xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ-แพทย์ หนุนขึ้นภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเกินมาตรฐาน ชี้เบาหวานพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ-แพทย์ ผนึกกำลังหนุน สปท.ชงรัฐขึ้นภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเกินมาตรฐาน เผยปี 57 คนไทยป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน 4 ใน 10 ป่วยไม่รู้ตัว ขณะที่ 7.7 ล้านคนเข้าคิวจ่อเป็นเบาหวาน ชี้ป้องกันดีสุดเน้นคุมอาหาร-น้ำตาล ควบคู่ออกกำลังกาย ออกกฎคุมโฆษณา-ฉลากอาหาร

วันนี้ (11 พ.ค.) นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นด้วยกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ที่มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เรื่องการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ โดยหวังที่จะกระตุ้นให้คนลดการบริโภคเรื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเกินไป และให้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนสูตรการผลิตให้ใช้น้ำตาลน้อยลง ประสบการณ์จากต่างประเทศชี้ว่ามี 2 กุญแจสำคัญที่จะทำให้การจัดเก็บภาษีนี้บรรลุวัตถุประสงค์ คือ 1. ภาษีนี้ต้องครอบคลุมเครื่องดื่มทุกประเภทที่มีน้ำตาลสูง ไม่ว่าจะเป็น ชาเขียว กาแฟ นม หรือน้ำผลไม้ การจัดเก็บภาษีโดยเว้นเครื่องดื่มบางประเภทจะทำให้ผู้บริโภคหันไปหาเครื่องดื่มชนิดนั้นแทน 2. อัตราภาษีต้องสูงเพียงพอที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ และควรจัดเก็บเป็นขั้นบันได โดยเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากควรถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า ซึ่งภาษีจะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้นที่ช่วยลดการบริโภคน้ำตาล รัฐบาลยังมีอีกหลายเครื่องมือที่สามารถช่วยได้ เช่น การวางกฎระเบียบการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเกินไปสำหรับเด็ก การบังคับใช้รายละเอียดฉลากที่มีข้อมูลชัดเจน และการให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของการกินหวานมากเกินไป

ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หัวหน้าโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย รายงานผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยฯครั้งล่าสุดปี 2557 ว่าความชุกของโรคเบาหวานในประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปในขณะนี้ มีร้อยละ 8.9 หมายความว่าประชาชนไทย กว่า 4.8 ล้านคน เป็นเบาหวาน ในจำนวนนี้ 4 ใน 10 คนไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเบาหวานแล้ว นอกจากนี้ยังพบคนที่เสี่ยงต่อเบาหวาน คือ น้ำตาลในเลือดสูงอีกร้อยละ 15.6 หรือคิดเป็น 7.7 ล้านคน มีโอกาสเสี่ยงเข้าคิวเป็นเบาหวานในอนาคตอันใกล้ โดยผู้ป่วยเป็นเบาหวานนี้น่าเป็นห่วงเพราะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 3.3 ล้านคน ในปี 2552 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคนภายในใน 5 ปี ซึ่งเป็นภาระมหาศาลของประเทศชาติและครอบครัว ในการรักษาโรคเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่ตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย จึงต้องมีการจัดสภาพแวดล้อม เช่นควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย เป็นต้น นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังแนะนำว่าเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยควรบริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 25 กรัม หรือ 6 ช้อนชา และให้ข้อแนะนำว่ามาตรการด้านภาษีและราคา เป็นหนึ่งในนโยบายที่ได้ผลในการลดปัญหาภาวะอ้วน

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัญหาเรื่องโรคเบาหวานและความอ้วนเพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะประชากรเมือง ผลมาจากการบริโภคที่เปลี่ยนไปเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร การบริโภคน้ำตาลจำนวนมาก รวมไปถึงผลไม้หวานและเครื่องดื่มชนิดต่างๆที่มีน้ำตาลผสมอยู่ในปริมาณมาก และขาดการออกกำลังกาย พบว่า เด็กที่มีโรคอ้วนสูงขึ้นมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียพบว่าอัตราการเป็นเบาหวานของประชากรไทยสูงกว่าประเทศอื่น การป้องกันและควบคุมภาวะนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยการให้ความรู้กับประชาชนให้ตระหนักถึงอันตรายของการมีน้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง และการเป็นเบาหวานว่าจะนำไปสู่การเป็นโรคเรื้อรังด้านหัวใจและหลอดเลือดรวมไปถึงภาวะไตวายและตาบอดจากหลอดเลือดเสื่อม การรณรงค์ให้ลดการบริโภคน้ำตาล และผลไม้หวาน การผลักดันให้มีการเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง การส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายเป็นกิจวัตร ชั่งน้ำหนักและวัดเส้นรอบเอวเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

ด้าน นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ขอสนับสนุนเรื่องการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ เพื่อป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านอาหารและโภชนาการ จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันแพทย์ในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องรับภาระดูแลผู้ป่วยเบาหวานและโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ทั้งผู้ป่วยและญาติต้องสูญเสียเงินทองในการรักษายาวนาน เบาหวานเป็นเหมือนประตูที่นำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา ที่สำคัญหากคนไข้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ อาการต่างๆ ก็มีแต่จะทรุดหนักลง การป้องกันจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น