xs
xsm
sm
md
lg

โจ๋ไทยเล่นพนันบอลยูโรหนักกว่าบอลโลก ซัดสื่อชี้นำกระตุ้นอยากเล่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ ชี้ ภาครัฐ - สังคม แก้ปัญหาพนันบอลยูโรยังไม่สำเร็จ วัยโจ๋ยังนิยมเล่นหนักกว่าบอลโลก ยอมควักกระเป๋าจ่าย จากที่ไม่เล่นยังเปลี่ยนใจ ระบุ สื่อมีอิทธิพลชี้นำ กระตุ้นให้อยากเล่นสูง

วันนี้ (26 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมแมนดาริน ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จัดเวทีอภิปราย “สรุปพนันบอลยูโร 2016 เด็กไทยเสียเท่าไหร่”

นายธน หาพิพัฒน์ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการรับชมและการเล่นพนันทายผลฟุตบอลยูโร 2016 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังการแข่งขันฟุตบอลยูโร ระหว่างวันที่ 11 - 22 ก.ค. 59 ในกลุ่มนักพนันมัธยมปลาย และอาชีวศึกษา 3,832 ตัวอย่าง ใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ เชียงใหม่ พิษณุโลก ชลบุรี ราชบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และสงขลา พบว่า ฟุตบอลยูโรยังเป็นที่นิยมของวัยรุ่น เกินครึ่งติดตามรับชมการถ่ายทอดสด พบพฤติกรรมเสี่ยงขณะรับชม เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ทานอาหารฟาสต์ฟูด ดื่มน้ำหวานน้ำอัดลม และชวนเพื่อนเล่นการพนัน ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 66% รับรู้การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ห้ามเล่นการพนัน จากโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และสภาพแวดล้อมคนรอบข้าง ยังคงเล่นการพนันสูงถึง 57% ขณะที่ย้อนดูผลสำรวจก่อนแข่งขัน กลุ่มตัวอย่างตั้งใจไว้ว่าจะเล่น และเมื่อเริ่มแข่งขัน 80% ก็เล่นพนันจริง ๆ ที่น่าห่วงคือ กลุ่มตัวอย่างจากที่จะไม่เล่นแต่กลับหันมาเล่น 8% เนื่องจากสื่อยังมีอิทธิพลต่อการกระตุ้นและจูงใจให้เล่น โดยใช้เป็นข้อมูลประกอบในการเล่น 91.5% ตามช่องทาง เฟซบุ๊ก เคเบิลทีวี เว็บพนันต่าง ๆ

“กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่ง 43.7% เน้นเล่นพนันแบบได้เสีย เงินพนันเฉลี่ยต่อคู่ จากเดิม 1,879 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 3,123 บาท ส่วนปัญหาที่ตามมา คือ หนี้สิน เสียการเรียน เกิดความเครียด อย่างไรก็ตาม พนันบอลยูโรยังเป็นที่นิยมเล่นหนักกว่าฟุตบอลโลก สะท้อนได้ว่า ภาคการทำงาน การห้ามปราม ประชาสัมพันธ์ ไม่สำเร็จเท่าที่ควร ทำให้เบรกการเล่นพนันบอลในกลุ่มเยาวชนไม่ได้ เพราะช่องทางยังเข้าถึงง่าย สถิติเล่นพนันเพิ่มขึ้น การควบคุมไม่ต่อเนื่องจริงจัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังทำอะไรไม่ได้ เว็บไซต์พนันเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ต้องเร่งตัดช่องทางการพนัน” นายธน กล่าว

ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (Media Monitor) กล่าวว่า จากการมอนิเตอร์ข้อมูลจากสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ ช่วงที่มีการแข่งขันบอลยูโร พบว่า หนังสือพิมพ์กีฬารายวัน ยังครองแชมป์การให้ข้อมูล ชี้ช่องทางเล่นพนันทายผล หรือเรียกว่าเป็นเหมือนคู่มือสำหรับนักพนัน ทั้งบอกวิธีการเล่น บอกแต้มต่อ บอกความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ส่วนสื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์ยังมีการเสนอเนื้อหาที่ลงลึกเข้าไปในระดับการพนัน และมีการให้เสี่ยงโชคพนัน เช่น ส่ง SMS ขณะที่หนังสือพิมพ์รายวันบางส่วน เสนออัตราต่อรอง ที่น่าห่วงคือ เว็บไซต์ซึ่งเป็นที่นิยมของนักพนันมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก เพียงแค่ใส่คำค้นเข้าไปก็จะปรากฏเนื้อหาการรับแทง ช่องทาง ราคา ในขณะที่การนำเสนอกิจกรรมรณรงค์การต่อต้านการเล่นพนันบอลตามสื่อต่าง ๆ พบว่า มีน้อยมาก โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กีฬา ไม่มีการนำเสนอเนื้อหารณรงค์ปรากฏให้เห็นเลย จึงขอฝากไปยังเจ้าภาพหลักเข้าแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การขอรับคำปรึกษาสายด่วนเลิกพนัน 1323 ช่วงฟุตบอลยูโร 2016 มีเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า หากเทียมกับฟุตบอลโลก 2014 ซึ่งคนที่เป็นนักพนันอยู่แล้วมักใช้วิธีปรับเปลี่ยนหันมาเล่นพนันบอล พบในกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่าเยาวชน ทั้งนี้ ลักษณะการบำบัดผู้มีปัญหา พบว่า ผู้ใหญ่ 30% สามารถเลิกได้ มี 5% ที่กลับไปติดซ้ำ ส่วนกลุ่มเยาวชนพบ 9% เลิกได้ มี 5% ที่ติดซ้ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องการเลิกพนัน 80% รักษาให้หายได้ ส่วนอาการเสพติดการพนัน ถ้าไม่ได้เล่นจะรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย ร่างกายอ่อนแอ มีโอกาสป่วยง่าย พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง มีภาวะซึมเศร้าเจ็บป่วยทางจิตร่วมด้วย ซึ่งปัญหาการพนันส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพกาย หรือปัญหาสุขภาพจิต เสี่ยงต่อการติดยาเสพติด 6 เท่า ติดเหล้า 5 เท่า มีความรุนแรงและการใช้อาวุธ 6 เท่า เสี่ยงต่อการสูบบุหรี่ 3 - 10 เท่า มีภาวะซึมเศร้าและโอกาสฆ่าตัวตายสูงขึ้น 4 เท่า ดังนั้น ควรปลูกฝังเพื่อเป็นแนวทางป้องกันการเข้าถึงพนัน ที่สำคัญ สื่อควรเสนออย่างถูกต้องเหมาะสม และมีกฎหมายบทลงโทษที่ชัดเจน

ขณะที่ นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ภาพรวมของการเล่นพนันฟุตบอลในเด็กและเยาวชน มีส่วนประกอบ คือ 1. พนันเข้าถึงเด็ก - เด็กเข้าถึงพนัน 2. เด็กไทยมีค่านิยมพนันสูง แต่มีภูมิต้านทานต่ำ มองเป็นเรื่องปกติและหวังได้เงิน ไม่สนกฎหมาย 3. สื่อมีส่วนสนับสนุนการพนัน แม้บางสื่ออาจไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็มีบางสื่อที่ตั้งใจชวนพนันแบบฟันธง ลงแต้มต่อ ล่อให้พนัน 4. พนันฟุตบอลมีคุณสมบัติของการพนันที่อันตราย ได้แก่ เข้าถึงง่าย สิ่งแวดล้อมกระตุ้น และมีความถี่ในการแทงพนัน หรือแข่งขัน ฉะนั้น บอลลีกต่างประเทศกำลังจะมา ขณะที่ลีกไทยกำลังเตะอยู่ ต้องรณรงค์สร้างความตระหนักไม่ให้กระแสในสังคมแผ่วลง สร้างการเรียนรู้เพื่อรู้ทันพนันให้เข้าสู่ระบบโรงเรียน ครอบครัว และทุกฝ่ายเร่งรับมือ ทั้งกระทรวงกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กสทช. สมาคมวิชาชีพสื่อด้านกีฬา และกองทุนสลากกินแบ่งเพื่อพัฒนาสังคม ทั้งนี้ อาจต้องเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยคณะกรรมาธิการกีฬารับหน้าที่เป็นผู้ผลักดันให้การทำงานนี้เกิดขึ้น



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น