xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยซึมเศร้าจนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น แนะวิธีสังเกต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทยพบปัญหาซึมเศร้าจนฆ่าตัวตายมากขึ้น หลังควบคุมได้ดีมาตลอดตั้งแต่ “ต้มยำกุ้ง - เอดส์ระบาด” ชี้ อารมณ์ไม่ดีสะสม ทำสื่อประสาทผิดปกตินำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ แนะวิธีสังเกตเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

วันนี้ (6 ก.ย.) ในงานแถลงข่าวเรื่อง “โรคซึมเศร้ากับการฆ่าตัวตาย ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย” พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศรีธัญญา ในฐานะนายกสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวว่า ประเทศไทยเคยมีวิกฤตปัญหาคนฆ่าตัวตายช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งและช่วงที่มีโรคเอดส์ระบาดใหม่ ๆ มีประชาชนฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก ไทยจึงพยายามควบคุมปัญหาการฆ่าตัวตาย และถือว่าควบคุมได้ดีมาตลอด อย่างไรก็ตาม พบว่า ช่วงนี้เกิดปัญหาคนมีภาวะซึมเศร้าจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น โดยในเอเชีย ไทยมีสถิติรองลงมาจากเกาหลี และ ญี่ปุ่น ซึ่งภาคเหนือเป็นภาคที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงสุด เนื่องจากอุปนิสัยของคนภาคเหนือ คือ นุ่มนวล พูดน้อย เมื่อเครียดจึงไม่ได้ระบายออกเท่าที่ควร ส่วนภาคกลาง ภาคอีสาน มีสถิติการฆ่าตัวตายอยู่ในระดับปานกลาง ปัญหาที่ทำให้คนภาคนี้ฆ่าตัวตาย คือ เรื่องภาวะเศรษฐกิจ และสังคม ส่วนภาคใต้มีสถิติการฆ่าตัวตายน้อยที่สุด

พญ.สมรัก กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นเหตุที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายสูงสุด โดยคนมักคิดว่าเกิดจากภาวะเคมีในสมองผิดปกติ หรือทางการแพทย์ เรียกว่า สื่อประสาทผิดปกติ แต่ที่จริงแล้วมีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดสื่อประสาทผิดปกติ เช่น ภาวะการสะสมทางอารมณ์ที่ไม่ดี สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ การถูกกระทำให้ผิดหวังรุนแรง เมื่อสะสมเป็นเวลานาน สารเคมีในสมองจึงหลั่งผิดปกติได้ ดังนั้น ภาวะซึมเศร้าจึงรักษาได้ด้วยการกินยาต้านเศร้า ซึ่งแพทย์จะประเมินคนไข้แต่ละรายว่าควรกินมากน้อยแค่ไหน บางรายอาจจะกินยา 6 เดือน บางรายอาจจะต้องกินติดต่อกัน 10 ปี ก็ถือว่าไม่เป็นอันตราย และสามารถหายได้แน่นอน ส่วนการป้องกันโรคซึมเศร้าทำได้ตั้งแต่แรกเกิด คือ เลี้ยงดูลูกให้ดี ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีความหมาย สอนทักษะการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต สอนให้รู้จักพยายามอดทนแก้ปัญหา  นอกจากนี้ หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ให้ลองสังเกตว่า ทางจิตใจเรารู้สึกเบื่อหน่าย เศร้า จิตใจหดหู่ ทางร่างกายมีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ เหนื่อยง่ายหรือไม่ หากเป็นติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ให้สงสัยได้เลยว่ากำลังจะเป็นโรคซึมเศร้าให้เข้าพบแพทย์ได้ทันที

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดูแลคนเป็นโรคซึมเศร้าไม่ให้ฆ่าตัวตายได้อย่างไร พญ.สมรัก กล่าวว่า หากสงสัยว่าคนใกล้ชิดอาจเป็นโรคซึมเศร้า ให้พยายามพูดคุยถามถึงปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ หากพบว่าเป็นปัญหาที่ดูจะหนักเกินไปสำหรับเขา อาจลองถามเขาว่าเคยคิดไปถึงขั้นจะฆ่าตัวตายหรือไม่ เพราะจะเป็นความคิดชั่ววูบของคนที่แก้ปัญหาไม่ตก อย่ากลัวว่าจะเป็นการถามชี้โพรงให้เขา เพียงแต่ต้องถามอย่างระวัง ถามอย่างถูกช่วงเวลา ถ้าเขาบอกว่าเคยคิดฆ่าตัวตายก็อาจจะพาเขาไปปรึกษาแพทย์ หรือพยายามหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้เขา ให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีค่า หรือสำคัญกับใครสักคน และถ้ายังไม่อยากพบแพทย์ก็สามารถพาเข้ามาพูดคุยกับชมรมส่องแสง สมาคมสายใยครอบครัวได้ เพราะบุคคลในชมรมเป็นผู้ที่เคยผ่านการเผชิญปัญหาต่าง ๆ มาก่อนแล้ว เมื่อได้พูดคุยกับคนที่เคยผ่านปัญหาต่าง ๆ ถึงขั้นเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนแล้วก็จะรู้สึกว่ามีคนเข้าใจมากขึ้น และคนในชมรมสามารถแนะแนวทางการแก้ปัญหาให้เขาได้ด้วย

“สาเหตุที่จัดตั้งชมรมดังกล่าวก็เพื่อช่วยหลือคนที่ประสบปัญหาเรื่องภาวะซึมเศร้า หรือพยายามฆ่าตัวตายโดยเฉพาะ เนื่องจากมีประชาชนเป็นโรคดังกล่าวอยู่เยอะ แต่ขณะนี้ในไทยมีปริมาณ จิตแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 250,000 คน ถือว่าน้อยมาก ขาดแคลน จากที่ทางกระทรวงสาธารณสุขตั้งใจให้มีจิตแพทย์ 1 คนต่อ ประชากร 100,000 คน ดังนั้น จึงต้องพยายามหาทางช่วยเหลือผู้ป่วยกันเองก่อน” พญ.สมรัก กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น