xs
xsm
sm
md
lg

8 แนวทาง ดูแลจิตใจ ไม่ให้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรคเครียด หรือโรคจิตโรคประสาท รวมทั้งโรคซึมเศร้ากลายเป็นโรคที่รู้จักกันมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน ในสังคมยุคโลกาภิวัฒน์นี้ ดูเหมือนว่าใครที่ไม่รู้สึกเคร่งเครียด ไม่กังวล จะเป็นคนที่โชคดีอย่างยิ่ง การพบ พูดคุยหรือรักษากับจิตแพทย์ กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันมากขึ้นในสังคมไทย การบำรุงรักษาสภาพจิตใจของตนเองให้เข้มแข็งสมบูรณ์อยู่เสมอ การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของมนุษย์จะต้องประสบทั้งความทุกข์และความสุขปะปนกันไป ดังนั้นการมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็งย่อมจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ดียิ่งขึ้น

สุขภาพจิตคืออะไร

สุขภาพจิตใจคือ เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตที่เป็นสุข การส่งเสริมสุขภาพจิตใจ ช่วยให้ปรับตัวในชีวิต ให้เป็นประโยชน์ ทั้งการเรียน การทำงาน สังคม ความคิดและอารมณ์เป็นปกติ ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช ปัญหาทางสุขภาพจิต ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินชีวิตในสังคมให้มีความสุข ปัญหาทางสุขภาพจิตจะแสดงอาการทั้งทางจิตใจ และทางร่างกาย หรือเรียกทางการแพทย์ว่า โรคทางจิตเวช

อาการของปัญหาสุขภาพจิต

1.อาการทางร่างกาย เมื่อจิตใจเกิดความเครียด ประสาทอัตโนมัติภายในร่างกายถูกเร้าให้ทำงานเพิ่มขึ้น อวัยวะภายในซึ่งถูกกำกับโดยประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น ได้แก่ หัวใจ หลอดเลือด ปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ
2.อาการทางอารมณ์ ความเครียดทำให้ทำให้จิตใจเกิดความรู้สึกวิตกกังวล กลัว ตื่นเต้น ไม่สบายใจ บางคนมีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อ หงุดหงิดง่าย ไม่สนุกสนาน ร่างกายไม่สดชื่นร่าเริง อาการซึมเศร้ามักจะเกิดร่วมกันกับการสูญเสียหรือผิดหวังอย่างรุนแรง อาการไม่สบายใจเหล่านี้ อาจทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมา ได้แก่ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เพลีย เหนื่อยง่าย
3.อาการทางจิตใจ มีความคิดการเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ อาจจะคิดไม่ดี คิดที่จะทำร้าย มีความกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ไม่สามารถหยุดความคิดตนเองได้ ความคิดควบคุมไม่ได้ มองตนเองในทางที่ไม่ดี มองคนอื่นและมองโลกในแง่ร้าย ถ้ามีความเครียดและต่อเนื่องมาก จะทำให้สมองมึน งง เบลอ ขาดสมาธิ ความคิดความอ่านและความจำลดลง การตัดสินใจช้า ไม่แน่นอน ไม่มั่นใจตนเอง
4.พฤติกรรม อาจจะแสดงออกเป็นการหลบเลี่ยง หวาดกลัว ขาดความรับผิดชอบและไม่กล้าแสดงออก

เทคนิคการผ่อนคลายตนเองและวิธีดูแลรักษาสุขภาพจิต

1. รู้จักและทำความเข้าใจตัวเองให้ดีที่สุด ศึกษาจุดเด่น ความสามารถพิเศษในตัวเอง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องทางกฎหมายและศีลธรรม ยอมรับจุดด้อยของตนเอง ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ใช้ความสามารถของตัวเองให้เกิดประโยชน์แก่สังคม กล้าเผชิญปัญหาด้วยความสุขุม

2. ฝึกทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส มองโลกในแง่ดี ฝึกเป็นคนสุขุมรอบคอบ ไม่ใจร้อน โกรธง่าย มีอารมณ์ขันไม่เอาจริงเอาจังกับทุกอย่างจนเกินไป แต่ไม่ควรหมกมุ่นกับเรื่องไร้สาระ พยายามฝึกทำอารมณ์ให้สงบ ไม่หวั่นไหวง่าย

3. ฝึกรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและรับฟังเหตุผลมากกว่าอารมณ์ พิจารณาถึงปัญหาต่างๆ ด้วยเหตุผล และข้อมูลหลายๆ ด้าน ไม่ควรโทษตัวเองหรือผู้อื่นด้วยอารมณ์

4. ปรับปรุงตนเองให้เข้ากับคนอื่นได้ ทำตนให้เป็นที่รักของคนทั่วไป โอบอ้อมอารี จริงใจต่อผู้อื่น ยินดีช่วยเหลือ มีน้ำใจต่อผู้อื่น ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ผู้อื่น และสังคม ลดความเห็นแก่ตัว

5. บำรุงรักษาสุขภาพทั้งกายและจิตใจให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่สม่ำเสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำงานให้พอเหมาะ พักผ่อนให้เพียงพอ

6. หาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดถือคำสอนในศาสนาที่ตนนับถือ เพราะคำสอน ในศาสนาจะเป็นเครื่องเหนี่ยวจิตใจให้สงบ เยือกเย็น มีสติปัญญา ไม่หลง โกรธ มัวเมาในในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ สุขภาพจิตก็จะดีอยู่เสมอ

7. เมื่อมีปัญหาหรือมีความเครียดทางจิตใจ ควรหาโอกาสผ่อนคลาย ด้วยการทำงานอดิเรก ออกกำลังกายจะทำให้มีจิตใจที่สบายขึ้น

8. ฝึกบริหารจิตใจ ฝึกทำสมาธิ ทำจิตใจให้ว่าง เป็นการทำให้จิตใจเข้มแข็ง สามารถเข้าใจตนเองและปรับปรุงตนเองได้เสมอ เมื่อมีปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ จะสามารถพิจารณาได้อย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช้เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง

ดังนั้น การเรียนรู้การเตรียมตัวและฝึกฝนให้เผชิญกับชีวิต สามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็ก ควรส่งเสริมในการพัฒนาการทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม จะเกิดการพัฒนาเป็นบุคลิกภาพที่ดีและมีสุขภาพจิตที่ดีไปด้วย เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และมีความสุขในการดำเนินชีวิตต่อไป
ข่าวโดย : สุนิสา ศรีสุข

กำลังโหลดความคิดเห็น