xs
xsm
sm
md
lg

ต่อยอดเป้าหมายโลก SDG ชูดัชนียั่งยืน – เกิดโอกาสธุรกิจ/ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับจากที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)โดยผู้นำของ 193 ประเทศ รวมทั้งไทยที่ร่วมกันลงนามเห็นชอบใน 17 เป้าหมาย (Goals) ที่มีการระบุถึง 169 เป้าประสงค์ (Targets) ย่อย
ถ้าจะให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ปลายปี 2015 บรรลุผลเพื่อให้ “โลกของเราน่าอยู่ขึ้น” ภายในปี 2030 ปัญหาทั้ง 17 หัวข้อซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวเราทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องปรับแก้ให้มีความสมดุล เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนของทุกภาคส่วน
น่ายินดีที่ทราบว่าในระดับจุลภาค สถาบันไทยพัฒน์ องค์กรที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2548 บัดนี้ได้ริเริ่มโครงการจัดทำดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับองค์กร (Corporate SDG Index) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจมีกรอบในการใช้ปรับแนวการดำเนินงานทางธุรกิจในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีส่วนในการแก้ปัญหาที่ระบุไว้ใน 17 หัวข้อของ SDG ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมได้อย่างเป็นระบบ และเป็นที่ยอมรับได้ในวงกว้าง
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ เล่าให้ฟังว่า “ดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับองค์กร หรือ Corporate SDG Index จะช่วยเปิดมุมมองให้ภาคเอกชนได้เห็นภูมิทัศน์ใหม่ทางธุรกิจ จากการแปลงเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นโจทย์ในการดำเนินงาน ที่สามารถสร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน”
ในขณะที่สภาวะของเมืองไทยเราได้ถูกประเมินจากสหประชาชาติที่ดูได้จากรายงานการศึกษา “SDG Index and Dashboards - Country Profiles” ที่จัดทำโดยมูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ (Bertelsmann Stiftung) ร่วมกับเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN)
มีการระบุว่า ประเทศไทยมีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอันดับที่ 61 ของโลก จากการสำรวจทั้งหมด 149 ประเทศ โดยเป้าหมาย SDG 3 ลำดับแรก ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนา ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 หมวดอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายที่ 12 แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 16 หมวดสันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากร่างของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งจะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2559 และกลยุทธ์การขับเคลื่อน “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาลนี้ ก็ดูจะมีส่วนแก้ปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของเรา

ขณะนี้ สถาบันไทยพัฒน์ จึงพยายามสนับสนุนภาคเอกชนให้มีส่วนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการแนะนำขั้นตอนดังนี้ 1.พิจารณาสิ่งที่องค์กรตนเองได้ดำเนินการอยู่แล้ว 2.การประมวลและเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรให้มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3.พิจารณาเพิ่มเติมการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องหรือตอบสนองต่อ SDG ในข้อที่มีการดำเนินการบ้างแล้ว แต่ยังทำไม่ได้เต็มที่ และในข้อที่ยังมิได้มีการดำเนินการ ตามลำดับ
นี่มิได้หมายความว่า องค์กรธุรกิจทุกแห่งจะต้องตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทั้ง 17 ข้อเพราะกิจการสามารถเลือกเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องต่อการสร้างคุณค่า หรือเป็นเรื่องซึ่งมีนัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ถูกให้ลำดับความสำคัญโดยองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
แต่สำหรับองค์กรธุรกิจที่มีการดำเนินงานสนองตอบต่อ SDG และมีการรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบ GRI อยู่แล้ว สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ให้การรับรอง Certified Partner ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ GRI ได้เสนอแนะรูปแบบการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับ SDG ในเล่มรายงานแห่งความยั่งยืน ที่เรียกว่า “Enhanced Sustainability Report” เพื่อให้องค์กรธุรกิจสามารถเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SDG ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรผ่านช่องทางที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่เพิ่มภาระการรายงานแยกส่วนจากรายงานแห่งความยั่งยืนฉบับเดิม
องค์กรธุรกิจใดที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ได้กรอบในการปรับแนวการดำเนินงานทางธุรกิจของตนเอง ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยดัชนี SDG ก็สามารถติดต่อขอรายละเอียดได้หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://www.sdgindex.com
ข้อคิด....
ทุกวันนี้สังคมทั้งระดับโลกและระดับประเทศและท้องถิ่นต่างๆ ล้วนมีประสบการณ์รับผลกระทบจากสภาวะปัญหาหลายมิติที่เรียกว่า VUCA คือ ผันผวน (Volatility) ไม่แน่นอน (Uncertainty) สลับซับซ้อน (Complexity) คำตอบ (Ambiguity)
เหตุปัจจัยหลักที่ทำให้ปัญหาลุกลามและรุนแรงมาจากกิเลสของคน ทำให้ปัญหาเข้าขั้นวิกฤต
การประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จึงเป็นความพยายามของสหประชาชาตที่หวังจะสร้างแนวทางให้เกิดความสมดุลเพื่อลดความรุนแรงของปัญหา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสรุปที่ว่าจากนี้ไปความสมดุลใหม่ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หวังแต่บทบาทของภาครัฐเท่านั้น
แต่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งมีทรัพยากรทั้งเงิน ทั้งคน และเครื่องมือต่างๆ จึงควรร่วมมือกันในการดำเนินธุรกิจไม่สร้างปัญหาคือมีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ก็สามารถพัฒนาแขนงธุรกิจที่สร้างคุณค่าต่อผู้เกี่ยวข้องและสนองต่อ SDG ด้วย
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น