xs
xsm
sm
md
lg

กัญชา กัญชง : พืชมหัศจรรย์ที่เราถูกล้างสมองและปล้น

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อสามปีก่อนผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับกัญชาจำนวน 2 ชิ้น คือ “กัญชาช่วยรักษามะเร็ง : ข่าวที่ถูกเซนเซอร์ที่สุดแห่งศตวรรษ” และ “กัญชาช่วยรักษามะเร็ง : บางมุมจากวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์” ซึ่งได้รวมเล่มไว้ในหนังสือชื่อ “หนึ่งล้างสมองสองปล้น : รหัสลับแผนพัฒนาใต้เงาโลกาภิวัตน์”, 2557 แล้ว

แรงบันดาลใจในการเขียนครั้งนั้นเกิดจากลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดเหมือนเพื่อนคนหนึ่งของผมได้ป่วยเป็นมะเร็งในโพรงจมูก เขาปฏิเสธการฉายแสง แต่เขาเลือกใช้วิธีรักษาด้วยตนเองด้วยสมุนไพรหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือกัญชาซึ่งเขาได้ความรู้และวิธีการกลั่นเป็นตัวยาจากอินเทอร์เน็ต

ผมได้ไปเยี่ยมเขาหลายครั้ง บางวันแก้มข้างหนึ่งมีอาการบวม แดง แข็ง ถ้าช่วงไหนได้ทาและกินกัญชาที่กลั่นเอง (มีลักษณะเหมือนยาสีฟันสีดำ ใส่ในหลอดฉีดยา) อาการบวมจะยุบลงอย่างชัดเจน ไม่มีน้ำมูกให้เห็น ไม่มีอาการปวด ทานอาหารได้ แต่ถ้าช่วงไหนยาหมด อาการก็กำเริบ สิ่งที่ผมยังจำได้ติดตาก็คือ กระดาษทิชชูเช็ดน้ำมูกเต็มตะกร้า เพื่อนๆ ได้พยายามหาวัตถุดิบมาเสริม แต่ก็ไม่สามารถทำได้ตลอดเพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในที่สุดเขาก็เสียชีวิตในเวลานานร่วมปี

ก่อนหน้านี้เขาเคยเล่าให้ผมฟังว่า เด็กบราซิลคนหนึ่งเป็นเนื้องอกในสมอง มีอาการปวดหัวมากแพทย์หมดหนทางรักษา พ่อของเด็กทนดูความเจ็บปวดไม่ได้จึงให้ลูกกินกัญชา ในที่สุดเนื้องอกหายเป็นปกติครับ

มาวันนี้ (30 สิงหาคม 2558) ผมได้รับเชิญจากอาจารย์ท่านหนึ่งให้ไปร่วมเสวนาเรื่อง “คุยแบบ No Drama เสรีภาพกัญชาควรอยู่ตรงไหน?” ผมใช้เวลา 7 วันเต็มเพื่อศึกษาค้นคว้าในเรื่องเดิม ผมได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นเยอะครับ จึงได้สรุปมาเป็นชื่อบทความนี้ว่า กัญชา กัญชง “พืชมหัศจรรย์” ที่เราถูก “หนึ่งล้างสมองสองปล้น” ผมจะค่อยๆ เล่าในรายละเอียดที่สำคัญเป็นข้อๆ

หนึ่ง พันธุกรรม และการใช้ประโยชน์

ทั้งกัญชากับกัญชงเป็นพืชในตระกูลเดียวกันที่เรียกว่า Cannabis แต่มีตระกูลย่อยต่างกัน ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้ กัญชา เป็น Cannabis Indica ในภาษาอังกฤษมักเรียกว่า Marijuana ในขณะที่กัญชงเรียกว่า Cannabis Sativa ในภาษาอังกฤษนิยมเรียกว่า Hemp

งานวิจัยซึ่งใช้เวลานานถึง 12 ปี ของนักวิชาการมหาวิทยาลัยมินเนโซตา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน New Phytologist, 2015 ระบุว่า ความแตกต่างทางพันธุกรรมของพืชสองชนิดนี้ขึ้นอยู่กับความมีศักยภาพของสารสำหรับการกระตุ้นจิต (Psychoactivity) ซึ่งกัญชาจะมีสารดังกล่าวสูงกว่ากัญชง

ถ้าแบ่งการใช้ประโยชน์ออกเป็นสองหมวด คือ ยารักษาโรค กับการใช้สอย พบว่า กัญชาใช้รักษาโรคสำคัญกว่า 100 ชนิด ซึ่งได้แก่ โรคมะเร็ง ลมบ้าหมู กล้ามเนื้อหดเกร็ง โรคต้อหิน คลื่นไส้ โรคเกาต์ลดความเจ็บปวด สมานกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรง เป็นต้น แพทย์ท่านหนึ่งบอกว่าแทนที่เราจะให้ยา 5 เม็ดสำหรับ 5 โรค ถ้าใช้กัญชาก็แค่เม็ดเดียว

ในด้านการใช้สอย เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากคือในกัญชง (Hemp) มีสารเกือบทุกชนิดที่ได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ พลาสติก อิฐก่อสร้าง ฉนวนกันความร้อนสำหรับบ้าน กระดาษ สีเคลือบ ขัดมัน สีทาไม้ เสื้อผ้า (ไม่ขึ้นรา) รวมการใช้สอยกว่า 2 หมื่นรายการ รวมทั้งสามารถนำไปทำเป็นไบโอดีเซลได้ด้วย

ด้วยเหตุผลในด้านการใช้ประโยชน์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงไม่แปลกใจที่กัญชาและกัญชงที่โตได้ง่ายในเกือบทุกพื้นที่ ไม่ต้องใช้ปุ๋ย โตเร็ว ใช้น้ำน้อย จึงได้กลายเป็นพืชต้องห้ามและห้ามมีไว้ในครอบครองไปเกือบทั่วโลกเพียงเพราะพืชทั้งสองซึ่งมีพันธุกรรมที่เสมือนเป็นลูกพี่ลูกน้องกันนี้ตัวหนึ่งทำหน้าที่เป็นโรงงานยา ในขณะที่อีกตัวหนึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งไม่มีการผูกขาดเหมือนกับในปัจจุบันนี้

เนื่องจากเนื้อหาของเรื่องนี้กว้างและมีหลายประเด็นมาก ผมจึงขอลำดับเรื่องด้วยการนำคำสารภาพของศัลยแพทย์ทางระบบประสาทชาวอเมริกันท่านหนึ่ง มาเล่าสู่กันฟัง เพราะเขาได้ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการทางวิชาการที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งผมได้สรุปแล้วว่ามันคือกระบวนการล้างสมองแล้วก็ปล้นเอาสิทธิในการใช้ทรัพยากรที่ธรรมชาติได้จัดสรรมาให้มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม รวมถึงพลังงานหมุนเวียนที่ผมเกาะติดด้วย

สอง คำสารภาพของศัลยแพทย์ทางระบบประสาท นายแพทย์ Sanjay Gupta (วัย 46)

นายแพทย์ Sanjay Gupta นอกจากจะเป็นแพทย์แล้ว เขาได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้สื่อข่าวด้านการแพทย์ของสำนักข่าว CNN และทำสารคดีเกี่ยวกับกัญชาด้วย นอกจากนี้ยังเขาได้เขียนบทความคัดค้านการแก้กฎหมายเพื่อให้กัญชาสามารถเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในการรักษาทางการแพทย์ แต่ในเดือนสิงหาคม 2556 เขาได้เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนการใช้กัญชาและขอโทษกับประชาชน

เรื่องราวที่เขานำมาเปิดเผยมันได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องในกระบวนการหรือกลไกของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งผมจะค่อยๆ เรียบเรียงให้เป็นเป็นลำดับ

จากบทความเรื่อง “Why I Changed my Mind on Weed (ทำไมผมจึงเปลี่ยนใจเรื่องกัญชา)” (9 สิงหาคม 2556, (http://edition.cnn.com) เขาเขียนว่า

“ผมมีความเชื่ออย่างผิดๆว่า หน่วยงานการบังคับใช้ด้านยาเสพติด (Drug Enforcement Agency-DFA) ได้ขึ้นบัญชีให้กัญชาเป็นสารในประเภทที่ 1 เพราะว่ามีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ดี มั่นใจว่าเขาต้องมีการให้เหตุผลที่มีคุณภาพว่าทำไมกัญชาจึงได้ถูกจัดให้อยู่ในประเภทยาเสพติดที่อันตรายที่สุดซึ่งคือ “ไม่มีการยอมรับว่ามีการใช้ทางการแพทย์มาก่อน และมีศักยภาพสูงในการใช้ในทางที่ผิด และไม่ปลอดภัยในการใช้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์””

เขาได้เปิดเผยต่อไปว่า “DEA ไม่ได้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนข้ออ้างที่ว่าเป็นอันตรายที่สุดดังกล่าว และเดี๋ยวนี้ผมรู้แล้วว่า เมื่อเกี่ยวกับกัญชาไม่มีสิ่งใดเป็นจริงเลย มันไม่ได้มีศักยภาพสูงที่จะใช้ในทางที่ผิด และมีเหตุผลที่ถูกต้องอย่างมากที่นำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์”

ในตอนต่อมาเขาได้สรุปว่า “เราได้ถูกชี้นำอย่างชั่วร้ายและเป็นระบบมายาวนานเกือบ 70 ปีในประเทศสหรัฐอเมริกา และผมขอโทษสำหรับในบทบาทที่ตัวผมเองได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย”

เขาได้ขยายความคำขอโทษต่อไปว่า “ขอโทษที่ผมไม่ได้พิจารณาให้มากพอ ไม่ได้มองไกลพอ ไม่ได้ทบทวนบทความจากห้องทดลองเล็กๆ ในประเทศอื่นๆ ที่เป็นงานวิจัยที่เด่น และผมไม่ได้สนใจเสียงอันดังและมีเหตุผลที่ถูกต้องของผู้ป่วยซึ่งมีอาการดีขึ้นจากการใช้กัญชา จริงๆ แล้ว ในบางครั้ง กัญชาเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ใช้ได้ผล” ประเด็นที่ผมอยากจะให้ผู้อ่านสังเกตก็คือ ในการกำหนดประเภทของยาเสพติดของสหรัฐอเมริกาเขามีเหตุผลประกอบ เช่นในประเภทที่ 1 ซึ่งถือเป็นประเภทที่มีอันตรายสูงสุดในบรรดาทั้งหมด 5 ประเภท โดยเงื่อนไขของประเภทที่ 1 มี 3 ประการคือ (ก) ไม่มีการยอมรับว่ามีการใช้ทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา (ข) มีศักยภาพสูงในการใช้ในทางที่ผิด และ (ค) ไม่ปลอดภัยในการใช้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

ประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ มีการยอมรับกันหรือไม่ว่าการใช้กัญชาในทางการแพทย์นั้นมีอยู่จริง เรื่องนี้มีหลักฐานมากมายว่ามนุษย์ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มานานกว่า 4 พันปี ในจีนโบราณ อียิปต์ อินเดีย และกรีซ สำหรับในสหรัฐอเมริกาเองก็ได้มีการใช้ในปี ค.ศ. 1850 เพื่อลดการปวดของกรรมกร การคลื่นไส้ และรูมาติซึม ดังนั้น หากมีการพิจารณากันตามเงื่อนไขนี้ กัญชาก็ควรถูกจัดอยู่ในประเภท 2 ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับโคเคน ไม่ใช่ประเภทที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับเฮโรอีน

นายแพทย์ Sanjay Gupta ได้เล่าต่อไปว่า เขาได้เดินทางไปทั่วโลก ได้คุยกับผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษาโรค ได้ตั้งคำถามแรงๆ บางครั้งถึงกับตกตลึงโดยเฉพาะกับกรณีเด็กหญิง Charlotte Figi ซึ่งเป็นโรคชักมาตั้งแต่อายุได้ 3 เดือน โดยชักประมาณ 300 ครั้งต่อสัปดาห์จนสูญเสียความสามารถในการเดิน พูดและกิน หมอได้แนะนำให้ใช้วิธีทางการแพทย์ช่วยให้เด็กอยู่ในสภาพโคม่าเพื่อให้ร่างกายน้อยๆ ที่บอบช้ำได้พักผ่อน

พ่อของหนูน้อยได้ทราบเรื่องทำนองเดียวกันนี้ในออนไลน์ซึ่งพบว่าการรักษาด้วยกัญชาสามารถช่วยเด็กชายคนหนึ่งได้ ครอบครัวนี้จึงลองทำบ้าง ต่อมาเขาพบว่ามีคนบางกลุ่มสามารถผสมให้กัญชาที่สารบางตัวลดลงและบางตัวเพิ่มขึ้นได้ ในตอนแรกที่ใช้กัญชารักษาอาการชักหยุดไปนานถึง 7 วัน ปัจจุบัน Charlotte ชักเพียง 2 ถึง 3 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น เธอเกือบจะสามารถนอนได้ตามลำพังคนเดียว เธอเดินได้ และตักอาหารกินเองได้และมากขึ้นทุกวัน แม่ของเธอกล่าวว่า “ฉันรับรู้ได้ว่าสมองของลูกได้เชื่อมต่อกันซึ่งไม่ได้เป็นมานานนับปีแล้ว ฉันต้องการให้คนอื่นได้รู้ ให้พ่อแม่คนอื่นๆ ได้รับรู้ว่านี่เป็นทางเลือกที่มีอยู่”

ผมได้นำเรื่องกัญชามาเขียนเมื่อ 3 ปีก่อนก็ด้วยเหตุผลเดียวกันกับแม่ของเจ้าหนูน้อยคนนี้แหละครับ คือนำเรื่องที่เห็นกับตามาเล่าต่อ มาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้สังคมได้ฉุกคิด ได้ช่วยกันผลักดัน ผมได้เลือกรูปของเธอซึ่งได้จากเว็บไซต์ของ CNN มาใส่ให้ดูด้วยครับ

สาม เส้นเวลาของกัญชาในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย

ปี 2454 รัฐแมสซาชูเซตส์เป็นรัฐแรกที่มีการกำหนดให้กัญชาเป็นพืชที่ผิดกฎหมาย ต่อมาในปี 2474 ได้มีการกำหนดให้ผิดกฎหมายจำนวน 29 รัฐและเพิ่มเป็นทั่วทั้งประเทศในปี 2480

เหตุผลสำคัญในการกระทำดังกล่าวเนื่องจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีคนตกงานจำนวนมาก และมีชาวเม็กซิกันอพยพเข้าเมืองเป็นจำนวนมากซึ่งเชื่อกันว่าคนเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในปี 2473 ทบวงยาเสพติดของสหรัฐฯ (Federal Bureau of Narcotics, FBN) จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้น แล้วทำการรณรงค์ต่อต้านกัญชา โดยผู้อยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกนานถึง 32 ปี เว็บไซต์วิกิพีเดียมีโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ ผมเห็นแล้วทำให้นึกถึงการโฆษณาต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย จึงได้นำสองรูปมาเปรียบเทียบกัน (กรณีถ่านหินสะอาดก็เช่นเดียวกัน)

โปรดสังเกตข้อความในแผ่นโปสเตอร์นะครับว่า เขาใช้คำว่า “Killer Drug” โดยไม่มีการอ้างอิงเหตุผลหรืออ้างอิงข้อมูลใดๆ และไม่มีคำว่า Cannabis หรือ Hemp แต่ใช้คำว่า Marijuana แทน

วิกิพีเดียยังได้ระบุอีกว่า การโฆษณาชิ้นนี้ได้ผ่านทางสื่อที่ถูกเรียกว่าเป็น “Yellow Jounalism” (หมายถึงสื่อหนังสือพิมพ์ที่ไม่มีคุณภาพ) โดยเจ้าของคนเดียวแต่มีสื่อถึง 28 ฉบับ

ปี 2484 มีการอนุญาตให้ปลูกกัญชง (Hemp) ขึ้นมาใหม่ เพื่อนำมาทำเชือกป้อนให้ทหารในช่วงสงครามโลก แล้วห้ามใหม่ในอีก 4 ปีต่อมา

ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติกัญชาในปี 2477 แล้วได้ถูกยกเลิกไปในปี 2522 โดยมีพระราชบัญญัติยาเสพติดขึ้นมาแทน โดยจัดให้กัญชา (ซึ่งก็รวมกัญชงเข้าไปด้วย) อยู่ในประเภทที่ 5 กลุ่มเดียวกับกระท่อม ฝิ่น และเห็ดขี้ควาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539)

ต้นปี 2556 กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้ถอนกัญชงออกจากบัญชีแล้วให้เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในเดือนพฤศจิกายน 2556 ปัจจุบันผมไม่แน่ใจว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว

สี่ การเคลื่อนไหวให้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาในสหรัฐอเมริกา

ปี 2512 ได้มีการเคลื่อนไหวให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยกลุ่ม Beat Generation โดยรัฐแรกที่สำเร็จคือรัฐออริกอนในปี 2516 โดยไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรม

กราฟข้างล่างนี้เป็นผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันต่อเรื่องกัญชาในช่วงปี 2512 ถึง 2556 พบว่าในช่วงแรกมีผู้เห็นด้วยเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น แต่ในปี 2557 มีจำนวนผู้เห็นด้วยถึงร้อยละ 58 ในขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยร้อยละ 39

นายแพทย์ Sanjay Gupta ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในวงการวิจัยว่า โจทย์วิจัยเกี่ยวกับกัญชาในสหรัฐอเมริกาส่วนมากจะตั้งไปในทำนองว่าจะมีผลเสียอย่างไร มีเพียงประมาณร้อยละ 6 เท่านั้นที่ตั้งโจทย์ว่าจะมีผลดีอย่างไร

นายแพทย์ผู้นี้ยังได้อ้างวิกิพีเดียอีกว่า ในปี 2513 มีความพยายามจะแก้กฎหมายเพื่อลดโทษกัญชาจากรุนแรงมาเป็นลหุโทษ ปรากฏว่า Roger Olaf Egeberg ผู้ช่วยเลขาธิการกิจการวิทยาศาสตร์และสุขภาพ ในกรมสุขภาพได้ให้ความเห็นว่า

“เพราะว่าขณะนี้ยังมีช่องว่างในความรู้ของเราต่อพืชและฤทธิ์สารเสพติดในพืช จึงขอแนะนำว่ากัญชายังต้องจัดอยู่ในประเภทที่ 1 ไปก่อนจนกว่างานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่เสร็จสมบูรณ์” ทั้งๆ ที่ในปี 2488 ผลงานวิจัยของ New York Academy of Medicine ได้สรุปว่า “กัญชาไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรง”

จากการเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างยาวนาน ปัจจุบันมี 24 รัฐได้อนุญาตให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายด้วยเงื่อนไขต่างๆ กัน เช่นที่รัฐโคโรราโด (ซึ่งชนะเสียงโหวต 54% เมื่อปี 2543) อนุญาตให้ปัจเจกปลูกได้ไม่เกิน 6 ต้น ในจำนวนนี้ต้องมีต้นโตไม่เกิน 3 ต้น ขายได้แต่ต้องมีใบอนุญาต และสามารถขนส่งได้ไม่เกิน 28 กรัม (http://medicalmarijuana.procon.org)

ผมนำรายชื่อของรัฐและปีที่มีการผ่านกฎหมายกัญชาทางการแพทย์มาให้ดูเพื่อเป็นกำลังใจด้วยครับ

ห้า ข้อกังวลบางประการกับงานวิชาการเพิ่มเติม

(1) มีความกังวลว่า หากมีกฎหมายให้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้แล้วจะทำให้วัยรุ่นหันมาใช้กัญชามากขึ้นผลงานวิจัยที่สนับสนุนโดย NIH ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายนนี้ (THELANCETPSYCH-D-15-00161R1) พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งระบุว่า กลุ่มวัยรุ่นจะเสพกัญชามาก แต่จะลดลงต่ำสุดเมื่ออายุมากขึ้น ในขณะที่แอลกอฮอล์จะมีการเสพมากขึ้นในกลุ่มที่มีอายุมากขึ้น

(2) ติดกัญชาแล้วเลิกยากและเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ผลงานวิจัยพบดังรายละเอียดในแผ่นภาพ

(3) งบในการปราบปรามและผลสัมฤทธิ์จากข้อมูลใน Drug Sense (http://www.drugsense.org/cms/wodclock) พบว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึง 28 สิงหาคม2558 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้เงินในการปราบปรามยาเสพติดไปแล้ว 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์จับกุมได้ 1.104 ล้านคนในจำนวนนี้เป็นกรณีกัญชา 52% (89% เกิดจากการครอบครอง) มีคนติดคุก 7,181 คน เมื่อคดีถึงศาลมีเพียง 25% ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด

หก สรุป

ผมอยากตั้งคำถามเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า ถ้ายาบ้าซึ่งเป็นอันตรายและซื้อขายกันอย่างผิดกฎหมายในราคาเม็ดละ 200 ถึง 300 บาท ถ้าเราอนุญาตให้ขายกันในร้านขายยาทั่วไปในราคา 3 เม็ดบาท จะมีคนค้าขายและซื้อที่อื่นอีกไหม จะต้องเสียงบประมาณจำนวนมากมาปราบปราม มาฆ่ากันไหม ผู้เสพจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไหม เรื่องกัญชาสำหรับเสพก็น่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน

สำหรับกัญชาในทางการแพทย์และกัญชงในทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเราได้ถูกกลุ่มทุนผูกขาดระดับโลกหลอกมาอย่างชั่วร้าย และเป็นระบบมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน สร้างความเหลื่อมล้ำ และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ถ้าเรายังคงมีนโยบายและกระทำแบบเดิมๆ บนเหตุผลของวันวาน (Yesterday’s Logic) แล้วละก็เป็นเรื่องยากที่ประเทศและโลกนี้จะมีสันติสุขได้
กำลังโหลดความคิดเห็น