะได้รับเงินสนับสนุนครบทั่วทั้งประเทศ
แต่เงินภาษีสังคมวันละ 6 ล้านบาท ถ้ายังต้องสนับสนุนไทยพีบีเอสต่อไป จะไม่แตกต่างจากการนำเงินไปละลายทิ้งในทะเล กลายเป็นเงินสูญเปล่า โดยประชาชนแทบไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรตอบแทน แต่นักสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่ง อาจได้เพลิดเพลินกับการนำเงินปีละ 2,000 ล้านบาทไปบรรเลง
“ไทยพีบีเอส” ถึงเวลาที่จะต้องยุบทิ้ง และนำเงินสนับสนุนก้อนเดียวกันไปใช้พัฒนาแต่ละตำบลหรือไม่ ฝากให้ใครก็ตามที่มีอำนาจกำหนดชะตากรรมทีวีสาธารณะแห่งนี้นำไปพิจารณาทบทวน
เพราะไทยพีบีเอสก่อตั้งมาแล้วเกือบ 10 ปี ถลุงเงินภาษีไปแล้วเกือบ 20,000 ล้านบาท แต่ประชาชนยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ทีวีสาธารณะแห่งนี้ ก่อประโยชน์อะไรคืนกลับสู่สังคมบ้าง
อย่าคิดว่า” ไทยพีบีเอส” ต้องมีไว้เพื่อเป็นเวทีแสดงออกของนักสิทธิมนุษยชนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องตระหนักว่า ไทยพีบีเอสอยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุนของประชาชน จึงเป็นทีวีของประชาชนทุกคน
ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์จากทีวีสาธารณะแห่งนี้ ทำไมประชาชนจึงต้องแบกรับภาระสนับสนุนการดำรงอยู่ของไทยพีบีเอส เพียงเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งเสวยสุข
ความไม่โปร่งใสในการเลือกผอ.คนใหม่ เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องตรวจสอบกัน แต่โจทย์ที่ใหญ่กว่าคือ
เงินภาษีปีละ 2,000 ล้านบาทที่ต้องเจียดไป คุ้มหรือไม่ที่จะสนับสนุนให้ไทยพีบีเอสดำรงอยู่ต่อไป