xs
xsm
sm
md
lg

รู้หรือไม่? “ฟลูออไรด์” ในยาสีฟัน ทำให้เด็กไอคิวต่ำ! / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ธรรมชาติบำบัด
ผู้เขียน : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นิตยสารฟรีก็อบปี้ Good Health & Well-Being ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันเสาร์ที่ 16 - อาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม 2559

เป็นที่ทราบกันดีว่าฟลูออไรด์นั้นสามารถใช้ป้องกันโรคฟันผุได้ ดังนั้นจึงมีการผสมฟลูออไรด์ในยาสีฟัน และการทำทันตกรรม ซึ่งมีความเชื่อกันว่าปริมาณฟลูออไรด์ที่เหมาะสมในยาสีฟันคือ 1,000 ส่วนในล้านส่วนนั้น จะได้ผลในการป้องกันโรคฟันผุได้

คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดว่า ยาสีฟันที่จำหน่ายในท้องตลาดจะมีปริมาณเกิน 1,000 ส่วนในล้านส่วนไม่ได้ ในขณะที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดให้ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟัน อยู่ในช่วงระหว่าง 500 -1,000 ส่วนในล้านส่วน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงของฟลูออไรด์กลับเป็นเรื่อง "การบริโภคฟลูออไรด์เข้าไป" ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี เพราะฟลูออไรด์นั้นไม่ได้มีอยู่ในยาสีฟันเท่านั้น แต่อยู่ในน้ำยาบ้วนปาก และมีอยู่ในน้ำประปาด้วย

และน้ำประปาของประเทศไทยนั้น การประปานครหลวงได้ยึดเอามาตรฐานคุณภาพน้ำประปาตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ.2554 คือห้ามมีฟลูออไรด์เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร

สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีนั้น เคยมีงานวิจัยสำรวจโดยสมาคมอเมริกันของศูนย์ควบคุมสารพิษ (American of Poison Control Centers (AAPCC)) ได้เคยพบรายงานระหว่างปี พ.ศ.2532 ถึง พ.ศ.2537 ในประเด็นข้อสงสัยว่าเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ มากกว่า 80% บริโภคฟลูออไรด์เกินขนาด เพราะกลืนยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และน้ำประปาเข้าไปด้วย

โดยเฉพาะในยุคหลังมานี้ ยาสีฟันที่ผสมรสชาติผลไม้ หรือคล้ายขนมต่างๆ ก็ยิ่งทำให้เด็กมีโอกาสที่จะกลืนลงคอได้มากขึ้นไปอีก

แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบเท่านั้น เพราะความเป็นจริง ผู้ใหญ่ก็มีโอกาสกลืนยาสีฟัน กลืนน้ำยาบ้วนปากบางส่วน รวมถึงดื่มน้ำที่มีฟลูออไรด์ปนเปื้อนได้เช่นกัน แต่อาจจะควบคุมการกลืนได้ดีกว่าเด็ก

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2555 วารสาร Environmental Health Perspective ของสถาบันแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจากสิ่งแวดล้อม (National Institute of Environmental Health Science) ได้ตีพิมพ์รายงานโดย Anna L. Choi และคณะ ซึ่งได้รวบรวมฐานข้อมูลแล้วใช้การวิเคราะห์อภิมาน (Meta-Analysis) ในหัวข้อการเกิดพิษในระบบประสาทอันเกิดจากฟลูออไรด์ (Developmental Fluoride Neurotoxicity: A Systematic Review and Meta-Analysis) อันเกิดจากฐานข้อมูลที่เผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารของประเทศจีน ซึ่งได้มีการระบุไปถึงรายงานเชิงระบาดวิทยาจำนวน 27 ชิ้น และดำเนินการวัดคะแนนความฉลาดทางสติปัญญา หรือไอคิว หรือการทำงานของกระบวนการคิด

"ผลการวิจัยพบว่า คะแนนความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิวของประชากรที่บริโภคฟลูออไรด์นั้นมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าประชากรอ้างอิงถึง 55% และยังพบว่าพื้นที่ซึ่งมีเด็กที่บริโภคฟลูออไรด์ในปริมาณมาก จะมีคะแนนไอคิวต่ำกว่าพื้นที่ซึ่งมีเด็กบริโภคฟลูออไรด์ในปริมาณที่น้อยอย่างมีนัยยะสำคัญ"

ผลงานวิจัยครั้งนั้นจึงได้สรุปว่ามีความเป็นไปได้ที่การบริโภคฟลูออไรด์ในปริมาณที่สูง จะกระทบต่อการพัฒนาทางสมองและประสาทของเด็ก

นอกจากนี้แล้วยังมีงานวิจัยการทดลองในหนู พบว่าพิษจากฟลูออไรด์ ไอออน นั้นยังมีเป้าหมายเกิดพิษไปที่ไมโตคอนเดรียซึ่งเป็นผลการเผาผลาญในระดับเซลล์ผิดปกติ เกิดความผิดปกติในการทำงานของไต และรวมถึงหากมีพิษของฟลูออไรด์เรื้อรังนั้นยังมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติอีกด้วย

ฟลูออไรด์จึงไม่ได้มีด้านบวกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีด้านลบที่คนไม่ค่อยรู้ด้วย โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ อาจจะต้องพิจารณาให้งดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฟลูออไรด์เอาไว้ก่อนจะดีกว่า

กำลังโหลดความคิดเห็น