xs
xsm
sm
md
lg

ห่วง 4 จังหวัด “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ฆ่าตัวตายพุ่ง ภาคเหนือครองแชมป์ปลิดชีพตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คนทุก 2 ชั่วโมง พบภาคเหนือครองแชมป์ฆ่าตัวตายสูงสุด ห่วง 4 จังหวัด “ร้อยแก่นสารสินธุ์” แนวโน้มฆ่าตัวตายสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ แนะเพิ่มความรู้สึกรัก ผูกพัน สานสัมพันธ์ ช่วยป้องกันได้

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 10 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก โดยปีนี้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “ทั่วโลกประสานใจ ป้องกันการฆ่าตัวตาย” เนื่องจากองค์การอนามัยโลกประมาณการว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายมากกว่า 8 แสนราย มากกว่าการฆาตกรรมและสงครามรวมกัน ทั้งยังคาดว่าในปี 2563 จะมีคนเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายถึง 1.53 ล้านคน ส่วนคนไทย ในปี 2556 มีการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย มากกว่า 3,900 ราย เฉลี่ยทุก 2 ชั่วโมง มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ภาคเหนือ มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด ทั้งนี้ วัยผู้ใหญ่อายุ 40 - 44 ปี ฆ่าตัวตายมากสุด สำหรับวิธีที่ถูกเลือกใช้มากที่สุด คือ การแขวนคอ ร้อยละ 66.92 สาเหตุเกิดจากปัญหาการสื่อสาร ความสัมพันธ์ในครอบครัว เศรษฐกิจ และการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง

ที่น่าห่วงคือกลุ่มจังหวัด “ร้อยแก่นสารสินธุ์” คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และ กาฬสินธุ์ พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่พบว่าความรู้สึกผูกพัน หรือการสานสัมพันธ์ของสังคม สามารถช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้ โดยมีการศึกษาพบว่า สังคมที่แปลกแยกมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ตรงข้ามหากมีความผูกพันแน่นแฟ้น จะช่วยป้องกันได้ คือรู้สึกใกล้ชิดกับคนอื่น เป็นที่รัก ได้รับความห่วงใย ทั้งพ่อแม่ เพื่อนฝูง ครู อาจารย์ คนในสังคม นอกจากนี้ ภาวะสุขภาพและภาวะทางอารมณ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้เครียดน้อย ป้องกันโรคเรื้อรังด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้าน นพ.ประภาส อุครานันท์ ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า 10 จังหวัดแรกที่มีอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดพบว่า 9 จังหวัดอยู่ในเขตภาคเหนือ อายุ 40 - 44 ปี ฆ่าตัวตายมากที่สุด อายุต่ำสุดที่ฆ่าตัวตายคือ 10 ปี สูงสุดคือ 105 ปี นอกจากการแขวนคอแล้ว ยังนิยมใช้ยาฆ่าแมลง และปืนด้วย โดย เม.ย. เป็นเดือนที่ลงมือทำร้ายตนเองสูงสุด ทั้งนี้ ร้อยละ 52.2 ก่อนมีการทำร้ายตนเอง จะมีชีวิตโดยส่วนใหญ่เป็นปกติดี แต่เมื่อมีเหตุการณ์สะเทือนใจเข้ามาบีบคั้น จึงตัดสินใจลงมือกระทำในทันที ส่วนร้อยละ 47.8 จะมีปัญหาชีวิตสะสมมานานและมากจนถึงขีดสุด จนไม่สามารถฟื้นความเข้มแข็งทางใจได้ นอกจากนี้ พบว่า ช่วง 1 เดือนก่อนทำร้ายตนเอง จะถูกคนใกล้ชิดซุบซิบ ว่าร้ายให้อับอาย ทำให้เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองถึง 2.8 เท่า และหากดื่มสุราในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จะทำให้เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองเพิ่ม 2.4 เท่า

ขอนแก่นอยู่ในเขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายไม่เกิน 6.5 ต่อประชากรแสนคน แต่จากการติดตามเฝ้าระวังพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยแต่ละปีมีคนฆ่าตัวตายมากกว่า 200 คน กาฬสินธุ์ มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด รองลงมา คือ มหาสารคาม ขอนแก่น และร้อยเอ็ด โดยกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นถึง 6.61 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศที่เฉลี่ยอยู่ที่ 6.08 ต่อประชากรแสนคน” นพ.ประภาส กล่าว

สำหรับกิจกรรมรณรงค์ในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก รพ.จิตเวชขอนแก่นฯ ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 7 จัดกิจกรรม ที่ใช้ชื่อว่า “แค่ยิ้ม2…ฆ่าตัวตายเป็นทางออกของชีวิตหรือไม่ ?” ในวันที่ 5 - 6 ก.ย. 2557 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาขอนแก่น กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การเสวนา หัวข้อ “การฆ่าตัวตายเป็นทางออกของชีวิตหรือไม่ ?” การจัดนิทรรศการด้านวิชาการความรู้สุขภาพจิตและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย รวมทั้ง การประกวด Smile got Talent ผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย บุคลากรสาธารณสุข ประชาชน สถานศึกษา หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จากทุกจังหวัดในเขตเครือข่ายบริการสุขภาพ ที่ 7 โดยได้รับการสนับสนุนด้านสถานที่จากศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาขอนแก่น และบริษัท เซ็นทรัล รีเทลคอร์ปอเรชั่น จากัด เป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น