ผู้หญิงเสี่ยงเครียดง่าย รับภาระงานนอกบ้านในบ้าน แบกรับดูแลคนรอบข้าง ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง มีประจำเดือน วัยทอง ส่งผลด้วย แนะหาวิธีผ่อนคลายความเครียด ปรึกษาผู้อื่น นั่งสมาธิ เข้าสปา พบปะเพื่อนฝูง ช่วยได้ มีความยืดหยุ่น
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มี.ค. ของทุกปี ว่า ผู้หญิงได้รับการส่งเสริมบทบาทในสังคมมากขึ้น ในหลายประเทศให้ความสำคัญ และยอมรับผู้หญิงให้ดำเนินกิจกรรมทางสังคม มีโอกาสได้แสดงความสามารถ และความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของสตรี แต่จากสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านและทำงานหนักขึ้น เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว จึงมีความเสี่ยงต่อการมี “ความเครียดหรือมีปัญหาสุขภาพจิต” ได้ง่าย ยิ่งมีความเครียดเรื้อรังยิ่งกดดันจิตใจ และเสี่ยงเกิดโรคทางร่างกายตามมา รวมถึงกระทบปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว พ่อแม่พี่น้อง สามี และลูก จึงควรหาวิธีผ่อนคลายที่ตนเองใช้แล้วได้ผล หยุดคิดในเรื่องที่เป็นปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้สักพัก อย่าเก็บกดปัญหาไว้ตามลำพัง ปรึกษาผู้ใหญ่ สามี ญาติสนิท มิตรที่ไว้ใจได้ หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากรู้สึกเหนื่อยล้าก็อาจชักชวนสมาชิกในบ้านให้ช่วยเหลือกันและกันทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ ไม่โดดเดี่ยวและเป็นการกระชับสายสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเครียดได้ง่ายอยู่แล้ว เพราะโดยธรรมชาติผู้หญิงมีแนวโน้มคิดเล็กคิดน้อยอยู่ตลอดเวลา มีความกังวลและอารมณ์เศร้ามากกว่าผู้ชาย อีกทั้งถูกเลี้ยงดูให้ทำหน้าที่ดูแลคนรอบข้าง ทำงานทั้งนอกบ้านและในบ้าน มักไม่ค่อยให้เวลาดูแลอารมณ์ตนเองเท่ากับเวลาที่ใช้ในการดูแลคนอื่น ตลอดจนมีช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่มีผลต่อภาวะอารมณ์ เช่น ในช่วงรอบเดือน หรือตั้งครรภ์หลังคลอด ไปจนถึงวัยทอง ผู้หญิงจึงควรหาวิธีการผ่อนคลายความเครียดลงบ้าง อย่าแบกรับทุกอย่างไว้คนเดียว ซึ่งวิธีคลายเครียดมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น ให้เวลาตนเองได้พักผ่อน ออกกำลังกาย เข้าสปา เข้าร้านเสริมสวย ทำอาหารหรือขนม ดูหนังฟังเพลง พบปะเพื่อนฝูง ฝึกสติ หรือ นั่งสมาธิบ้าง เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มพลังในการดำเนินชีวิตและลดความเครียดลง
“นอกจากนี้ อาจหาใครสักคนคุยด้วยที่รู้สึกว่าพร้อมจะรับฟังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายลง เช่น พูดคุยกับเพื่อน หรือสามี ซึ่งการมีบรรยากาศที่สามารถพูดคุยกันได้ในบ้านจะช่วยให้ผู้หญิงลดความเครียดลงได้มาก รวมทั้งเมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ก็อย่าโทษตัวเอง ผู้หญิงไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ เราไม่สามารถดูแลคนอื่นได้ตลอดเวลา ต้องยอมรับและให้พื้นที่กับตัวเองและคนที่เราดูแลบ้าง อย่าคิดหรือทำแทนเขาทุกเรื่อง ที่สำคัญ ต้องฝึกเป็นนักแก้ปัญหา หัดวางแผน จัดลำดับก่อนหลัง ไม่เอาปัญหามาคิดหมกมุ่นจนหมดพลังและกำลังใจ อะไรปล่อยได้ก็ปล่อยทิ้งไปบ้าง ยืดหยุ่นให้เป็น ทั้งกับตัวเองและคนอื่น ยิ้มและหัวเราะ เปิดรับเรื่องราวดี ๆ ให้เข้ามาในชีวิตบ้าง ทั้งนี้ ก็เพื่อความสุขและการมีชีวิตที่สมดุล” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่