กรรมการธรรมาภิบาล ไทยพีบีเอส ชี้ กระบวนการสรรหา ผอ. ไม่ถูกต้อง แทนที่จะกลั่นกรองผู้สมัครเป็นรายกรณี กลับใช้วิธีโหวตคัดออก ตัดผู้สมควรให้เหลือ 2 คน โดยไม่มีเหตุผล โดยคนที่ถูกคัดออกรอบแรกไม่ถูกวินิจฉัย มีสิทธิ์นำคดีขึ้นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนผลการคัดเลือกได้ทันที
วันนี้ (6 ก.ค.) จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส มีมติเลือก รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล (อดุลยานนท์) อดีตรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ในสมัยของ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. คนใหม่ ด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของที่ประชุม ขณะที่ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น บรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีคะแนนนำในการแสดงวิสัยทัศน์ไม่ได้รับเลือกนั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ได้ทำหนังสือถึง นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการนโยบาย ด้านการบริหารจัดการองค์กร เกี่ยวกับความเห็นทางกฎหมายในปัญหาการคัดเลือก ผอ.ไทยพีบีเอส ระบุว่า ตามที่อาจารย์ได้ส่งข้อมูลและขอความเห็นจากผมในฐานะกรรมการธรรมาภิบาลเรื่องความถูกต้องของกระบวนการคัดเลือก ผอ.ไทยพีบีเอสนั้น ผมศึกษาแล้วมีข้อวิเคราะห์ที่ขอเสนอดังนี้
1. กระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง
ตามข้อบังคับของไทยพีบีเอสกำหนดให้คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่ “กลั่นกรอง” ผู้สมควรรับคัดเลือกโดยคณะกรรมการนโยบาย โดยกำหนดว่าต้องมีการรับสมัครและเสนอชื่อได้ไม่เกิน 5 คน
โดยข้อบังคับนี้ผู้สมัครทุกคนต้องมีสิทธิ์ได้รับการกลั่นกรองจากคณะกรรมการสรรหา ว่า ตัวเขาสมควรต่อตำแหน่งหรือไม่ก่อน ซึ่งต้องเป็นการพิจารณาเป็นรายบุคคลไป ดังนั้น การที่คณะกรรมการสรรหาไปใช้วิธีการโหวตให้กรรมการแต่ละคนเลือกมาสองคน แล้วเอาคะแนนที่แต่ละคนได้มารวมกัน จึงเป็นโหวต "คัดออก" หาใช่โหวตกลั่นกรองแต่อย่างใดไม่
ที่ถูกต้องนั้นคณะกรรมการที่สรรหาต้องตรวจสอบข้อมูลฟังวิสัยทัศน์แล้วโหวตเป็นรายบุคคลไปว่าจะรับรองผู้สมัครนั้นหรือไม่ หากผู้ใดได้คะแนนเกินเกณฑ์กำหนด เช่น กึ่งหนึ่งขึ้นไป ก็ถือว่าผ่านการกลั่นกรองให้เสนอชื่อได้
จากนั้นถ้าใน 7 คนที่สมัครมานี้ผ่านการกลั่นกรองมาเกิน 5 คน ตรงนี้จึงเป็นการโหวตคัดออก เช่น ให้ทุกคนเลือกมา 5 คน แล้วเอาคะแนนมารวมกันเรียงจากลำดับที่ 1 ถึง 5 ก็จะได้ผู้สมัครแก่ตำแหน่งมาเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายโดยถูกต้องในที่สุด
การกลับปรากฏว่า คณะกรรมการสรรหากลับลุแก่อำนาจ ไม่กลั่นกรองคุณสมบัติผู้ใดเลย โหวตตัดผู้สมควรให้เหลือ 2 คน โดยไม่มีเหตุมีผลใดเลย 2 คน ที่ได้นี้จะสมแก่ตำแหน่งหรือไม่ อีก 5 คนที่ตกไปมีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ ก็ไม่ถูกวินิจฉัยให้ปรากฏเลย ถือเป็นการปฏิเสธสิทธิ์ของผู้สมัคร ที่เมื่อสมัครแล้วก็มีสิทธิ์ต้องได้รับการพิจารณาในเนื้อผ้า คือ คุณสมบัติของตนย่อม “เสียหาย” มีสิทธิ์ฟ้องร้องโต้แย้งให้ศาลปกครองตรวจสอบได้ ขณะเดียวกัน ก็ก้ำเกินอำนาจของคณะกรรมการนโยบาย ไปตัดบุคคลที่เสนอตัวออกไปจากบัญชีโดยไม่มีเหตุผลใดๆ เลย
กระบวนการสรรหาเช่นนี้ไม่ถูกต้องอย่างชัดแจ้ง ผู้สมัคร 5 ราย มีสิทธิ์นำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนผลการคัดเลือก ผอ. ได้ทันที เพราะเป็นมติที่มาจากกระบวนการสรรหาที่ไม่ถูกต้อง ส่วนผู้ใดจะเป็นผิดทางอาญาหรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่ว่ามีเจตนาทุจริต มีการสมคบกันฮั้วตำแหน่งนี้หรือไม่ เช่น ช่วยกันกีดกันคนอื่นออกไปให้เหลือ 2 คน เพื่อแข่งกันเองแล้วแบ่งประโยชน์กันเองในภายหลังอีกทีหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งถ้าเค้ามีข้อมูลชี้บ่งเช่นนี้ก็ควรที่จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. เพื่อไต่สวน และเสนอรัฐบาลให้รื้อและปฏิรูปไทยพีบีเอสทั้งระบบเลยก็จักสมควรยิ่ง
2. แนวทางปฏิบัติ
2.1 อาจารย์ควรเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมพิจารณาปัญหากฎหมายนี้ก่อนเลยว่า ขั้นตอนการสรรหาที่ทำมาอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องแล้วเรายังขืนมีมติคัดเลือกไปบนข้อเสนอที่ไม่ถูกต้องอย่างนี้ ผู้สมัครเขาย่อมมีสิทธิ์ฟ้องศาลปกครองให้ตรวจสอบและเพิกถอนของเราได้ คดี ป.ป.ช. ก็ตามมาได้อีก การเมืองก็สวมรอยมารื้อเราอีก เสนออย่างนี้ให้เราพิจารณากันดีๆ ว่า กระบวนการสรรหามันถูกต้องไหม
2.2 อาจารย์ควรบอกไปแต่แรกเลยว่า นี่เป็นปัญหาความถูกต้อง จะใช้เสียงข้างมากมายุติไม่ได้ ถ้าที่ประชุมไม่แยแสสนใจเดินหน้าโหวตไปตามอำเภอใจ อาจารย์ย่อมมีสิทธิ์ที่จะไม่โหวตโดยไม่อยู่ในที่ประชุมได้ และชี้แจงจต่อสาธารณะได้ด้วย
2.3 หากที่ประชุมให้กลับไปกลั่นกรองใหม่ให้ถูกต้อง อาจารย์ควรให้มีมติฝากคณะกรรมการสรรหาให้ตรวจสอบประวัติผู้สมัครประกอบมาด้วย ทั้งโดยการสอบถามหน่วยงานและเปิดรับข้อมูลสาธารณะที่ชี้ช่องมาอย่างสมเหตุผล แล้วให้คณะกรรมการสรรหารับหน้าที่ตรวจสอบรับฟังคำชี้แจงของเจ้าตัวรวมเสนอมายังคณะกรรมการนโยบาย หากกรรมการใดมีข้อมูลก็ให้เสนอตรงไปยังคณะกรรมการสรรหาได้อีกทางหนึ่งด้วย
2.4 ท้ายสุดนั้น คณะกรรมการสรรหาควรต้องทำหน้าที่ให้เหตุผลประกอบมาด้วยว่า แต่ละคนที่เสนอมานั้นมีข้อมูลที่พึงพิจารณาอย่างไรบ้าง ไม่ใช่โหวตส่งมาเลยโดยไม่ให้เหตุผลใดๆ เลย
3. ข้อสรุป
อาจารย์ต้องทำให้เขาเข้าใจให้ได้ว่านี่ไม่ใช่การลัมกระดาน แต่เป็นการกู้กระดาน แต่เป็นการกู้กระดานที่ลัมไปแล้วให้กลับมามั่นคงแข็งแรง เป็นการมีมติให้กลับไปเริ่มกลั่นกรองใหม่ ไม่ใช่รับสมัครใหม่ และทำอะไรให้มันสมเหตุผลมากขึ้น ส่วนระยะเวลา 120 วันที่กำหนดให้มี ผอ. ใหม่นั้น ในทางวิชาการเป็นแค่เวลาเร่งรัดเท่านั้น เกินเลยออกไปก็ทำได้แต่ต้องมีเหตุผลที่ถูกต้องมาอธิบาย ซึ่งกรณีนี้ผมยืนยันว่ามีเหตุผลชัดเจนยิ่ง
ผมจึงขอเรียนเสนอมาเพื่อประกอบการพิจารณา และอนุญาตให้เผยแพร่หรืออ้างอิงได้ในทุกกรณี