กรมสุขภาพจิต เผย 8 สัญญาณบอกอาการโรคดื้อต่อต้าน ไม่ฟังพ่อแม่ เมินกฎระเบียบ คาดมีประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ ชี้ ครอบครัวยังเชื่อผิดๆ คิดว่าเด็กดื้อเฉพาะกับพ่อแม่ ส่งดัดนิสัยได้ผลน้อย ขอพาไปพบจิตแพทย์เด็ก ระบุปล่อยไว้โตขึ้นเสี่ยงเป็นเด็กเกเรก้าวร้าว
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ว่า โรคสมาธิสั้น และ โรคออทิสติก มีอัตราการเข้ารักษาที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด แต่โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้านยังเข้ารับบริการน้อย โดยเด็กจะมีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม มีนิสัยดื้อต่อต้านไม่ฟังพ่อแม่ ไม่ทำตามกฎระเบียบ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่ายในระดับที่มากเกินกว่าเด็กทั่วไป สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเป็นประจำ
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กอายุ 13 - 17 ปี ในปี 2559 พบเด็กป่วยเป็นโรคดื้อต่อต้านร้อยละ 2 หรือมีประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ ในเด็กชายพบร้อยละ 2.3 เด็กหญิงร้อยละ 1.7 โรคนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งตัวเด็กเองที่มีพื้นฐานเป็นเด็กอารมณ์ร้อน และสภาพแวดล้อม เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี ใช้ความรุนแรง การตั้งกฎระเบียบที่ไม่สม่ำเสมอของพ่อแม่ที่น่าเป็นห่วงพบว่ายังมีพ่อแม่มีความเชื่อผิดๆ คิดว่าเด็กดื้อตามปกติ จึงไม่ได้พาไปรักษา แต่ให้การดูแลตามความเชื่อ คือ 1. ปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กน่าจะดีขึ้นเอง 2. ไม่ขัดใจลูก เพราะกลัวลูกจะเครียด กลัวลูกออกจากบ้าน 3. ลงโทษรุนแรงเพื่อดัดนิสัย 4. ส่งไปอยู่กับญาติ หรือส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ เพื่อดัดนิสัย ความเชื่อทั้งหมดนี้ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้น แต่ล้วนทำให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านแย่ลงไปอีก ขอให้รีบพาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อตรวจประเมิน หรือโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากผลวิเคราะห์เด็กที่เข้ารับบริการ พบว่า เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม เช่น โรคดื้อ เข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ 2 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่มีเฉลี่ยวันละ 30 - 40 คน สำหรับพฤติกรรมดื้อตามวัยนั้นพบได้ในเด็กปกติช่วงอายุ 2 - 3 ปี เมื่ออายุมากขึ้นอาการดื้อจะหายไป แต่ในโรคดื้อนี้จะมีการแสดงออกรุนแรงมากขึ้นอารมณ์ไม่ดีต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ลักษณะอาการเด่นๆ ของเด็กที่เป็นโรคดื้อมี 8 อาการได้แก่ 1. แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา 2. เถียงหรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ 3. ท้าทายและฝ่าฝืนคำสั่งและกฎเกณฑ์บ่อยๆ 4. ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ 5. โทษหรือโยนความผิดให้คนอื่นบ่อยๆ 6. หงุดหงิดและอารมณ์เสียง่าย 7. โกรธและไม่พอใจบ่อยๆ 8. เจ้าคิดเจ้าแค้นอาฆาตพยาบาท
พญ.กุสุมาวดี กล่าวว่า หากผู้ปกครองพบว่าลูกมีอาการที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อบำบัดพฤติกรรม ซึ่งต้องใช้ร่วมกันหลายวิธี ได้แก่ การทำจิตบำบัด ฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง ฝึกให้มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัวหรือที่เรียกว่าครอบครัวบำบัด เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มการสื่อสารที่เหมาะสมในครอบครัว ฝึกพ่อแม่ให้ปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสมถูกต้อง รวมทั้งร่วมมือกับครูที่โรงเรียนในการดูแลและช่วยปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ดีระหว่างที่เด็กอยู่ในโรงเรียนด้วย
“การลงโทษที่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน คือ การลงโทษด้วยการทุบตีอย่างรุนแรงหรือด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รุนแรง เนื่องจากเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวให้เด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา เมื่อโตขึ้นเด็กจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงมากขึ้น ก้าวร้าว เกเร เสี่ยงต่อการเสพและติดสารเสพติดได้ง่าย” พญ.กุสุมาวดี กล่าว
พญ.กุสุมาวดี กล่าวว่า ผลของการรักษา ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเด็กและการดูแลของผู้ปกครองและครูร่วมกัน โดยพบว่าเด็กประมาณ 1ใน 4 ที่ได้รับการรักษาแล้วจะหายขาด ที่เหลืออีก 3 ใน 4 หากครอบครัวมีความเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว จะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมในด้านดีมากขึ้น สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนเด็กทั่วไป อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา พบว่า เด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน มักจะมีปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า ยาที่ใช้รักษาโรคนั้นๆ ก็จะช่วยให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านดีขึ้น