xs
xsm
sm
md
lg

สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “ปฏิบัติบูชา” ตามรอยพ่อ / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จากเว็บไซต์ “เรารักพระเจ้าอยู่หัว”

จากคอลัมน์ Learn & Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล
(suwatmgr@gmail.com)
เซกชั่น Good Health & Well Being นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 - 30 ตุลาคม 2559


ช่วงเวลานี้สังคมไทย อยู่ในบรรยากาศเศร้าโศกอาลัยรัก แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เสด็จสู่สวรรคาลัย เพราะความผูกพันต่อองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 มายาวนานถึง 70 ปี แห่งการครองราชย์ และด้วยผลของพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงทุ่มเทตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งการเสด็จเยี่ยมราษฎรไปทุกภาค ด้วยการทรงงานด้วยหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ได้ช่วยบรรเทาทุกข์ และอำนวยสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ เป็นที่ประจักษ์และยกย่องไปทั่วโลก

สมดังพระราชปณิธานที่ปรากฏในปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

คนไทยทั้งมวลจึงถวายความเคารพรักและเทิดทูนองค์พระเจ้าอยู่หัวอย่างลึกซึ้งจนเรียกขานกันว่า “พ่อหลวงของปวงชน” แต่แล้ววันที่สังคมไทยได้รับทราบข่าวความสูญเสียอันใหญ่หลวงของแผ่นดินครั้งนี้ จึงได้สร้างความเศร้าโศกโทมนัสสุดประมาณ

มวลชนชาวไทยจากทุกสารทิศทุกถิ่นฐาน พากันเดินทางมาร่วมแสดงความอาลัยและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระราชพิธีพระบรมศพอย่างต่อเนื่องแน่นทุกวัน

ขณะเดียวกัน โลก social media ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารยุคใหม่ ประชาชนก็ได้โอกาสแสดงออก ถึงความอาลัยและเทิดทูนองค์พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศอย่างสูง มีผู้สร้างสรรค์ภาพที่น่าประทับใจภาพหาดูยาก และคำประพันธ์ร้อยกรองรำลึกถึงพระเกียรติคุณ รวมถึงมีการค้นคว้าเผยแพร่เกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวในดวงใจของประชาชนให้มีโอกาสได้รับรู้และมีการส่งต่อ ไปยังญาติมิตรอย่างกว้างขวาง

เราได้เห็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และถ้อยคำแสดงความมุ่งมั่นว่าจะทำความดีตามรอยพระราชปณิธาน เช่น “เราจะตามรอยพ่อ” “จะทำตามคำสอนพ่อ” “จะช่วยรักษาแผ่นดินของพ่อไว้”

นี่เป็นการสะท้อนความรู้สึกของมวลชนชาวไทย ที่มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพร้อมด้วย “ทศพิธราชธรรม” ที่เป็นทั้งศูนย์รวมดวงใจและแบบอย่างที่ควรน้อมนำไปเป็นแนวทางที่ดีงามในการปฏิบัติตัวและปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพและมีคุณธรรมอันเป็นเหตุให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยและทุกอาชีพการงาน

ทำให้ผมนึกไปถึงภาพยนตร์โฆษณาเฉลิมพระเกียรติที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ชุดล่าสุดเรื่อง “เราจะทำแบบในหลวง” หรือ “Follow the Father” ซึ่งต้องการและสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและน้อมนำข้อคิดจากพระราชจริยวัตรของพระองค์ท่านมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต

เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีเลิศ ในหลายประการเช่น ความกตัญญู ความใฝ่รู้ และความพอเพียง

หนังเรื่องนี้ได้สร้างความสนใจและมีการเปิดดูกันทาง You Tube 2 วันแรก นับตั้งแต่ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ก็ทะลุหลักล้านวิว ป่านนี้คงแตะ 4 ล้านวิวไปแล้ว

ปรากฏการณ์อันสำคัญนี้จะเป็นประวัติศาสตร์อันดีงามต่อไป หากเราทุกคนร่วมกันแปรความเคารพและศรัทธา เป็นการน้อมถวาย “ปฏิบัติบูชา” ซึ่งพระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นการบูชาที่เป็นเลิศ ที่ประเสริฐ เพราะการขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตและทำกิจการงาน ตามแนวทางที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทอันทรงคุณค่าไว้มากมาย

อีกทั้งโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ ก็เป็นกรณีศึกษาและศูนย์การเรียนรู้ที่ครอบคลุมมิติต่างๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและช่วยแก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมขอเสนอให้น้อมนำหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นปรัชญาพระราชทานจากพระองค์ท่าน ที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการชีวิตและการดำเนินกิจการที่จะส่งผลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนได้แน่นอน

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
หนทางสู่ความมั่นคงยั่งยืน

แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ปรากฏอยู่ในการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาช้านาน โดยมุ่งสร้างความ “พออยู่-พอกิน” และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดนี้เพื่อใช้ปรับทิศทางการพัฒนาประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยมีข้อความที่สำคัญตอนหนึ่งว่า

“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป

หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด”

ภายหลังจากที่คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เริ่มเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่การตีความเศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละคน อาจจะแตกต่างกันไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขบทความเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่นๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานไว้ในวโรกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 โดยมีใจความว่า

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี



ดังนั้น การพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือการพัฒนาซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางที่คำนึงถึง 3 องค์ประกอบ คือ 1.ความพอประมาณ 2.ความมีเหตุผล 3.การมีระบบภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอน โดยมีเงื่อนไขความรู้และคุณธรรมในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอนของบุคคลในทุกระดับชั้น

1.ความพอประมาณ

ความพอประมาณในการดำเนินงานที่สะท้อนอยู่ในกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานในวโรกาสต่างๆ ชี้ให้เห็นถึงการพิจารณาปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบ คำนึงถึงขนาดโครงการที่เหมาะสม การบริหารปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและไม่โลภเกินไป

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มิได้ปฏิเสธการผลิตเพื่อการค้าหรือส่งเสริมให้ผลิตเพื่อบริโภคเองเท่านั้น เพียงแต่ควรมีขั้นตอนโดยเริ่มต้นจากการผลิตเพื่อการพึ่งตนเองและอยู่อย่างพอกินพอใช้ให้ได้ก่อน เช่น มีการปลูกข้าวหรือทำการเกษตรเพื่อพอเลี้ยงตนเองแล้วจึงใช้เวลา ที่ดิน และแรงงานส่วนที่เหลือไปผลิตเพื่อขายตามศักยภาพตามโอกาสและสภาพแวดล้อมของแต่ละสังคม

ขณะเดียวกันก็มิได้ปฏิเสธความสุขจากการบริโภคสิ่งของที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสิ่งของที่ฟุ่มเฟือย เพียงแต่จะต้องรู้จักขั้นตอนพอเพียงได้โดยมีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา หรือหากจะมีความสุขโดยฟุ่มเฟือยบ้าง ก็สามารถทำได้ข้อสำคัญคือต้องไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

2.ความมีเหตุผล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเหตุผล เช่น “หลักอย่างหนึ่งที่สำคัญคือหลักของเหตุผล และจะต้องขัดเกลาตลอดเวลา มิฉะนั้นจะมีวิชาความรู้เท่าไรก็ตามก็ไม่สามารถนำไปเป็นประโยชน์แก่ตัวแก่ส่วนรวมได้…หลักของเหตุผลมีหลักการว่า ถ้ามีสิ่งใดที่เราต้องเผชิญ ต้องพบ ต้องมีเหตุผลทั้งสิ้น คำนี้มีสองคำ เหตุคือต้นของสิ่งที่เราเผชิญและผลเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นแก่เรา ถ้าเราเผชิญสิ่งใดและเราพิจารณาด้วยเหตุผล ต่อไปเราก็จะเผชิญสิ่งที่ถูกต้อง”

พระองค์ทรงย้ำว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่ใช้หลักเหตุผลเพื่อนำไปสู่การกระทำที่ดี และทรงเน้นที่การกระทำของตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งก็คือทำเหตุภายในให้ถูกต้องครบถ้วน ผลที่ออกมาก็จะมีประสิทธิผลมีประโยชน์และมีความสุข

ความมีเหตุผล จึงหมายถึง การพิจารณาที่จะดำเนินงานใดๆด้วยความถี่ถ้วนรอบคอบ ไม่ย่อท้อ ไร้อคติ คำนึงถึงเหตุและปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องดีงาม เกิดประสิทธิผล เกิดประโยชน์และความสุข โดยปราศจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

3.การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี

วิกฤติการณ์มักเกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ ที่มิอาจรับมือได้อย่างทันท่วงที หรือมิได้มีการเตรียมพร้อมที่จะรับปลกระทบนั้นล่วงหน้า จนก่อให้เกิดความเสียหายทางใดทางหนึ่งในช่วงปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยกำลังประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจจนลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาค พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวข้องกับการรับมือกับวิกฤติการณ์และการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นในตัวทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร

เงื่อนไขความรู้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความรู้ ดังนี้

“ความรู้นั้นเป็นหลักของการงาน ผู้ที่จะทำงานอย่างใดจำต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นก่อนเป็นเบื้องต้น ส่วนความคิดเป็นเครื่องช่วยความรู้คือ ช่วยให้ความรู้ได้ถูกต้อง เช่น จะใช้อย่างไร ที่ไหน เมื่อใด เมื่อมีความรู้สำหรับงานมีความคิดสำหรับพิจารณาใช้ความรู้ให้ถูกต้องแล้วย่อมทำงานได้ผลสมบูรณ์ดี ยากที่จะผิดพลาด ความรู้กับความคิดจึงไม่ควรแยกจากกัน”

“การสร้างความสำเร็จในกิจการงานทุกอย่างทุกระดับ รวมทั้งความสำเร็จในชีวิตของแต่ละคนด้วยนั้น ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญประกอบกันถึง 3 ส่วน ส่วนที่ 1 คือความรู้และความชำนาญทางวิชาการ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานหรือเป็นเครื่องมือปฏิบัติแท้ๆ ส่วนที่ 2 คือความละเอียดถี่ถ้วนความตั้งใจ และความอุตสาหะพยายาม ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยให้ทำการได้ไม่ผิดพลาดบกพร่องและสำเร็จลุล่วงได้ตลอด ไม่ทิ้งขว้างและวางเสียกลางคัน ส่วนที่ 3 นั้นได้แก่ สติระลึกรู้ตัวและปัญญาความรู้ชัด หรือความเฉลียวฉลาดที่จะหยุดคิดพิจารณาคิดที่จะทำ คำที่จะพูดทุกอย่างให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงตรงตามกระบวนการของเหตุผลซึ่งจะช่วยให้ดำเนินชีวิตและการงานไปในทางเจริญ”

เงื่อนไขคุณธรรม

องค์ประกอบของคุณธรรมประการแรก คือ ความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นเครื่องกำกับทิศทางของการใช้วิชาความรู้ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์

อีกประการหนึ่ง คือ ความรอบคอบระมัดระวัง ที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆให้กระจ่างแจ้งในทุกแง่ทุกมุม ก่อนที่จะจัดการให้ถูกจุด ถูกขั้นตอน ถูกเหตุผล

กล่าวโดยรวม เงื่อนไขคุณธรรม หมายถึง เครื่องอาศัยของการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปอย่างดีงาม ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต คือ ความประพฤติชอบ มีการพูดและการกระทำซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ต่อตนเองและต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง มีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวงและไม่เอารัดเอาเปรียบ ความอดทน มีความเพียร คือ ความบากบั่น ความกล้าแข็ง มีความหนักแน่น ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไปจนประสลผลสำเร็จและความรอบคอบระมัดระวัง คือ การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในทุกแง่ทุกมุมก่อนที่จะดำเนินงาน เพื่อมิให้เกิดความเผอเรอและพลั้งพลาด

ข้อมูลอ้างอิง หนังสือ “เศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินธุรกิจ” โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์


กำลังโหลดความคิดเห็น