xs
xsm
sm
md
lg

โรคฉี่หนูระบาดที่กระบี่ตายแล้ว 2 อธิบดีลงพื้นที่ติดตามการแพร่ระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กระบี่ - อธิบดีกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ระบาดโรคไข้ฉี่หนูใน จ.กระบี่ หลังพบการระบาดในพื้นที่เสียชีวิตแล้ว 2 ราย อยู่ระหว่างรอผลยืนยันอีก 1 ราย พบมีการระบาดใหญ่ในอบ 7 ปี

วันนี้ (31 ม.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 6 โรงพยาบาลกระบี่ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ ได้เดินมาประชุมติดตามสถานการณ์และการคุมควบของการระบาดโรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคฉี่หนู ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ หลังมีการระบาดติดเชื้อหลายราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย อยู่ระหว่างการยืนยันอีก 1 ราย โดยมีนายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรหมมา รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.กระบี่ นายแพทย์สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผอ.โรงพยาบาลกระบี่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

จากนั้น อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เดินทางไปที่บ้านของ นางหัสยา จันทิพา อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 136/ 18 ถนนศรีตรัง เขตเทศบาลเมืองกระบี่ หนึ่งในคอบครัวที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคฉี่หนู เพื่อสอบถามประวัติของผู้ป่วย พร้อมแจกจ่ายแผ่นพับประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้ฉี่หนูในภาวะน้ำท่วม และมอบรองเท้าบูตให้แก่ผู้ประสบภัยเพื่อเป็นการป้องกัน

นายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคใต้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในช่วงน้ำลดประชาชนต้องระมัดระวังโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส เนื่องจากสภาพพื้นดินในบริเวณที่พักอาศัย หรือทางเดินชื้นแฉะ เป็นแอ่งน้ำขัง โดยเชื้ออาจอยู่ตามบริเวณดังกล่าวได้ เชื้อโรคชนิดนี้จะสามารถเข้าทางบาดแผล หรือตามรอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานได้ จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559-27 มกราคม 2560 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูในพื้นที่ภาคใต้แล้ว 126 คน เสียชีวิต 2 ราย ใน จ.กระบี่ และอยู่ระหว่างรอผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการอีก 1 ราย

สำหรับอาการของโรคฉี่หนู จะเริ่มจากมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่อง และโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมาขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด อาจทำให้เสียชีวิตได้

“ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในพื้นที่ จ.กระบี่ และในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันควบคุมไม่ให้เกิดโรคติดต่อระบาดในช่วงน้ำลด และส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประสบภัยร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเฝ้าระวังโรค ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันโรคแก่ประชาชน หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์เจษฎา กล่าว

สำหรับจังหวัดกระบี่ ถือว่าเป็นการระบาดรอบที่ 2 โดยครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 และในครั้งนี้ก็เกิดจากหลังน้ำท่วมใหญ่เช่นเดียวกัน พบผู้ป่วยอูในข่ายต้องสงสัยกว่า 30 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นการระบาดครั้งใหญ่ในอบ 7 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น