xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลา! ทบทวนกัญชาเพื่อการรักษาโรค / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ธรรมชาติบำบัด
ผู้เขียน : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นิตยสารฟรีก็อบปี้ Good Health & Well-Being ผู้จัดการสุดสัปดาห์

เป็นที่น่าสนใจอย่างที่เว็บไซต์ www.manager.co.th ในหัวข้อ กัญชารักษามะเร็ง!! เปิดประสบการณ์ลับ ผู้ป่วยมะเร็งตับ หมอบอกตายแน่ แต่กัญชาช่วยไว้ได้! ได้รายงานข่าวผู้ป่วยมะเร็งตับรายหนึ่งได้นำรายละเอียดผลการตรวจทางการแพทย์ ว่าภายหลังจากการใช้กัญชานั้นได้ทำให้มีอาการดีขึ้นและรอดชีวิตได้ ทั้งๆ ที่แพทย์แผนปัจจุบันแจ้งว่าไม่สามารถจะรักษาให้หายได้

ผลจากข่าวดังกล่าวทำให้มีผู้คนสนใจมากขึ้นถึงการใช้กัญชารักษาโรคมะเร็ง และเป็นความหวังของผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วย เพราะถ้ารัฐบาลไม่ใส่ใจในเรื่องนี้แล้วยังคงปล่อยให้กัญชายังจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดผิดกฎหมาย ก็จะเกิดกระบวนการแอบรักษาแบบผิดๆ ถูกๆ และเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ในที่สุด

เพราะความยากที่สุดของกรณีกัญชา ก็คือความขัดแย้ง 2 กระแสหลักสำคัญ คือกระแสหนึ่งเห็นโทษภัยในมิติเป็นยาเสพติดออกฤทธิ์หลอนประสาท ซึ่งตรงกันข้ามกับการรักษาโรคร้ายทั้งมะเร็งหลายชนิดอัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องถูกต่อต้านในกลุ่มแพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงบริษัทยาในวิธีการรักษาด้วยการใช้คีโมบำบัดหรือการฉายแสงที่อาจต้องสูญเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาลไปด้วย (หากเกิดกรณีที่น้ำมันกัญชาเพียงอย่างเดียวสามารถรักษาโรคมะเร็งได้)

อย่างไรก็ดี ตราบใดที่เรายังจัดให้เป็นกลุ่มยาเสพติดที่ผิดกฎหมายอย่างเดียว เราจะไม่มีโอกาสแม้กระทั่งวิจัย หรือติดตามผลผู้ป่วยที่ต้องหลบซ่อนเพราะผิดกฎหมายได้เลย ทั้งในมิติปริมาณที่ใช้ พันธุ์ที่ใช้ และส่วนที่นำไปใช้ ก็จะถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างของแพทย์และบริษัทยาที่เสียผลประโยชน์ นำมาใช้เป็นข้ออ้างโจมตีว่าแม้จะมีผลการวิจัยในสัตว์ทดลอง “แต่ไม่มีผลการวิจัยในมนุษย์” ในท้ายที่สุด

ซึ่งในบางมลรัฐของสหรัฐอเมริกาได้ให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายแล้ว และให้ประชาชนขึ้นทะเบียนปลูกได้จำกัดต่อครัวเรือน ในขณะเดียวกัน แคนาดาก็ให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายโดยต้องได้รับความยินยอมจากแพทย์ ในขณะที่จาไมก้าได้ยกระดับการปลูกกัญชาให้เป็นสมุนไพรเพื่อใช้ในทางการแพทย์แล้ว

ตัวอย่างกรณีศึกษาตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่ชื่อ Case Reports in Oncology ฉบับเดือนกันยายน -ธันวาคม พ.ศ.2556 ในหัวข้อ Cannabis Extract Treatment for Terminal Acute Lymphoblastic Leukemia with a Philadephia Chromosome Mutation ซึ่งรายงานโดย Yadvinder Singh และ Chamandeep Bali เป็นการรายงานของผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Acute Lymphoblastic Lukemia) อายุ 14 ปี ซึ่งได้ผ่านการรักษาตามแพทย์แผนปัจจุบันทั้งการคีโมบำบัดและการฉายแสงเป็นเวลา 34 เดือน “แต่ล้มเหลว”

เมื่อถึงทางตันแล้ว ครอบครัวจึงตัดสินใจให้ผู้ป่วยรับประทานสารสกัดจากกัญชาที่ชื่อ แคนนาบินอยด์ ในรูปของน้ำมันกัญชา (Hemp Oil) ซึ่งได้รับความร่วมมือในการผลิตน้ำมันกัญชาจากองค์กรที่ชื่อว่ามูลนิธิ ฟีนิกซ์ เทียร์ (Phoenix Tears Foundation) ซึ่งนำโดยนักผลิตน้ำมันกัญชาชื่อดังในสหรัฐอเมริกา “ริค ซิมซัน” ซึ่งได้ใช้น้ำมันกัญชาบำบัดผู้ป่วยมะเร็งมาแล้วหลายราย การทดลองนี้แพทย์ได้ทำการติดตามผลการรักษาในปริมาณ และชนิดของกัญชาที่แตกต่างกัน

ผลการรักษาที่ทยอยให้น้ำมันกัญชาอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าเซลล์มะเร็งลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญหลังจากใช้ไป 5 วันและเพิ่มปริมาณไปเรื่อยๆ แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแหล่งที่มาของกัญชาในแต่ละช่วง ก็จึงพบว่าเซลล์มะเร็งกลับขยายตัวมากขึ้น และเซลล์มะเร็งกลับมาลดลงได้อีกเมื่อเปลี่ยนแหล่งที่มาของกัญชาได้อีก ซึ่งรายงานดังกล่าวได้ระบุอาการอย่างละเอียดจนถึงวันที่ 78 ปรากฏว่า แม้ในขณะที่เซลล์มะเร็งลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ผู้ป่วยกลับป่วยด้วยอีกโรคหนึ่งคือเกิดการเลือดไหลในกระเพาะอาหาร และเสียชีวิตด้วยโรคลำไส้ทะลุในที่สุด

แม้จะสุดท้ายผู้ป่วยรายดังกล่าวจะเสียชีวิตลง แต่ทำให้ได้ความรู้ตัวแปรการใช้น้ำมันกัญชาในหลายมิติ ทั้งในเรื่องความถี่และปริมาณที่ใช้ รวมถึงศักยภาพของพันธุ์ของกัญชา ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค และอย่างน้อยก็ทำให้เห็นเรื่องของการลดปริมาณเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้จริง จากงานวิจัยดังกล่าว

สาระสำคัญซึ่งเป็นเป้าหมายในการกำจัดมะเร็งในกัญชาคือ เตรต้าไฮโดรแคนนาบินอยด์ หรือเรียกสั้นๆว่า THC ซึ่งจะมีมากในดอกมากกว่าใบ และมีในรูปของสารละลายในน้ำมันกัญชาที่เข้มข้นกว่า และจะมี THC ในน้ำมันกัญชาจากต้นกัญชาตัวเมียมาก และพันธุ์ซาติว่า (Sativa) จะมีTHC มากกว่าพันธุ์อินดีก้า (Indica) และน้ำมันกัญชานั้นให้ผลชัดเมื่อใช้ในปริมาณ 1-2 มิลลิตรต่อวัน

สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ นอกจากมีผู้ป่วยไทยได้แสดงผลการใช้ใบกัญชามาต้มกินแล้วมะเร็งตับดีขึ้นนั้น ก็ยังพบรายงานจากชาวต่างประเทศอีกรายหนึ่งที่ชื่อ Sharon Kelly ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4 ซึ่งแพทย์ก็บอกว่าให้กลับบ้านดีกว่าที่จะใช้วิธีการทางแพทย์แผนปัจจุบันในการรักษาเพราะไม่คุ้มค่าใดๆ แต่ในที่สุดเธอก็หายป่วยได้เหมือนกันอย่างน่าอัศจรรย์ (โดยมีผลการตรวจพิสูจน์ PET/CT Scan ในวิธีแพทย์แผนปัจจุบัน)

โดยเธอได้ใช้น้ำมันมะพร้าวผสมกับน้ำมันกัญชาอย่างละครึ่งหนึ่ง และควบคุมอาหารไม่กินของหวาน ไม่กินแป้ง และไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินอาหารแปรรูป เน้นอาหารปั่นจากพืชและไขมันจากพืชชนิดดีพร้อมกับเครื่องเทศหลากชนิดพร้อมกับการปั่นใบกัญชาผสมไปด้วย เพียงแต่เธอใช้ปริมาณน้ำมันกัญชาถึง 1.5 - 2 มิลลิลิตรต่อวัน โดยเธอได้ใช้วิธีนำน้ำมันกัญชาและน้ำมันมะพร้าวมาผสมกันแล้วฉีดเข้าไปทางทวารหนักเพื่อลดอาการข้างเคียงของกัญชา

แต่สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ พบสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจทั้งกรณีของประเทศไทยและต่างประเทศในผู้ป่วยมะเร็งที่หันมาใช้กัญชาหรือน้ำมันกัญชาแล้วประสบความสำเร็จนั้น คือต้องควบคุมอาหารด้วย

ถึงเวลาที่จะต้องเปิดใจให้กว้าง เร่งศึกษา วิจัย พร้อมนำมาใช้ในทางการแพทย์ และควบคุมไม่ให้เป็นยาเสพติด และให้ความรู้กับประชาชนในใช้กัญชาอย่างถูกต้องเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาตัวเอง ไม่ใช่ห่วงแต่ผลประโยชน์ของแพทย์และบริษัทยาที่กีดกันแพทย์ทางเลือกโดยไม่สนใจชีวิตประชาชน

กำลังโหลดความคิดเห็น