xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงคนอีสานเริ่มฆ่าตัวตายสูงขึ้น “ขอนแก่น” สูงสุดที่ 6.81 ต่อแสนประชากร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กิจกรรม “วันรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10กันยายน2559”ที่ลานโปรโมชั่น ห้างเซ็นทรัลพลาซาขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ผนึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรม “วันรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” ห่วงอัตราการฆ่าตัวตายคนไทยเพิ่มที่ระดับ 6.47 ต่อแสนประชากร ทั้งนี้ ภาคอีสานเริ่มมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้น จ.ขอนแก่น มีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุดที่ 6.81 ต่อแสนประชากร ชี้ปัญหาฆ่าตัวตายป้องกันได้ ไม่ควรมองข้ามสัญญาณอันตรายทั้งคำพูด และพฤติกรรมที่เข้าข่ายต้องช่วยเหลือทันที

วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ลานโปรโมชัน ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จัดกิจกรรม “วันรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 กันยายน 2559” มีนายแพทย์ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ และประชาชนทั่วไปร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

นายแพทย์ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทยได้กลับมาขยายตัวสูงขึ้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด ปี พ.ศ.2558 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.47 ต่อแสนประชากร สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่อัตรา 6.08 ต่อแสนประชากร หรือเฉลี่ยทุกๆ 2 ชั่วโมง มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน พื้นที่ภาคเหนือ ยังมีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุดกว่าภาคอื่นคือ 10.59 ต่อแสนประชากร มีเพียงภาคใต้เท่านั้นที่อัตราการฆ่าตัวตายลดลง

ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคอีสาน เป็นภาคที่มีสัดส่วนการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นกว่าภาคอีสาน จาก 5.38 ต่อแสนประชากรในปี 2557 ขยับขึ้นเป็น 6.11 ต่อแสนประชากร

ส่วนกลุ่มจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงจากการที่อัตราการฆ่าตัวตายปรับตัวสูงขึ้นจาก 4.51 เพิ่มขึ้นเป็น 5.96 นั่นคือ คนที่อาศัยอยู่ใน 4 จังหวัดนี้ 5,040,000 คน มีคนฆ่าตัวตายไปแล้ว 301 คน หรือจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 5-6 คน ที่สำคัญ จ.ขอนแก่น ฆ่าตัวตายสูงสุดที่ 6.81 ต่อแสนประชากร

นพ.ประภาส กล่าวต่อว่า วิธีการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ใช้วิธีการแขวนคอมากถึงร้อยละ 80.4 รองลงมาคือ กินยากำจัดวัชพืช/ยาฆ่าแมลง ร้อยละ 10 ซึ่งปัจจัยของการฆ่าตัวตายจะเกี่ยวข้องกต่อปัญหาด้านความสัมพันธ์ ทะเลาะกับคนใกล้ชิด ร้อยละ 33.55 รองลงมาคือ ต้องการการเอาใจ ร้อยละ 5.48 ปัญหาทางกายและจิต ได้แก่ โรคจิตร้อยละ 19.77 โรคซึมเศร้าร้อยละ 11.46 รวมถึงปัญหาติดเหล้า ร้อยละ 22.92

“ปัญหาการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้ เริ่มต้นจากการสังเกตตนเอง สังเกตคนใกล้ชิดถึงสัญญาณเตือนของการทำร้ายตัวเอง ทั้งคำพูด หรือพฤติกรรม เช่น ส่งข้อความ ภาพ คลิปวิดีโอ ข่มขู่ตัดพ้อ หรือพูดเป็นนัย ถือเป็นสัญญาณเตือนไม่ควรมองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ หรือไร้สาระ ถือเป็นเรื่องฉุกเฉินที่ต้องช่วยเหลือทันที การช่วยที่ดีที่สุดคือ การทำให้เขาตั้งสติได้ หากเราไม่สามารถช่วยอาจเชื่อมต่อหาคนพูดคุยด้วย เช่น คนที่เขารักไว้ใจ เพื่อช่วยดึงสติเขากลับคืนมา หรือขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด” นพ.ประภาส กล่าว
นายแพทย์ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์






กำลังโหลดความคิดเห็น