แพทย์เตือนผู้ติดสุราขั้นรุนแรงควรรีบพบแพทย์ ระวังหักดิบกะทันหันร่างกายปรับสภาพไม่ทัน ยันหยุดดื่ม 3 เดือนเข้าพรรษาส่งผลดีต่อสุขภาพแน่นอน
วันนี้ (24 ก.ค.) พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้จัดการแผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.) และนักจิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีข่าวชายวัย 60 ปี ชาวจังหวัดนครราชสีมา ตัดสินใจหักดิบเพื่อเลิกเหล้าเข้าพรรษาจนเกิดอาการช็อกเสียชีวิตว่า จากข่าวที่ปรากฏการเสียชีวิตยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามาจากสาเหตุการหยุดดื่มสุรา แต่อาจเกิดจากโรคแทรกซ้อนทางกายและปัญหาสุขภาพอื่นๆ บวกกับสภาพแวดล้อมการดูแลตัวเองด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราในไทย 1.8 ล้านราย ในจำนวนนี้หากต้องการหยุดดื่มสามารถทำได้โดยไม่มีผลกระทบอะไร ขณะที่จำนวนผู้ติดสุรามีกว่า 9 แสนราย และต่ำกว่า 50% หากหยุดดื่มถึงจะมีอาการขาดสุราและในจำนวนนี้มีเพียง 2% เท่านั้นที่จะมีอาการขาดสุราในขั้นรุนแรง เช่น คนที่ดื่ม 10 แก้วต่อวัน ดื่มสุราขาวครึ่งขวดต่อวัน หรือดื่มได้ต่อเนื่องไม่รู้สึกมึนเมา
“อาการของผู้ที่ติดสุรา หากเข้ารับการบำบัด ช่วง 3-5 วันแรกอาการจะหนัก แต่เมื่อได้รับยาเพื่อทดแทนการขาดสุรา ยาคลายเครียด และวิตามินบี ซึ่งแพทย์จะลดปริมาณลงเรื่อยๆ ประมาณ 6-7 วันจะดีขึ้น ส่วนผู้ที่ดื่มสุราที่มีอาการลงแดงที่รุนแรง จะเกิดขึ้นภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากหยุดหรือลดปริมาณการดื่ม ถือเป็นอาการฉุกเฉินที่ต้องไปพบแพทย์ทันที เพราะร่างกายปรับสภาพไม่ทัน มีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต อาการที่พบคือ จะหูแว่ว หลงผิด เกิดอาการชัก สับสนเพ้อคลั่ง สูญเสียความทรงจำระยะสั้น ประสาทหลอนคิดว่าจะมีใครมาทำร้าย อาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองและคนอื่นได้ ซึ่งแพทย์ควรตรวจหาโรคที่เกิดจากสุรา เช่น โรคตับ และโรคหัวใจ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการหยุดดื่มสุราทั้งช่วงเข้าพรรษา หรืองดดื่มทุกเทศกาลเป็นผลดีต่อสุขภาพ และการพบแพทย์เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด ซึ่งช่วงเข้าพรรษาทุกๆ ปีจะมีคนเริ่มเข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น จึงขอให้ผู้ที่จะงดดื่มเอาชนะใจตัวเอง ครอบครัวควรส่งเสริมให้กำลังใจเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาจากการดื่มสุราสามารถปรึกษาสายด่วน กรมสุขภาพจิต 1413 หรือโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ” พญ.พันธุ์นภากล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่