xs
xsm
sm
md
lg

จริงไม่จริง ลองฟังนักวิจัย! ข้อดีของ “กัญชา” ตามหลักวิทยาศาสตร์ : รศ.ดร.สุรางค์ ลีละวัฒน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นประเด็นอย่างต่อเนื่อง กับกระแส “กัญชารักษาโรค” ซึ่งกลายเป็นที่สนใจจากทั้งวงการแพทย์ ไปจนถึงประชาชนคนธรรมดาทั่วไปว่ากัญชา ไม่ใช่แค่สารเสพติดอย่างที่เข้าใจมาก่อนหน้านี้อีกต่อไปแล้ว

โดยความเคลื่อนไหวของ “กัญชารักษาโรค” มีการเรียกร้องต่างๆ ว่าให้มีการถอดกัญชาออกจากสารบบของยาเสพติด เนื่องจากในสารจากเจ้าพืชสีเขียวนั้นมีคุณประโยชน์ที่จะส่งผลดีต่อร่างกาย และช่วยรักษาโรคได้ ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวยังไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากยังคงติดอยู่กับตัวข้อกฎหมายอยู่

เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้สนทนาขอข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของผลงานวิจัยในหัวข้อ “การออกฤทธิ์ของ 9-tetrahydrocannabinol ต่อการลุกลามของเซลล์มะเร็ง” ซึ่งทำการศึกษาถึงการใช้กัญชาในการรักษามะเร็งท่อน้ำดี และพบผลลัพธ์ที่น่าสนใจ...

• อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่าทำไมถึงตัดสินใจที่จะทำวิจัยชิ้นนี้ครับ

ขออนุญาตพูดถึงลักษณะงานวิจัยส่วนใหญ่ที่สนใจและที่ทำอยู่ในตอนนี้ จะเกี่ยวข้องกับการนำเอาสมุนไพรมาทดสอบกับเซลล์มะเร็ง ดูประสิทธิภาพว่าสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้หรือเปล่า ด้วยกลไกอะไร และถ้าถามว่าทำไมถึงหยิบเอากัญชามาทำ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ช่วงที่เรียนปริญญาเอกที่ต่างประเทศ ก็มีโอกาสวิจัยศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างสารของกัญชาที่มีอยู่ในธรรมชาติ ว่ามันสร้างมาได้ยังไง ผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง ก็มีโอกาสได้ค้นคว้าข้อมูลมากขึ้น ก็เลยได้เห็นว่า กัญชามันมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย ก็เลยไปหยิบเอากัญชามาใส่ในมะเร็ง

• แสดงว่า ก่อนหน้าที่จะมาจับงานวิจัยชิ้นดังกล่าว อาจารย์ก็มีทัศนคติเกี่ยวกับกัญชาเหมือนคนทั่วไป

เหมือนกับคนทั่วไปที่มองว่ากัญชามันเป็นโทษต่อร่างกาย ซึ่งถามว่า เราก็ไม่ได้สนใจที่จะเอามาทำ แต่ปรากฏว่าเราก็ค้นคว้าในขณะที่เรียน ก็พบว่ากัญชามันน่าสนใจนะ ก็เลยเปลี่ยนมุมมองว่า นอกจากจะเป็นโทษแล้ว มันก็เป็นประโยชน์สำหรับใครหลายคน ส่วนมุมมองก่อนหน้านี้ก็เหมือนคล้ายกับคนทั่วไปที่มองว่ามันมีโทษ เราไม่ไปยุ่งกับมันดีกว่า แต่เมื่อเรารู้ว่ามันมีประโยชน์กับชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคที่ตัวเองเป็นอยู่ เราอยากจะหาย เราจะทำยังไงบ้าง ก็มีคนถามเข้ามาเหมือนกันว่า พอเห็นงานวิจัย มีอีเมลมาถามเราเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นจากต่างประเทศ เพราะงานวิจัยชิ้นนี้ก็ตีพิมพ์ในต่างประเทศ ก็มีถามมาเป็นระยะว่า ถ้าจะใช้ ต้องใช้ยังไงบ้าง แต่ด้วยงานเราทำอยู่ แค่หลอดทดลอง มันตอบไม่ได้ว่าใช้เท่าไหร่ เวลานานแค่ไหน

• อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายถึงกัญชาในแง่ของเภสัชศาสตร์หน่อยครับ

ถ้าพูดถึงสารเคมีในต้นกัญชา กลุ่มลักษณะในต้นกัญชาเรียกว่า Cannabinoids ซึ่งปัจจุบันนี้ จะพบสูตรโครงสร้างที่ชัดเจนมากกว่า 60 ชนิด ต่ว่าชนิดหลักๆ ที่เป็นสารออกฤทธิ์ เราจะพูดถึง 2 ชนิด ก็คือ ตัวแรกเราเรียกย่อๆ ว่า THC ตัวเต็มคือ Tetrahydrocannabinol ตัวที่ 2 คือ CBD หรือ Cannabidiol ซึ่งทาง THC เป็นสารหลักที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททำให้ติดยา ทำให้เกิดอารมณ์เคลิบเคลิ้มประสาทหลอน ก็มีหลักๆ อยู่ 2 ตัว ที่เป็นตัวออกฤทธิ์ แล้วก็มีการศึกษาวิจัยที่มาใช้ทางยา ก็คือ 2 ตัวนี้

แล้วในส่วนการออกฤทธิ์ต่อสิ่งมีชีวิตล่ะครับ

เท่าที่ค้นคว้าข้อมูลมา ไม่ว่าจะเป็นสารบริสุทธิ์ทั้ง THC หรือ CBD ที่ผสมกันอยู่ตอนนี้ มันจะมีฤทธิ์หลักๆ กลุ่มแรกที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของกัญชา ก็คือเอาไปใช้ลดการคลื่นไส้หรืออาเจียน ในคนไข้โรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด อย่างที่ทราบกันว่า ยาเคมีบำบัดจะมีการคลื่นไส้หรืออาเจียนแล้วเอาไปใช้ในกลุ่มนั้น

กลุ่มที่ 2 คือลดอาการปวด อาการปวดที่ว่า ก็จะมีอาการปวดในคนไข้มะเร็งกับคนไข้ทั่วไป อาการปวดที่ใช้ส่วนใหญ่จะใช้ในส่วนของคนไข้มะเร็ง จะลดอาการปวดในสองกลุ่มหลักๆ อย่างที่บอก อีกกลุ่มคือกลุ่มที่ปลายประสาทอักเสบที่มือและเท้า ก็มีอาการปวดได้เช่นกัน ซึ่งก็เอาไปใช้ตรงนั้นได้ ก็มีหลายๆ โรคที่ทำให้เกิดอาการอย่างงี้ รวมถึงยาเคมีบำบัดหลายตัว ก็ทำให้เกิดอาการปลายประสาทอักเสบได้ ก็จะใช้บรรเทาอาการปวดได้

กลุ่มที่ 3 ที่มีการศึกษาวิจัยก็คือ ในตัวกัญชามีสารกระตุ้นที่ทำให้อยากอาหาร เมื่อมีอาการนี้ก็ทำให้อยากอาหารมากขึ้น น้ำหนักตัวขึ้น อันนี้นำไปใช้ในกลุ่มคนที่เป็นมะเร็งและได้รับยาเคมีบำบัด ที่ลิ้นจะรับรสชาติไม่ดี ไม่อยากกินอาหารอันนี้ก็ช่วยได้ หรืออีกกลุ่มที่คนไข้ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น คนไข้เอดส์ที่อยากอาหารได้น้อยลงก็จะใช้กัญชาเป็นตัวช่วย

แล้วกลุ่มที่ 4 ที่เอามาวิจัยอยู่ก็คือจะเป็นเรื่องของการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งจะมีมะเร็งหลายๆ ชนิดที่เราวิจัยอยู่

• ทีนี้ให้อาจารย์ช่วยอธิบายในการทำงานของสารดังกล่าวในแง่วิชาการหน่อยครับ

เริ่มจากในตัวเราก่อน จริงๆ มันมีสารที่คล้ายๆ กัญชาอยู่ในร่างกายมนุษย์ สารตัวนี้มีชื่อว่า Endocannabinoids ซึ่งมันก็จะมีหลายๆ ตัวในร่างกายเรา แต่ว่าอันนี้เป็นชื่อกลุ่มสาร สารตัวนี้ที่มีอยู่ในร่างกายเรา การออกฤทธิ์ของมันก็เหมือนกับกัญชาที่เรารับเข้าไป ทีนี้มันออกฤทธิ์ยังไง มันออกฤทธิ์ด้วยการไปจับกับตัวรับ ที่เราเรียกว่า Receptors อยู่ในร่างกายเรา ถ้าสำหรับสารตัวนี้ในกัญชามันมีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกเราเรียกว่า CB1 ชนิดที่ 2 เราเรียกว่า CB2

CB ก็คือ Cannabinoilds มี 2 ชนิด ซึ่งชนิดแรกจะพบมากในสมอง ส่วนชนิดที่สองจะพบมากในภูมิคุ้มกัน เพราะฉะนั้น ถ้าให้อธิบายว่ากัญชาเข้าไปในร่างกายแล้ว ไปมีผลกับสมองยังไง กัญชากับตัว Cannabinoilds จะไปที่ตัวรับของ CB1 ที่สมอง เมื่อจับเสร็จปุ๊บ มันก็จะไปทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทมากขึ้น ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าว จะไปมีผลต่อจิตประสาท อย่างเช่นอาการประสาทหลอน เห็นภาพหลอน หูแว่ว การรับรู้ผิดปกติไป หรือเกิดอาการเคลิบเคลิ้ม อันนี้เป็นอาการจิตประสาทที่เราใช้กัญชา ถ้าใช้ไปนานๆ อาการก็จะมากขึ้น จะเห็นว่าคนที่ติดกัญชาก็จะมีอาการซึมเศร้าหรือประสาทหลอน อันนี้ในแง่ของกัญชาที่มีผลต่อจิตประสาท

อีกแง่หนึ่งในเรื่องของการออกฤทธิ์ที่เป็นการต้านมะเร็ง เมื่อเราให้เข้าไปแล้ว ตัวเซลล์ก็จะมีตัวรับอยู่ที่ผิวเซลล์เหมือนกัน ซึ่งอยู่ที่ว่าจะแสดงออกตัวไหน อย่างที่งานวิจัยที่ทำมันก็จะแสดงออกตัวที่ 2 สมมติว่ามันอยู่ที่ตัวผิวเซลล์ CB2 ถ้าให้กัญชาเข้าไป มันก็จะเข้ากับตัวรับพอดี พอจับเสร็จปุ๊บ ข้างในเซลล์มันก็จะมีนิวเคลียสให้มีการสังเคราะห์โปรตีนออกมา ซึ่งโปรตีนเหล่านี้ทำให้มีผลตามมา คือถ้ามีผลต่อเซลล์มะเร็ง มันจะไปลดการเจริญเติบโตของเซลล์ ไปเพิ่มการตายของเซลล์มะเร็ง หรือไปลดการลุกลามของเซลล์ อันนี้เป็นกลไกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เป็นผลต่อมะเร็ง

• สองปีที่ทำวิจัยมา อยากให้อาจารย์เล่าระหว่างทางจากการทดลองคร่าวๆ ตรงนั้นหน่อยครับ

อย่างเริ่มต้นเลยค่ะ อย่างที่บอกว่าในร่างกายมนุษย์มีตัวรับ สารมันจะออกฤทธิ์ได้ มันจะต้องไปที่ตัวรับ เราเริ่มต้นก็เลยมาดูว่า ในเซลล์มะเร็งที่เราจะทำการทดลองมันมีตัวรับเหล่านี้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นว่า ตัวอย่างที่เราเห็นส่วนใหญ่มันจะเป็น CB2 มี CB1 อยู่นิดเดียว เราก็เลยสรุปว่า ในมะเร็งของเราส่วนใหญ่จะมีชนิด CB2 หลังจากนั้น เราก็ไปทดสอบความเข้มข้นต่างๆ ว่าจะมีผลทำให้เซลล์มะเร็งตายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอันนี้เรามี 2 เซลล์ไลน์ ที่มาจากผู้ป่วยคนละคน ก็ไปทดสอบ พบว่าความเข้มข้น 40 ถึง 100 ไมโครโมล ก็ทำให้เซลล์มะเร็งมันลดลง แต่ถ้าน้อยกว่า 40 ผลมันไม่แตกต่าง หลังจากนั้น เมื่อเราพบตรงนี้แล้ว เมื่อรู้ว่าทำให้เซลล์ตาย กระบวนการที่ทำให้เซลล์ตายมันมีหลายแบบ แล้วเรามาดูว่านิวเคลียสที่อยู่ในนั้นมันถูกทำลายหรือเปล่า ก็พบว่า ด้วยความเข้มข้น 40 จนถึง 100 ไมโครโมล ก็จะเป็นแบบเดียวกันคือไปทำลายที่ดีเอ็นเอก็เป็นส่วนที่อยู่ในนิวเคลียส เมื่อดีเอ็นเอถูกทำลาย เซลล์ก็ต้องถูกทำลายตาม หลังจากนั้น เราก็เอามาทดสอบ

ทีนี้ นอกจากการตายที่ไปทำลายดีเอ็นเอแล้ว เราก็ไปทำการทดสอบต่อ ก็พบว่า ที่ความเข้มข้นเหมือนเดิม 40-100 ไมโครโมล ทำให้เซลล์ตายแบบดังกล่าวเพิ่มขึ้น ก็เป็นการยืนยันแล้วว่า เซลล์มะเร็งมันตายจริงๆ หลังจากนั้นเราก็เอามาดู อันนี้ก็คล้ายๆ กัน ก็คือว่าเมื่อเราเห็นการตายของสิ่งนี้แล้ว เราก็นับจำนวน ก็มาทำเป็นกราฟ ก็เห็นว่าจำนวนเซลล์ที่ตายในลักษณะนั้น มันเพิ่มจำนวนเยอะจริงๆ ด้วยความเข้มข้น 40 ถึง 100 ไมโครโมล อันนี้คือเป็นการคำนวณว่า สารเราไปทำให้เซลล์ตายด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งเป็นการสรุปให้จากการที่ทำให้เซลล์ตาย ส่วนอย่างที่บอกว่า ความเข้มข้นต่ำ จะไปลดการลุกลามของเซลล์ แล้วก็ถ่ายรูปเซลล์เปรียบเทียบว่า ก่อนให้และหลังให้ยา

คือเวลาเซลล์ที่มันจะลุกลามตัวมันจะยืดไปสู่อวัยวะข้างเคียง ปกติตัวเซลล์มันจะเป็นเซลล์กลมๆ ที่ผิวของภาชนะ เวลาที่มันจะเคลื่อนย้ายตัวมันเอง มันก็พยายามจะยืดตัวมันเพื่อขยับไปเรื่อยๆ แล้วในสภาวะปกติ มันก็ยืดแขนขาไปได้ แต่พอให้ยาไปแล้ว ลักษณะแขนขามันจะมีน้อยลง มันก็จะไม่เคลื่อนที่ไป หรือเคลื่อนที่ไปได้น้อยกว่าตัวของมัน แล้วเราก็เอามาวัดเป็นตัวเลขค่ะ ว่าถ้าเราให้ยาไปแล้ว จำนวนเซลล์ที่มันจะสามารถข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง มันไปได้กี่ตัว เป็นการสรุปว่ามันสามารถลดการลุกลามได้จริงๆ เราก็พบว่า ด้วยความเข้มข้นที่ 20 ไมโครโมล จำนวนเซลล์ที่ลุกลามไปได้มันจะน้อยลง

อีกอันหนึ่งก็คือเซลล์มะเร็งเนี่ย ตัวมันจะมีคุณสมบัติพิเศษ ที่เซลล์ปกติไม่มีคือ ปกติถ้าเซลล์มันจะล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดและน้ำเหลือง มันจะเจริญเติบโตต่อไม่ได้ แต่เซลล์มะเร็งมันล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด สามารถที่จะเจริญเติบโตและไปฝังตัวมันที่อวัยวะอื่นได้ ซึ่งทำให้เกิดการลุกลามแพร่กระจายไปยังเซลล์อวัยวะอื่นได้ เราก็เลยมีการทดสอบด้วยว่า ถ้าทำให้มันล่องลอยอยู่ในอาหารเลี้ยงเซลล์แล้ว ใส่ยาเข้าไปแล้ว การล่องลอยของมันจะมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งมันก็ไปลดผลของตรงนี้ได้ด้วย

ฉะนั้น ก็มีการยืนยันว่า นอกจากจะเป็นการลุกลามไปได้น้อยลงแล้ว จำนวนเซลล์ที่ล่องลอยอยู่ก็น้อยลงไปด้วย ตรงนี้เราเลยสรุปเป็นผลการทดลอง 2 แง่ใหญ่ๆ คือว่า ที่ความเข้มข้น 20 ไมโครโมล สามารถลดการลุกลามของเซลล์มะเร็ง ขณะที่ความเข้มข้น 100 ไมโครโมล สามารถลดจำนวนเซลล์มะเร็งได้ค่ะ

• ซึ่งถือว่ามาสอดคล้องกับงานวิจัยของอาจารย์พอดี

สำหรับงานวิจัยของเราคือเป็นการใช้สาร THC เลยค่ะ เอาสารนั้นมาทดสอบกับเซลล์มะเร็งทางเดินน้ำดี โดยมะเร็งนี้ก็เป็นมะเร็งตับชนิดหนึ่งซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีอัตราการตายจากโรคนี้ค่อนข้างสูง เพราะว่าคนไข้จะมาหาหมอก็ต่อเมื่อมีอาการ ซึ่งคำนี้มันจะตรวจพบก็ต่อเมื่อมันอยู่ในระยะท้ายๆ แล้ว เพราะฉะนั้นมาถึงก็ทำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว เราก็เลยมองว่า คนไทยก็เป็นค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นจากการทานปลาดิบ มีไข่พยาธิอยู่จากปลาร้า ซึ่งประเทศไทยก็เป็นค่อนข้างเยอะ เราก็เลยสนใจที่จะทำตัวนี้

พอเอาสารมาใส่กับมะเร็งปุ๊บ เราก็พบว่า สารที่เข้มข้นไม่มากนัก แต่มันไปลดการลุกลามของเซลส์มะเร็งในทางเดินน้ำดีได้ ต่อมาเราก็ทดลองเพิ่มความเข้มข้นที่มากขึ้นของ THC ไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ เราก็มองว่า มีงานวิจัยที่มาสนับสนุนว่ามันฆ่าเซลล์ด้วยวิธีการอะไร เป็นรายละเอียดตรงนั้น ก็โดยสรุปว่า THC ความข้นต่ำ ลดการลุกลามของเซลล์มะเร็งที่ความเข้มข้นสูงขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ก็จะไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ เราก็เลยมองว่า ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ในเรื่องของการนำไปศึกษาต่อในการทดลองในสัตว์ทดลองนะคะว่า จะสามารถลดในเรื่องของก้อนมะเร็งได้หรือเปล่า

• สรุปคือ มันเป็นการตัดตอนทั้งจุดที่เป็นแล้ว และไปสกัดให้น้อยลงไป

เราทำเพื่อเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของเซลล์มันเองด้วย ว่าเวลาที่มันทำให้เกิดโรคแล้ว มันทำให้เกิดโรคอะไรบ้าง แต่ถามว่าตรงนี้มันก็เป็นในหลอดทดลองนะคะ ซึ่งคุณสมบัติปกติของเซลล์ตัวนี้คือ จะไปเกาะที่ผนังภาชนะที่เลี้ยงเซลล์ แต่เราไปทำให้มันล่องลอย เพื่อเลียนแบบว่า สามารถที่จะลุกลามไปได้มั้ย แต่ถ้าเอาไปใช้ในสัตว์ทดลองหรือว่าคนแล้วจะทดลองได้ผลหรือเปล่า มันยังบอกไม่ได้

• คิดว่าเพราะอะไรที่งานวิจัยในบ้านเรามักจะยังไม่มี นอกจากงานของอาจารย์แค่ชิ้นเดียว

จริงๆ ทำสมุนไพรมาค่อนข้างเยอะ แต่ว่ากัญชามันไม่เหมือนสมุนไพรทั่วไปที่เราจะหยิบมาทำได้ เพราะว่ามีกฎหมายครอบคลุม เพราะฉะนั้น การที่ใครจะเอามาทำอะไรตรงนี้เนี่ย อย่างที่ทราบกันว่า มันมีข้อจำกัดของมัน ก็เลยทำให้การที่เราจะเอามาทำ ถ้ามันไม่ถูกขั้นตอนจริงๆ แล้ว มันยากที่จะทำ ก็เลยมีงานวิจัยน้อย อย่าง เราพยายามทำเป็นทีมวิจัย แต่ว่าเราก็ยังต้องขออนุญาตอะไรมากมาย มันก็เลยช้าไป

• แน่นอนว่า ตอนนี้คนเริ่มเห็นคุณค่าของกัญชาแล้ว อาจารย์คิดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนเริ่มเปิดใจกับกัญชาแล้ว

น่าจะเป็นในเรื่องผลการวิจัยที่ออกมามีผลในเรื่องของการแพทย์ที่จะเอามาใช้ได้ เพราะว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่คนเป็นค่อนข้างเยอะ แล้วความเสี่ยงก็มีเยอะ ซึ่งถ้าเป็นแล้ว ส่วนใหญ่นี่คือจะไม่หาย คือเป็นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียชีวิต เพราะฉะนั้น คนก็เลยมาสนใจว่า มีผลต่อมะเร็ง ก็เลยอาจจะปรับเปลี่ยนทัศนคติคนทั่วไปได้ ส่วนปัจจัยอื่น น่าจะมองในเรื่องทางการแพทย์เป็นหลัก แต่ยังไงก็ตาม ความคิดส่วนตัวก็คือว่า ถ้ามันมีผลในทางการแพทย์จริง แต่ว่ามันมีอาการข้างเคียงอย่างที่บอก

เพราะฉะนั้น การที่เราจะเอามาใช้ หรือแม้กระทั่งชาวบ้านที่จะใช้เอง อยากจะให้หาข้อมูลที่ชัดเจนก่อนเอามาใช้ เพราะว่าโทษของมันก็ชัดเจนแล้วว่าคืออะไร มันไม่เหมือนสมุนไพรอื่นๆ ที่ผลข้างเคียงอาจจะแค่คลื่นไส้ เวียนศีรษะ แต่อันนี้ไม่ใช่ ซึ่งถ้าใช้ไปนานๆ อาการข้างเคียงเยอะขึ้นด้วย คือจะมีผลต่อระบบประสาท จะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน เพราะตัวสาร THC ซึ่งเป็นสารหลักจะทำให้เกิดผลตรงนี้ ซึ่งถ้าได้รับเข้าไปเยอะๆ อาจจะมีอาการหูแว่ว ได้ยินเสียงแปลกๆ โดยถ้าเสพแรกๆ อาจมีอาการสนุกสนานรื่นเริงได้ แต่พอนานๆ ไป อาจจะเกิดอาการเซื่องซึมประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา ซึ่งถ้านานๆ ไปจริงๆ อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือจิตเภทได้ค่ะ

• ความคาดหวังของงานวิจัย ในมุมมองของอาจารย์ที่อยากจะให้เกิดขึ้น

ในมุมมองของตัวเองนะคะ อย่างที่เรียนว่ามีกฎหมายควบคุม เราก็มองว่า ในฐานะนักวิจัย ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้มีการปลดล็อกที่พันธนาการไว้ตรงนี้ อาจจะปลดเพื่อทำการวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งถ้าทำได้แล้ว อย่างที่เรียนว่า เราพยายามทำงานเป็นกลุ่มทีมวิจัย เรามองว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่เป็นทีมวิจัยกัญชาเป็นรูปธรรม แล้วก็ทำวิจัยครบวงจร ทำทุกขั้นตอน ซึ่งถ้าได้ในรูปแบบนี้ น่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ในการรักษามะเร็ง เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยที่มีอยู่ ไม่ว่าจะในประเทศเราหรือต่างประเทศเอง อันนี้คือคาดหวังสูงสุด
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช

กำลังโหลดความคิดเห็น