ผู้ป่วยจิตเวชล้นสถาบันกัลยาณ์ฯ เผย มีผู้ป่วยใน 3,600 รายต่อปี แต่มีเตียงเพียง 185 เตียง เร่งระดมทุนปรับปรุงตึก “นิติรักษ์” ใหม่ รองรับจำนวนผู้ป่วย
วันนี้ (1 ก.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดงานครบรอบ 45 ปี สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ว่า ก้าวต่อไปของสถาบันกัลยาณ์ฯ จะมุ่งพัฒนาให้เป็นต้นแบบของงานนิติสุขภาพจิตอย่างครบวงจร เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ต้องขังประมาณ 320,308 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และพบว่าผู้ต้องขังร้อยละ 36.2 มีปัญหาสุขภาพจิตรวมถึงโรคทางจิต จำแนกเป็นโรคจากสารเสพติด ร้อยละ 21.9 บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคมร้อยละ 19.1 โรคไบโพลาร์ ร้อยละ 9.1 โรคซึมเศร้าร้อยละ 8.4 โรควิตกกังวลร้อยละ 7.8 โรคจิตร้อยละ 7.7 และเสี่ยงต่อฆ่าตัวตายร้อยละ 7.2 ในรายที่มีโรคทางจิตรุนแรงจะมีมากกว่าประชากรทั่วไปถึง 3 เท่า แต่การเข้าถึงบริการสุขภาพจิตยังเป็นปัญหามาก ทั้งทรัพยากรนักวิชาชีพด้านสุขภาพจิตที่ไม่เพียงพอ ขาดงบประมาณและความรู้ในการจัดการ ทำให้ผู้ต้องขังที่มีความเจ็บป่วยทางจิตอาจก่อคดีซ้ำ ทำให้ครอบครัว และสังคมไม่ปลอดภัย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า ตึกนิติรักษ์เป็นหอผู้ป่วยแรกของโรงพยาบาลนิติจิตเวชที่ใช้ดำเนินงานเพื่อควบคุมดูแลผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขัง รวมถึงผู้ป่วยทางจิตสามัญทั่วไปจำนวนมาก ปัจจุบันสภาพโครงสร้างของอาคารมีความทรุดโทรม ไม่พร้อมใช้งาน อีกทั้งมีข้อจำกัดด้านงบประมาณจึงก่อความยากลำบากต่อบุคลากรในการดาเนินกิจกรรมฟื้นฟูต่าง ๆ ให้แก่ผู้ป่วย สถาบันฯ จึงได้จัด “โครงการปันน้ำใจ ให้โอกาส” เพื่อระดมทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธา โดยเผยแพร่ความรู้ด้านนิติสุขภาพจิต เพื่อให้สังคมได้ทราบถึงภารกิจสาคัญของสถาบันฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย ครอบครัวปลอดภัย และสังคมปลอดภัย
“ปัจจุบัน สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เปิดบริการสาหรับผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป ผู้ป่วยนิติจิตเวช ผู้ป่วยสารเสพติด ครอบคลุมทุกช่วงอายุทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยสูงถึง 41,000 รายต่อปี และผู้ป่วยในเฉลี่ย 3,600 รายต่อปี ทำให้สถาบันฯ ประสบปัญหาจำนวนเตียงผู้ป่วยในไม่เพียงพอ เนื่องจากสถาบันฯ สามารถให้บริการผู้ป่วยในได้เพียง 185 เตียงเท่านั้น ในขณะที่ความต้องการของประชากรใน 8 จังหวัด ที่รับผิดชอบอยู่ที่ 600 เตียง แม้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในเครือข่ายได้ดำเนินงานตามนโยบายรับผู้ป่วยจิตเวชวิกฤตภายใน 48 ชั่วโมงก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งตึกนิติรักษ์เมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้ป่วยในที่ส่งต่อมาจากเครือข่ายได้เพิ่มขึ้น” ผอ.สถาบันกัลยาณ์ฯ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังให้บริการคลินิกพิเศษต่าง ๆ ได้แก่ คลินิกนิติจิตเวช คลินิกสารเสพติด คลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คลินิกจิตเวชผู้สูงอายุ คลินิกบุตรบุญธรรม รวมทั้งมีการให้บริการเชิงรุกด้านจิตเวชชุมชนในเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งครอบคลุม 8 จังหวัดในภาคกลางตอนล่าง และ 7 เขตทางตะวันตกของกรุงเทพฯ รวมทั้งการดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศ เช่น โครงการวิกฤติสุขภาพจิต(Crisis Mental Health) และงานนิติสุขภาพจิต (Forensic Mental Health) ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพจิตผู้ต้องขังจิตเวชในเรือนจำ เป็นต้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่