รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ” วันเสาร์ที่ 10 และ 17 มีนาคม พาคุณผู้ชมไปพบกับชีวิตของ “โรสแมรี่” อดีตนักร้องดัง และ “ดีเจเคนโด้” พิธีกรหลายรายการ ที่เคยประสบความสำเร็จกับอาชีพที่ทำ แต่ขณะเดียวกันก็พบกับวิกฤตของชีวิตที่ถูกคุกคามด้วยโรคในกลุ่มจิตเวช อย่างโรคซึมเศร้า และโรคไบโพลาร์ เขาและเธอเจอวิกฤตนั้นได้อย่างไร และผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร
โรคซึมเศร้าและโรคไบโพลาร์ (โรคอารมณ์สองขั้ว) ถือเป็นโรคในกลุ่มจิตเวช ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์ หลายครั้งที่มีข่าวคนฆ่าตัวตาย และทราบในภายหลังว่า สาเหตุของการฆ่าตัวตายมาจากการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าและไบโพลาร์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหน
“ตัวเลขคนป่วยโรคซึมเศร้าในไทย น่าจะประมาณ 3-5 ล้านคน แต่ถ้าตัวเลขคนที่เปิดเผยว่าเป็น และมาหาหมอ ประมาณ 3 แสนคน 1 ใน 10 ได้ โรคซึมเศร้าเกิดจากปัจจัยทั้งภายนอกภายใน ภายใน สารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ปัจจัยภายนอก ตัวเร้า เหตุการณ์ที่กดดันทำให้ตึงเครียด เมื่อเกิดทั้งภายนอกภายใน ก็ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมา เกิดได้กับทุกคน ทุกอาชีพ ยากดีมีจนเป็นได้หมด คนที่เป็นหมอก็มีเป็น ป่วยฆ่าตัวตายเพราะซึมเศร้าก็เยอะแยะ” นพ.วิทวัส ศิริประชัย แอดมินเพจ Drama-addict ให้ข้อมูลตัวเลขผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในไทย
แม้แต่คนในแวดวงบันเทิงก็ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์หลายราย “โรสแมรี่ คาฮันดิง” อดีตนักร้องดัง เจ้าของเพลงฮิต “ให้ทำอย่างไร” และ “เคนโด้” เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร นักจัดรายการวิทยุและพิธีกรหลายรายการ เจ้าของฉายา “ดีเจเทวดา” คือผู้ที่กล้าออกมาเปิดตัวกับสังคมว่า ป่วยด้วยโรคในกลุ่มจิตเวช โดยโรสแมรี่ ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ขณะที่ดีเจเคนโด้ป่วยด้วยโรคไบโพลาร์
รู้ได้อย่างไรว่าป่วยโรคซึมเศร้า-ไบโพลาร์?
หลังคลื่นลูกใหม่เข้ามาแทนที่ โรสแมรี่ได้หันไปร้องเพลงกลางคืน กระทั่งมีแฟนเป็นนักดนตรี แต่เมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมา แฟนบอกไม่พร้อม แม้โรสจะเข้าใจ และไม่ได้โทษว่าเป็นความผิดของฝ่ายชาย แต่นั่นก็ทำให้เธอทิ้ง กทม.ไปใช้ชีวิตอยู่ที่อรัญประเทศ หลังทำงานและเลี้ยงลูกอยู่ที่นั่น 3 ปี จึงกลับมาอยู่ กทม.อีกครั้ง ก่อนทำขนมเครปขาย
“หลังจากนั้น พ่อป่วย น่าจะตรอมใจ น่าจะเป็นโรคซึมเศร้าด้วย เขาเหนื่อย เบื่อ ตรอมใจ ไม่อยากอยู่ หมอบอกหัวใจตีบ เหมือนปอดอักเสบ ไม่ได้เช็คมะเร็ง ผอมเหลือแต่กระดูก สุดท้ายก็เสีย (เรารู้สึกว่า เราเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่เมื่อไหร่?) นานมากแล้ว ตั้งแต่ร้องเพลงกลางคืน (อะไรทำให้คิดว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า) ไม่อยากอยู่ โลกไม่น่าอยู่ อยากตาย แต่ไม่กล้าตาย สำหรับโรส ฆ่าตัวตายยากมาก แต่การใช้ชีวิตอยู่ ยากกว่า หายใจก็ยังลำบากเลย มันน่ากลัว ทรมาน” โรสแมรี่ ยอมรับว่าทรมานจากโรคซึมเศร้า
“ตอนแรกไม่รู้จักโรคพวกนี้ รู้แต่ว่าช่วงหนึ่งเรา alert มาก ช่วงจัดรายการลูกทุ่งก็น่าตกใจพอสมควร ผมยาว หลายสี ใส่โจงกระเบน ใส่เสื้อลายๆ เอาหลอดไฟมาห้อยหู มีบุคลิกเปลี่ยนไปจากตอนจัดสตริงมาก คนจำไม่ได้ว่าคนเดียวกันรึเปล่า แต่เราก็ไม่แน่ใจว่านี่มันคือตัวโรค หรือเป็นบุคลิกที่เราอยากจะทำ แต่เราก็สนุกและสุขกับมัน มีพลังมาก คิดอะไรรวดเร็วตลอดเวลา แต่เราไม่รู้นั่นคือโรค แล้วมันจะมีช่วงหนึ่งที่เราไม่อยากทำอะไร ถ้าย้อนกลับไปดู ระยะที่ alert เรียกว่า ระยะแมเนีย ชีวิตมันสนุก นอนน้อยก็ได้ ชีวิตบวกตลอดเวลา แต่พอถึงระยะดีเพรส มันเศร้าไปเลย ...บางคนไม่รู้ ปล่อยให้ดีเพรสนานๆ มันจะพัฒนาไปสู่การทำร้ายตัวเอง (เคยลงมือทำร้ายตัวเองมั้ย?) เคยลงมืออยู่บ้าง เอาถ้วยฟาดโต๊ะ และอยากเฉือนเนื้อตัวเอง ก็มี” ดีเจเคนโด้พูดถึงอาการของโรคไบโพลาร์ที่รุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเอง
“เขาจะเป็นคนที่ชอบหุ่นดี ชอบลดน้ำหนัก เคนโด้ทานข้าว นึกได้ว่าตัวเองจะอ้วน ไปล้วงคอ อาเจียน นี่เป็นอาการหนึ่งนะ ป่วยแล้ว” สุชาติ พจนสุนทร คุณพ่อดีเจเคนโด้เล่าความผิดปกติของลูกชาย
ดีเจเคนโด้ไม่ใช่คนเดียวในบ้านที่ป่วยด้วยโรคไบโพลาร์ แต่น้องสาวของเขา “ตุ๊กตา” ลลดา พจนสุนทร ป่วยก่อนแล้วด้วยโรคเดียวกัน
“ปกติเป็นคนเรียบร้อย ไม่ค่อยพูด แต่ตอนนั้นมั่นใจมาก กล้าแสดงออก กล้าคิดกล้าทำ การแต่งตัวก็คล้ายพี่เคนโด้ ออกทางการแต่งตัว ชอบลดน้ำหนัก ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องของการผิดปกติ ..ตอนนั้นก็ผอมอยู่แล้ว แต่คิดว่ายังอ้วนอยู่ ต้องลดลงไปอีก ทุกอย่างไม่มีความพอดี พูดเร็วขึ้น ไม่ค่อยหลับค่อยนอน โปรเจกต์เยอะ” ตุ๊กตา เล่าถึงบุคลิกและพฤติกรรมของตัวเองที่ผิดปกติไป เพราะโรคไบโพลาร์
สาเหตุของการป่วยโรคจิตเวช เกี่ยวกับกรรมพันธุ์หรือไม่?
“พันธุกรรมส่วนหนึ่ง พื้นอารมณ์ ถ้าคนเศร้า มีโอกาสป่วยมากกว่าคนพื้นอารมณ์ร่าเริง ถ้ามียีนตัวนั้นอยู่ แต่ถ้าไม่ถูกทำให้สำแดงอาการออกมา ก็ไม่ปรากฏอาการ แต่พอมีความเครียด สมองถูกทำลาย หรือกระทบกระเทือน ก็กระตุ้นอาการได้เหมือนกัน ...ถ้าสูญเสียอะไรบางอย่าง และเกิดความทุกข์ทางอารมณ์อย่างรุนแรง ก็จะเสียการควบคุม ควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็จะป่วยทางจิตเวช” เครือวัลย์ เที่ยงธรรม ผอ.ศูนย์บริการคนพิการทางจิตสายใยครอบครัว เผยถึงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคจิตเวช
แม้ทุกคนจะมีโอกาสป่วยด้วยโรคจิตเวชได้ดังที่โรสแมรี่ และดีเจเคนโด้กับน้องสาวเป็น แต่ไม่ใช่ว่า เป็นแล้ว ชีวิตจะต้องสิ้นหวัง หรือมืดมน หรือจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะหากได้รับการบำบัดรักษาโดยจิตแพทย์ ประกอบกับคนรอบข้างเข้าใจ ยอมรับ และให้กำลังใจ ผู้ป่วยก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้และมีชีวิตที่ปกติสุขในสังคมได้เหมือนเดิม ดังเช่นที่โรสแมรี่ ดีเจเคนโด้และตุ๊กตา น้องสาว เป็นอยู่ในขณะนี้
“สิ่งสำคัญคือการเข้ารับการรักษา ถ้าเกิดรู้ตัวว่าเป็น เข้าใจว่าตอนแรกทุกคนยอมรับยากว่าเราป่วยเป็นโรคนี้ แต่ถ้ายอมรับได้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะมีความสุขได้เร็วขึ้น ยอมรับเสร็จแล้ว ก็เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง หาคุณหมอและกินยา เข้ารับการทำจิตบำบัด ช่วยให้อาการดีขึ้น ทุกอย่างที่ตุ๊กดีขึ้นได้ เพราะเชื่อหมอและทานยาให้เป็นเวลา ทำกิจกรรมทุกอย่าง ทำกิจวัตรประจำวันให้ดีในทุกๆ วัน” ลลดา พจนสุนทร น้องสาวเคนโด้ย้ำความสำคัญของการรักษา
หากท่านใดต้องการปรึกษาเรื่องโรคจิตเวช สามารถโทรไปได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือที่สมาคมสายใยครอบครัว โรงพยาบาลศรีธัญญา 02-589-7821 หรือ 086-300-6074
ติดตามรับชมรายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ” ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1