xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง!! “ตาจะบอด” เพราะเล่นมือถือนานๆ นั้นจริงไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปัจจุบันเป็นยุคไอทีที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในชีวิตประจำวันของทุกคนมีการใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ไม่มากก็น้อย ทำให้ทุกคนเริ่มตื่นตัวกับปัญหาที่จะตามมาของการใช้อุปกรณ์ประเภทนี้เป็นเวลานานๆ และมีกลุ่มโรคใหม่ที่พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือโรคคอมพิวเตอร์ วิชั่น ซินโดรม (Computer Vision Syndrome)

โดยโรคดังกล่าวนี้มักทำให้มีอาการตาแดง แสบตา เคืองตา น้ำไหล ตามัวเป็นพัก ๆ หรือเกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีอาการปวดคอและหลัง เนื่องจากการนั่งในท่าเดิมๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานแล้ว อันตรายจากการใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน สามารถทำให้ตาบอดได้หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ได้” เพราะเท่าที่ทราบ สิ่งที่ทำให้ทุกคนกังวลใจว่าจะตาบอดจากการใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน คงเกิดจากประเด็นเรื่องรังสียูวี (UV) และแสงสีฟ้า (Blue Light)

ดังนั้น เรามาทำความรู้จักรังสียูวีกันก่อนดีกว่า

รังสียูวีเกิดขึ้นจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมีทั้งยูวีเอ (UVA) ยูวีบี (UVB) และยูวีซี (UVC) โดยยูวีซีจะถูกโอโซนของโลกเป็นตัวป้องกันไว้ ส่วนยูวีเอและยูวีบีนั้นจะทะลุเข้ามาภายในโลกของเราได้ แต่โอกาสที่จะเข้าไปทำลายจอประสาทตาได้นั้นมีน้อยมาก เนื่องจากรังสียูวีเอและยูวีบีจะถูกดูดกลืนแสงไว้ 99% และตกไปยังจอประสาทตาเพียง 1% เท่านั้น และที่สำคัญ มันไม่มีรังสีเหล่านี้พุ่งออกมาจากคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน

ส่วนแสงสีฟ้า (Blue Light) คือแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นอยู่ที่ 380 - 500 นาโนเมตร ทำให้มีการกระจายตัวของแสงสีได้มาก จึงทำให้มีอาการปวดตา สายตาล้าได้ง่าย แต่แสงสีฟ้าไม่ได้มีแต่โทษเท่านั้น ประโยชน์ของแสงสีนี้คือ กระตุ้นให้ร่างกายมีการตื่นตัว การบล็อกการใช้แสงสีนี้อาจมีผลต่อระบบการนอนและการตื่นของร่างกายได้

แสงสีฟ้าสามารถพบได้ทั่วไปจากแสงอาทิตย์ จากหลอดไฟ จากคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน แต่แสงสีฟ้าไม่ได้ทำให้ผู้ใช้ตาบอดแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้ผู้ใช้ไม่สบายตา เมื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ

อีกทั้งคำพูดที่มีคนกล่าวไว้ว่า การใช้มือถือในที่มืด จะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม หรือจอประสาทตาหลุดลอก นั้นไม่เป็นความจริงอย่างมาก เพราะจากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ ก็ยังไม่พบความสัมพันธ์ของ “แสงสีฟ้า” กับ “การเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม” อย่างชัดเจน เพราะโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่แสงสีฟ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

กล่าวโดยสรุปคือ การใช้งานคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนในที่มืด ไม่ได้ทำให้ตาบอด แต่จะทำให้เกิดความไม่สบายตามากกว่าการเล่นขณะเปิดไฟ เพราะจะต้องเพ่งมากกว่าปกติ และมีแสงสะท้อนเข้าตามากกว่าปกติ ทำให้เกิดความไม่สบายตา ทำให้ตาล้ามากขึ้น อาการจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นอาการเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อพักและหยุดใช้งานไป ก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้
__________________________________________________

ข้อมูล : จากบทความในนิตยสาร @Rama http://med.mahidol.ac.th/index.php
เขียนโดย อ.พญ.วฎาการ วุฒิศิริ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

กำลังโหลดความคิดเห็น