xs
xsm
sm
md
lg

“ความรัก” ทำคนไทยปลิดชีวิตตัวเองมากขึ้น ผุดแอปพลิเคชัน “Sabaijai” เบรกความคิดฆ่าตัวตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

คนไทยมีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ในปี 2557 คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.08 คนต่อแสนประชากร ส่วนปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 6.47 คนต่อแสนประชากร เฉลี่ยคือ ทุก 2 ชั่วโมงคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้การฆ่าตัวตายของคนไทยจะอยู่ในอัตราปกติตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือ ไม่เกิน 7.0 คนต่อแสนประชากร แต่เมื่อแยกเป็นรายภาคจะพบว่าภาคเหนือมีอยู่ 4 จังหวัด ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายที่เกินมาตรฐาน โดยปี 2558 ได้แก่ ลำพูน น่าน เชียงราย และ แม่ฮ่องสอน มีเพียงภาคใต้เท่านั้นอัตราฆ่าตัวตายที่ลดลง โดย จ.นราธิวาส เป็นจังหวัดเดียวที่มีอัตราฆ่าตัวตายต่ำที่สุด คือ ไม่เกิน 0.95 คนต่อแสนประชากร ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยรวมแม้อัตราการฆ่าตัวตายจะไม่เกินมาตรฐาน แต่กลับพบว่ามีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงขึ้น จึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตั้งเป้าว่าในปี 2564 จะลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จให้ไม่เกิน 6.0 ต่อแสนประชากร

ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่สามารถป้องกันได้ ทุกคนช่วยได้ สื่อมวลชนก็ช่วยได้ ขอให้เริ่มต้นที่ “ครอบครัว” ด้วยการสร้าง “3 ส.” ได้แก่ การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Connect) สื่อสารดีต่อกัน (Communicate) และ ใส่ใจซึ่งกันและกัน (Care) นับเป็นวัคซีนสำคัญที่จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมลงได้ นอกจากนี้ ยังเพิ่มบริการตรวจคัดกรองความเครียดและโรคซึมเศร้า ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้สูงอายุในการดูแลผู้สูงอายุ หรือ Long Term Care ด้วย เพราะเป็นวัยที่เผชิญกับปัญหาสุขภาพ โรคเรื้อรัง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

สำหรับสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย จากการศึกษาและวิเคราะห์ของ รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ พบว่า โดยรวมปัจจัยและสาเหตุหลักเป็นเรื่องของปัญหาความสัมพันธ์ ความรักความหึงหวง การทะเลาะกับคนใกล้ชิด และน้อยใจ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเจ็บป่วยด้วยทั้งโรคทางกายทางจิตและโรคซึมเศร้า ซึ่งแต่ละช่วงวัยปัจจัยก็จะแตกต่างกันออกไป

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ย้ำเพิ่มว่า เรื่องความรักเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนข้อสงสัยว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียจนเกิดปัญหาการฆ่าตัวตายนั้น จริง ๆ แล้วปัจจัยและสาเหตุไม่ได้แตกต่างกับโลกความเป็นจริงเท่าไรนัก คือเป็นเรื่องของปัญหาความสัมพันธ์ ความรัก ความขัดแย้งกับคนใกล้ชิดที่กระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตาย เพียงแต่เปลี่ยนจากโลกความเป็นจริงกระจายไปอยู่สังคมโลกเสมือนมากขึ้น เพราะคนไทยหันมาใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อสื่อสารมากขึ้น ที่สำคัญยังใช้เป็นช่องทางในการระบายความทุกข์ หรือโพสต์สัญญาณเตือนของคนที่มีความเสี่ยงจะฆ่าตัวตายด้วย ซึ่งก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยี จากเมื่อก่อนที่ใช้การส่งจดหมาย หรือการส่งเอสเอ็มเอส

กระบวนการในการเกิดความคิดฆ่าตัวตายเริ่มจากเกิดปัญหาหรือเกิดความทุกข์ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้ไม่สบายใจ แล้วหมกมุ่นกับความทุกข์ของตัวเอง จนถึงจุดหนึ่งที่มองว่าความทุกข์ของตัวเองนั้นใหญ่มาก จนเรื่องอื่น ๆ กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย เริ่มมีความคิดที่ว่ามีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว และเกิดความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง ซึ่งเสี่ยงที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ปัญหาคือคนที่มีความคิดฆ่าตัวตายจริง ๆ แล้วเขาอยากคุยกับคนอื่น ๆ เนื่องจากคิดไม่ตกกับความทุกข์ตัวเอง เพียงแต่ไม่ยอมเปิดใจพูดคุยกับคนอื่นก่อน แต่จะมีการส่งสัญญาณแปลก ๆ ออกมา ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลือ ก็จะเริ่มวางแผนค้นหาวิธีในการฆ่าตัวตาย ดังนั้น การรายงานข่าวการฆ่าตัวตายจึงต้องระวัง การไปลงรายละเอียดจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้กระตุ้นการฆ่าตัวตายได้” พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า เมื่อถึงขั้นเตรียมการวางแผนฆ่าตัวตายแล้ว เช่น เตรียมอาวุธ เตรียมมีด เตรียมเชือก แสดงว่า เข้าสู่ช่วงวิกฤต คือ จะเอาจริงแล้ว หากสติขาดผึงขึ้นมาก็จะใช้วิธีที่เตรียมไว้ในทันที ปัญหาสำคัญ คือ แม้จะมีการแสดงออกถึงสัญญาณขอความช่วยเหลือ แต่คนมักไม่เข้าใจว่าเป็นเพียงการโพสต์บอกอย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อยู่ในช่วงวิกฤตแล้วหรือไม่ ดังนั้น เมื่อเห็นคนโพสต์อะไรแปลก ๆ หรือส่งสัญญาณแปลก ๆ ออกมา ต้องรีบช่วยเหลือทันที พาเขาออกมาจากปัญหาที่เขาเผชิญอยู่

สอดคล้องกับ พ.อ.หญิง พญ.นวพร หิรัญวิวัฒน์กุล นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า สัญญาณเตือนของคนที่จะฆ่าตัวตาย คือ การแสดงออกถึงการจะทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือพฤติกรรม เช่น การส่งข้อความ ภาพ คลิปวิดีโอ ข่มขู่ตัดพ้อ หรือพูดจาสั่งเสียเป็นนัย ๆ หรือปัจจุบันที่มีการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นก็ใช้เป็นช่องทางในการโพสต์ภาพวิธีที่จะใช้ฆ่าตัวตาย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่สุดที่จะเกิดการทำร้ายตนเองจริงได้ อย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ หรือ ล้อเล่น จำเป็นต้องดำเนินการช่วยเหลือทันที การช่วยเหลือที่ดีที่สุด คือ การทำให้เขาตั้งสติให้ได้ ซึ่งหากเราไม่สามารถช่วยเหลือหรือจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง อาจช่วยได้โดยการเชื่อมต่อหาคนพูดคุยด้วย เช่น คนที่เขารัก ไว้ใจ หรือใกล้ชิดที่สุด เพื่อช่วยดึงสติเขากลับมา

อาจกล่าวได้ว่า การปล่อยให้คนที่มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายอยู่อย่างโดดเดี่ยว ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการฆ่าตัวตายให้เขามากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องดึงเขาออกมาจากความคิดวนเวียนเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตายให้ได้ เช่น การชวนพูดคุย การพาไปทำอย่างอื่น แต่บางครั้งผู้ที่มีปัญหาอาจไม่อยากพูดคุย ซึ่ง รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ได้จัดทำแอปพลิเคชันเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าวในชื่อว่า “Sabaijai” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบไอโอเอส และแอนดรอยด์

พญ.พรรณพิมล อธิบายว่า แอปพลิเคชันดังกล่าวจะมี 5 หัวข้อหลัก ๆ คือ 1. ไขคำตอบ ไขข้อข้องใจ 2. แบบคัดกรอง 3. ใครสักคนที่อยากคุยด้วย 4. สายด่วนสุขภาพจิต และ 5. เติมพลังใจกันเถอะ โดยในหัวข้อไขคำตอบจะอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตาย และเมื่อเข้าสู่แบบคัดกรอง ก็จะมีการประเมินภาวะอารมณ์และความรู้สึกว่ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย พร้อมให้คำแนะนำ 3 แนวทาง คือ เลือกที่จะคุยกับใครหรือไม่ ซึ่งในหมวดใครสักคนที่อยากคุย จะมีการซิงก์ข้อมูลกับรายชื่อในโทรศัพท์มือถือแล้วให้เลือกว่าอยากโทรศัพท์ไปพูดคุยกับใครหรือไม่ หรือหากไม่ก็อาจเลือกแนวทางที่สองพูดคุยกับสายด่วนกรมสุขภาพจิต ซึ่งทั้งสองหมวดดังกล่าวเป็นการโทรศัพท์ออกผ่านแอปพลิเคชันได้เลย แต่หากไม่อยากคุยกับใครจริง ๆ ก็อาจเลือกทางเลือกสุดท้ายคืออ่านคำแนะนำจากหมวดเติมพลังใจฯ

ในหมวดเติมพลังใจฯ จะมีหลายหัวข้อ เช่น คำสอนจากศาสนา ซึ่งมีทั้ง 3 ศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือหัวข้อ คำคมโดนใจ ที่อาจช่วยกระตุกสติให้กลับมา โดยจะมีการให้เลือกปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญหน้าอยู่ โดยแบ่งออกเป็น การใช้ชีวิต ความรัก การเรียน การงาน การเงิน สุขภาพ เพื่อน และครอบครัว โดยจะมีภาพพร้อมคำคมโดน ๆ ที่ช่วยดึงสติกลับมา ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นแอปพลิเคชันที่คอยอยู่เป็นเพื่อน ที่ให้เราอ่านแล้วดึงความคิดออกมาจากการฆ่าตัวตาย ทำให้เขารู้สึกไม่โดดเดี่ยว แม้จะไม่ได้พูดคุยกับใครก็ตาม ซึ่งเมื่อแทรกความคิดอื่นเข้าไปก็จะหยุดความคิดที่เขาจะฆ่าตัวตายออกไปได้” พญ.พรรณพิมล กล่าว

การใส่ใจคนรอบข้าง พูดคุยสื่อสารกันมากขึ้น และรักษาปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันไว้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นโลกในความเป็นจริง หรือโลกออกไลน์ เพราะเราไม่มีทางทราบได้เลยว่าคนตรงหน้าเผชิญกับความทุกข์ใดอยู่ แต่หากมีการส่งสัญญาณแปลก ๆ ออกมา อย่ามองว่าเขาเรียกร้องความสนใจ แต่ต้องใส่ใจที่จะถามไถ่และช่วยเหลือให้ออกมาจากความทุกข์ให้ได้ เพราะหากช้าไปแม้เพียงก้าวเดียว หนึ่งลมหายใจที่เสียไปจะไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้อีกเลย


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น