สธ. แนะ 4 วิธีเชียร์ “บอลยูโร” อย่างมีสติ ย้ำสนุกได้โดยไม่เล่นพนัน หวั่นเสพติดพนันเป็นโรคทางจิตเวช ต้องเข้ารับการรักษา เผย คนโทรศัพท์ปรึกษาเลิกพนันเป็นวัยรุ่น แนะอย่าลองเล่นเสี่ยงพาตัวเองเข้าสู่วังวนอุบาทว์
วันนี้ (9 มิ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “เทศกาลฟุตบอลยูโร 2016 : เชียร์บอลอย่างมีสติ” ว่า ช่วงวันที่ 10 มิ.ย. - 10 ก.ค. 2559 เป็นช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ซึ่งเวลาการแข่งขันจะตรงกับช่วงกลางคืนของประเทศไทย คือ 20.00 น. 23.00 น. และ 02.00 น. ถือเป็นเวลานอน โดยมีการถ่ายทอดสดติดต่อกันทุกวัน จึงเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชน ดังนั้น ประชาชนที่รอชมการแข่งขันฟุตบอลควรดูบอลอย่างมีสติ คือ 1. หลีกเลี่ยงอาหารทำลายสุขภาพ อาทิ อาหารฟาสต์ฟูด 2. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยอาจเลือกดื่มน้ำผลไม้คั้นสด หรือน้ำสมุนไพรที่ไม่ใส่น้ำตาล 3. จัดเวลานอนให้เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และ 4. ดูสนุกได้ต้องไม่พนัน
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การติดพนันบอล ถือเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง คล้ายกับการติดยาเสพติด ซึ่งจากสายด่วนสุขภาพจิตเลิกพนัน 1323 ซึ่งให้คำปรึกษาฟรีตลอด 24 ชั่วโมง มีนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญในการปรับพฤติกรรมให้คำแนะนำ พบว่า ในปี 2558 มีสายโทรเข้ามา 310 ครั้ง เป็นชายมากกว่าหญิง 3 เท่า ร้อยละ 34 ติดพนันบอล เฉลี่ยอายุระหว่าง 22 - 59 ปี สำหรับพฤติกรรมที่เข้าข่ายติดพนันบอล หากมี 1 ใน 3 ข้อนี้ถือว่าเสี่ยง คือ 1. นอนไม่หลับ หงุดหงิด หรือวิตกกังวล เมื่อพยายามหยุดเล่นพนัน 2. ปิดบังครอบครัวหรือเพื่อน ไม่ให้รู้ว่าเสียพนัน และ 3. ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน จึงขอให้ดูบอลอย่างมีสติ ไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 วัน ให้ติดตามจากสื่ออื่น ๆ แทน
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การติดพนันบอล เกิดจากพยาธิสภาพของสมองมีการเปลี่ยนแปลง จนจุดหนึ่งเกิดสภาพคล้าย ๆ เหมือนคนติดยาเสพติด การรักษาจึงเหมือนกับโรคติดสารเสพติดทั่วไป แต่จะมีการประเมินว่าอาการระดับใดต้องรักษาด้วยยา หรือเพียงปรับพฤติกรรมที่เรียกว่า จิตสังคมบำบัด ก็พอ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา จากสายด่วนสุขภาพจิตเลิกพนัน 1323 ซึ่งเปิดให้คำปรึกษาฟรีตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า มีกลุ่มที่ โทร. เข้ามาปรึกษาจำนวนมาก และส่วนหนึ่งเข้ารับการรักษา โดยเฉลี่ยเข้ารับการรักษาปีละ 500 กว่าราย ซึ่งรักษาด้วยจิตสังคมบำบัดพบว่า 80% รักษาหายได้ มีเพียง 20% ที่ต้องส่งต่อให้ไปรักษาด้วยยา ทั้งนี้ เคสที่เข้ามารักษาส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น หลายครั้งพ่อแม่พาเข้ามารักษาเอง และหลายครั้งก็มีอาการร่วม 3 อย่าง คือ ติดเกม ติดการพนัน และติดยาเสพติด ซึ่งการพนันนั้น อันดับแรกคือ ติดพนันออนไลน์ รองลงมาคือพนันบอล การเล่นไพ่ และหวย
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้จะรักษาโรคติดพนันได้ แต่ก็มีโอกาสที่จะกลับไปเล่นได้อีก เพราะบางคนไม่สามารถคุมได้ เมื่อต้องดูบอลก็รู้สึกอยากกลับไปเล่นอีก คล้ายกับคนเลิกบุหรี่ที่มีคนชวน หรือเห็นคนสูบก็อยากสูบ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือไม่เริ่มลองเล่น เพราะไม่ต่างจากการลองยาเสพติด แม้เพียงนิดหนึ่งก็สามารถติดยาเสพติด และส่งผลกระทบต่อชีวิตได้ ทั้งชีวิตตัวเอง ครอบครัว เศรษฐกิจ โดยก่อปัญหาต่าง ๆ ทั้งทักษะในการใช้ชีวิตลดลง การพนันมีส่วนทำให้เด็กมีโอกาสติดเหล้า 5 เท่า ติดยาเสพติด 6 เท่า มีความรุนแรง และการใช้อาวุธอีก 6 เท่า สูบบุหรี่ 3 - 10 เท่า เป็นหนี้และอาจก่อปัญหาอาชญกรรม และมีภาวะซึมเศร้างและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงขึ้นถึง 4 เท่า สำหรับคนที่เลิกติดพนันได้แล้วหากเกิดความรู้สึกอยากเล่นอีกให้รีบพบแพทย์ อย่าเล่นเด็ดขาด เพราะหากกลับไปเล่นก็จะเข้าสู่วังวนเดิม
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่