คอลัมน์ : ธรรมชาติบำบัด ผู้เขียน : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นิตยสารฟรีก็อบปี้ Good Health & Well-Being ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันเสาร์ที่ 29 - วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2559 |
การแพทย์แผนโบราณในประเทศไทยนั้นมีประวัติมาอย่างยาวนานกว่า 800 ปีที่แล้ว จากการค้นพบศิลาจารึกของอาณาจักรขอม ประมาณปี พ.ศ.1725 -1729 ซึ่งเป็นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโดยการสร้างสถานพยาบาลเรียกว่า “อโรคยาศาล”
การรักษาพยาบาลในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เริ่มต้นด้วยการลงทะเบียนผู้ป่วย จดบันทึกอาการและโรค และแยกย้ายผู้ป่วยไปตามศาลารายตามโรคที่แตกต่างกัน เช่น “ศาลานวด” ก็จะมีการนวด เหยียบ ลูกประคบ หรือ “ศาลายา” ก็เป็นพื้นที่สำหรับต้มหรือผลิตยาจากสมุนไพรชนิดต่างๆ “ศาลาเด็ก” ก็เป็นพื้นที่สำหรับการรักษาโรคเกี่ยวกับเด็ก เป็นต้น
ในสมัยสุโขทัย ในรัชสมัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็มีการจารึกเอาไว้ถึงการทำสวนสมุนไพรขนาดใหญ่บนเขาหลวง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอคีรีมาส จังหวัดสุโขทัย เพื่อให้ประชาชนมาใช้รักษาเวลาเจ็บป่วย
ในสมัยอยุธยานั้น ถือได้ว่าเป็นยุคที่แพทย์แผนโบราณเฟื่องฟู เพราะได้รับอิทธิพลจากการแพทย์ของอินเดียที่เรียกว่า “อายุรเวท” โดยมีรากฐานคัมภีร์แพทย์ที่เชื่อว่า “หมอชีวกโกมารภัจจ์” ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตัวขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แต่ง มีหลักคิดของการสร้างสมดุลของ 4 ธาตุ โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น มีการจัดระบบยาที่มีความชัดเจน มีตำราแพทย์และยาซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์และการอ้างอิงของแพทย์แผนไทยที่สำคัญที่ชื่อว่า "ตำราพระโอสถพระนารายณ์" เพราะนอกจากจะมีการอธิบายสมุฏฐานแห่งโรคตามความสมดุลของธาตุทั้ง 4 แล้ว ยังมีตำรับยาที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นระบบอีกด้วย
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แพทย์แผนโบราณก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในสมัยรัชกาลที่ 3 พระยาบำเรอราชแพทย์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำราชสำนัก เป็นแม่กองจัดประชุมหมอหลวงแต่งตำราและบันทึกตำรงแผนโบราณต่างๆ ทั้งจารึกตำราไว้ในแผ่นศิลา ผนังโบสถ์ ศาลาราย รอบเจดีย์ ตามเสาระเบียงพระวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอีกด้วย การเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์ครั้งนั้นไม่มีการหวงห้ามใดๆ จึงถือเป็นโรงเรียนแพทย์แผ่นโบราณแห่งแรกที่เปิดให้ประชาชนได้รับความรู้อย่างกว้างขวาง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น การแพทย์ถูกแบ่งออกเป็นสองแผน คือ แพทย์แผนโบราณ กับ แพทย์แผนปัจจุบัน และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนแพทยากรขึ้นที่ศิริราชพยาบาล ซึ่งในเวลานั้น มีการเรียนทั้งแพทย์แผนตะวันตกและแพทย์แผนโบราณควบคู่กันไป
ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของแพทย์ และยกเลิกแพทย์แผนโบราณออกไป เพราะการสอนตามแผนแผนโบราณนั้นไม่เข้ากับแบบแผนของการรักษาแบบฝรั่ง
ถึงแม้การเรียนการสอนจะไม่มีในหลักสูตรของแพทย์ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการประกาศ พ.ร.บ.การแพทย์ พ.ศ. 2466 โดยแบ่งแพทย์แผนปัจจุบัน กับแพทย์แผนโบราณออกจากกัน และทำให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
ในสมัยรัชกาลที่ 8 มีการยกเลิก พ.ร.บ.การแพทย์ พ.ศ. 2466 และตรา พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ขึ้นมาใช้แทน ก็ยังคงแบ่งการประกอบโรคศิลปะเป็นแพทย์แผนปัจจุบันและแผนโบราณออกจากกัน แต่ในรัชสมัยนี้มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรมากขึ้น เพราะมีช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา จึงเป็นเหตุทำให้โรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุขนำสมุนไพรมาผลิตเป็นยารักษาโรคร่วมด้วย
เมื่อปี พ.ศ. 2494 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในครั้งนั้นได้ทรงมีพระราชปรารภว่า วัดพระเชตุพนฯ เป็นแหล่งรวบรวมตำราแพทย์แผนไทยอยู่แล้ว ทำไมไม่จัดให้มีการสอนการแพทย์แผนไทย ในวิชาเวชกรรม ผดุงครรภ์ หัตถเวช และเภสัชกรรม เพื่อเป็นวิทยาทานให้แก่ผู้สนใจได้ศึกษา
พ.ศ. 2498 จากพระราชปรารภครั้งนั้น ทำให้คณะกรรมการวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์แผนไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ ได้รับสนองพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเวลาต่อมา โดยได้จัดทำหลักสูตรโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้น
และเป็นผลทำให้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) ได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณ มีการสอนทั้งวิชาเภสัชกรรม เวชกรรม การผดุงครรภ์ไทย และการนวดแผนโบราณตามพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2532 กระทรวงสาธารณสุข โดยมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้จัดตั้งศูนย์การประสานงานการพัฒนาการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นเป็นองค์กรประสานงานการพัฒนาการแพทย์แผนไทย และเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการวางรากฐานการพัฒนาแพทย์แผนไทยโดยความร่วมมือต่างๆ
จากนั้นในปี พ.ศ. 2536 จึงได้จัดตั้งเป็นสถาบันการแพทย์แผนไทยขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ เป็นหน่วยงานระดับสูงกว่ากอง สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2543 สถาบันการแพทย์แผนไทยได้รับรองจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นทางการ
10 มกราคม พ.ศ. 2544 มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ซึ่งทำให้เกิดหน่วยงานใหม่เกิดขึ้นชื่อว่า "สถาบันการแพทย์แผนไทย"
การแพทย์แผนไทย หมายถึง
"...ปรัชญา องค์ความรู้ และวิถีการปฏิบัติ เพื่อการดูแล สุขภาพและการบำบัดรักษาโรค ความเจ็บป่วยของประชาชนไทยแบบดั้งเดิม สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมแบบไทยและวิถีชีวิตแบบไทย วิธีการปฏิบัติของการแพทย์แผนไทยประกอบด้วยการใช้สมุนไพร (ด้วยการต้ม การอบ การประคบ การปั้นลูกกลอน) หัตถบำบัดการักษากระดูกแบบดั้งเดิม การใช้พุทธศาสนา หรือพิธีกรรมเพื่อดูแลรักษาสุขภาพจิต การคลอด การดูแลสุขภาพไทยเดิมและธรรมชาติบำบัด ซึ่งได้จากการสะสมและการถ่ายทอดประสบการณ์อย่างเป็นระบบ โดยการบอกเล่า การสังเกต การบันทึกและการศึกษาผ่านสถาบันการศึกษาด้านแพทย์แผนไทย"
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง กับการพัฒนาแพทย์แผนไทยที่ใช้องค์ความรู้ วัตถุดิบ จากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาตนเองได้นั้นสอดคล้องกับหลักปรัชญาพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีบทบาทสำคัญทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองด้วยแพทย์แผนไทยได้มากขึ้นจนถึงทุกวันนี้
** ภาพประกอบ : โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์ **