xs
xsm
sm
md
lg

จี้ธุรกิจเลิกค้านเก็บภาษี “เครื่องดื่มใส่น้ำตาล” เกินมาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายผู้ป่วยเบาหวาน - สมาคมโรคเบาหวาน - นักวิชาการ - เยาวชน วอนภาคธุรกิจเห็นแก่สุขภาพคนไทย เลิกค้านเก็บภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเกินมาตรฐาน ยัน WHO แนะ ขึ้นภาษีช่วยลดกินหวาน ลดการเข้าถึงของเด็ก

จากกรณีสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนข้อเสนอการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ ตามมติที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2559 เสนอให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่ม อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ ที่มีปริมาณน้ำตาลเกินมาตรฐานที่กำหนด (มากกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร) โดยจัดเก็บภาษีเป็น 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาล โดยให้ส่งผลต่อการเพิ่มราคาขายปลีก 20 - 25% เพื่อให้ประชาชนบริโภคเครื่องดื่มรสหวานลดลง ลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่เกิดจากภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs: Non-Communicable Diseases) ซึ่งสร้างภาระค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก และเป็นการเพิ่มรายได้ให้ประเทศได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท/ปี

นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เห็นว่า การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ เป็นหนึ่งในหลาย ๆ มาตรการที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีโอกาสเลือกที่จะบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานที่พอดี ไม่เกินความต้องการของร่างกาย เลือกที่จะจ่ายน้อยลงเพื่อเลือกบริโภคสิ่งที่เหมาะสมแก่สุขภาพ ซึ่งควรดำเนินการร่วมกับการมาตรการเสริมที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารที่ประโยชน์ต่อสุขภาพง่ายขึ้น เช่น พืชผักผลไม้ และผลิตผลทางการเกษตรที่หลากหลายจากเกษตรกรไทย หรือแม้กระทั่งการจัดให้มีน้ำดื่มสะอาดเพื่อการบริโภคสำหรับประชาชนในแหล่งชุมชนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ศึกษาพบว่า การเพิ่มภาษีมีส่วนช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลได้ และหลายประเทศก็มีการจัดเก็บเช่นกัน อาทิ เม็กซิโก ฮังการี ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส บางรัฐของสหรัฐอเมริกา และที่กำลังเตรียมดำเนินการ คือ สหราชอาณาจักร องค์การอนามัยโลกยังแนะนำว่าเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยควรบริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 25 กรัม หรือ 6 ช้อนชา และให้ข้อแนะนำว่ามาตรการด้านภาษีและราคา เป็นหนึ่งในนโยบายที่ได้ผลในการลดปัญหาภาวะอ้วน

ผศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาพบว่า สถานการณ์โรคอ้วนของประชากรโลกทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้การสูญเสียปีสุขภาวะจากสาเหตุการมีดัชนีมวลกายสูง เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวใน ช่วงเวลา 20 ปี (2533 - 2553) ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มสถานการณ์ในไทย โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้หญิงไทยที่มีน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากกว่าผู้ชายเกือบเท่าตัว นอกจากนั้นการสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคอ้วน ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะต้องใช้ทรัพยากรดูแลรักษาผู้ที่ป่วยจากโรคอ้วน และสูญเสียกำลังแรงงานจากความเจ็บป่วยหรือการตาย ก่อนวัยอันควร ในปี 2552 พบว่าต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จาก โรคอ้วนทั้งสิ้นอยู่ที่ 12,142 ล้านบาท โดยต้นทุนนี้ แยกได้เป็นต้นทุนทางตรง ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลความเจ็บป่วยที่เกิดจากโรคอ้วน คิดเป็น เงิน 5,584 ล้านบาท ส่วนต้นทุนทางอ้อมนั้น มาจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประกอบกับการขาดงาน เนื่องจากเกิดความเจ็บป่วยจากโรคอ้วน ทำให้ประเทศ ขาดกำลังแรงงาน ซึ่งมีมูลค่าถึง 6,558 ล้านบาท

ด้าน นางสาวมณฑิตา หลินธารา ตัวแทนกลุ่มเยาวชนสานพลังสู่สังคม Power Active Youth กล่าวว่า ปัจจุบันมีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงออกมาหลากหลายยี่ห้อ ราคาไม่แพงหาซื้อง่าย และมีชิงโชค ให้ลุ้นรางวัล เพื่อน ๆ หลายคนชอบซื้อมากิน เพราะหวังจะได้ชิงโชค โดยส่วนใหญ่รู้ไม่เท่าทันว่าโทษของการดื่มเครื่องดื่มรสหวานบ่อย ๆ ส่งผลอะไรต่อร่างกายบ้าง เพราะเห็นแก่ของรางวัลที่มีมูลค่าทางการเงิน แต่ไม่ได้ตระหนักถึงผลทางสุขภาพที่จะตามมาในอนาคต ซึ่งส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีภาวะอ้วนมากขึ้น โดยส่วนตัวคิดว่า ยิ่งดื่มตั้งแต่อายุยังน้อยยิ่งส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะฉะนั้นการใช้กลไกทางภาษีและราคา น่าจะมีส่วนช่วยลดการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนได้

นางศุภะลักษณ์ จตุเทวประสิทธิ์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยเบาหวาน รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานได้รวมตัวกันเป็นชมรม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการดูแลตนเองและช่วยเหลือกัน ยอมรับว่าการเป็นเบาหวานทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลส่วนใหญ่รัฐช่วยรับภาระไปให้แล้ว แต่ก็มีส่วนที่ต้องจ่ายเองอีกจำนวนมาก บางคนต้องตัดนิ้ว ตัดขา ตาบอด ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ไม่เคยได้ข้อมูลว่าอ้วนแล้วเสี่ยงเป็นเบาหวาน บางคนมีความรู้เรื่องกินและออกกำลังกายแต่ก็ปฏิบัติยากเพราะอาหารหวานมีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง โดยเฉพาะเครื่องดื่ม เพื่อนบางคนดื่มเครื่องดื่มมีน้ำตาลจนชิน ยากที่จะหันมาดื่มน้ำเปล่า ทำให้คุมเบาหวานไม่อยู่ จึงเห็นว่าหากขึ้นภาษีน่าจะทำให้คนทั่วไปคิดหน้าคิดหลังมากขึ้น หรือลดปริมาณลง น่าจะเป็นผลดีต่อตัวเองและครอบครัว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น