อย. ย้ำไม่มียารักษามะเร็งจาก “กัญชา” เหตุยังไร้งานวิจัยในคน เผย แต่มีสรรพคุณในการบำบัดรักษาทางการแพทย์ ยันไม่ปิดกั้นการนำกัญชาใช้รักษาโรค ระบุอยู่ระหว่างแก้ กม. ให้นำกัญชาและสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา
ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีข่าวการใช้กัญชารักษาโรคมะเร็ง ว่า กัญชายังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ปัจจุบันยังไม่มียาจากกัญชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยทางวิชาการในคนยืนยันว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งได้
ภก.สมชาย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม อย. ตระหนักถึงประโยชน์ของกัญชาและสารสกัดจากกัญชาในการนำมาใช้ในการบำบัดรักษาทางการแพทย์ จึงเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เปิดให้สามารถนำกัญชารวมถึงสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาโรคได้ ตามคำสั่งของผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบการวิชาชีพการแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทย หรือผู้ประกอบการวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยระหว่างที่ อย. พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้จัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีการรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหลายฉบับบรรจุไว้เป็นร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับเดียว อย. จึงได้ส่งร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษที่มีการแก้ไขดังกล่าวให้ ป.ป.ส. เพื่อประกอบการจัดทำร่างประมวลกฎหมาย ซึ่งร่างประมวลกฎหมายนี้คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกับหลักการของร่างฯ เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
“ปัจจุบันมีการใช้กัญชาในทางการแพทย์ของต่างประเทศ โดยมีข้อบ่งใช้ของยา ได้แก่ บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการใช้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ รักษาภาวะปวดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง รักษาอาการปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ในการรักษาโรค ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย เช่น การศึกษาวิจัยในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น และในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่มีการรับรองให้มีการนำพืชกัญชามาใช้ ในการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในคนเพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัย ทั้งนี้ อย. ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนายาที่ดี มีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่เคยปิดกั้นความก้าวหน้าทางวิชาการแต่อย่างใด” ภก.สมชาย กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่