xs
xsm
sm
md
lg

พลังอ่านของแม่ สานพลังสมองและทักษะชีวิตเพื่อลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.จัดกิจกรรม “พลังอ่านของแม่ สานพลังสมอง และทักษะชีวิตเพื่อลูก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “หัวใจกับใบโพธิ์ ครั้งที่ 7 : 84 พรรษา ฟ้าห่มดินทั่วถิ่นไทย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา (7 รอบ) ในวันที่ 12 สิงหาคม 2559

ด้วยความตระหนักดีว่า หนังสือและการอ่าน เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะสมอง ที่ส่งผลต่อชีวิต เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 นั้น คนที่รู้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดเสมอไป คนที่จะอยู่รอดอย่างมีความสุขในสังคมได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณลักษณะ “คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่ร่วมกับคนอื่นเป็น และมีความเป็นสุขได้” คุณลักษณะที่กล่าวมานี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการมีพื้นฐานการรักการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์

สำหรับกิจกรรมนี้ ได้รับเกียรติจากผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ในด้านการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กและครอบครัว 3 ท่าน ได้แก่ ดร.อรสุดา เจริญรัถ ผู้ช่วยเลขาธิการโครงการพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมด้วย คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) และคุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงาน สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ดำเนินรายการโดย คุณเรวัต สังข์ช่วย (ดีเจ พี่น้ำเย็น) จากสถานีวิทยุ FM.105 คลื่นสีขาวรายการเพื่อเด็กและครอบครัว

ดร.อรสุดา เจริญรัถ ได้กล่าวถึงพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในด้านการถ่ายทอดนิสัยใฝ่รู้รักการอ่าน สู่พระราชโอรสและพระราชธิดา ว่า “ผู้ที่จะสะท้อนพระจริยวัตรด้านการอ่านของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ดีที่สุดคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชธิดาของพระองค์ท่าน ซึ่งคนไทยทุกคนก็คงจะเห็นพ้องต้องกันว่าทรงเป็นผลผลิตที่เกิดจากการหล่อหลอมของแม่ พลังของแม่ ที่นอกเหนือจากจะทรงเป็นนักอ่านด้วยพระองค์เองแล้ว ยังทรงมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการอ่านให้กับเยาวชน คนไทยทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและยาวนาน”

“ดิฉันเองอ่านและศึกษาบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านหลายเล่ม โดยเฉพาะเรื่อง “สมเด็จแม่กับการศึกษา” ที่อยากจะแนะนำให้ทุกท่านได้อ่าน ทรงเล่าเกี่ยวกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ท่านทรงเล่าว่าสมเด็จแม่จะส่งเสริมให้พระราชโอรส พระราชธิดา ได้อ่านหนังสือ ท่านเป็นแบบอย่างของนักอ่านที่อ่านหนังสือหลากหลายประเภท สมเด็จแม่เล่านิทานได้สนุกมาก และยังมีพระราชดำริว่าการเรียนรู้นั้นต้องเป็นไปโดยสมดุล ในขณะที่ทรงดูและ พระราชโอรส พระราชธิดา ให้อ่านหนังสือ เรียนหนังสือ ขณะเดียวกันในเรื่องของสุขภาพ การออกกำลังกาย และโภชนาการ ก็ต้องเป็นไปอย่างดีควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้พระองค์ท่านยังส่งเสริมการอ่านให้คนใกล้ชิด เช่น เมื่ออ่านหนังสือเล่มใดแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ ท่านก็จะทำสำเนาส่งต่อให้คนใกล้ชิดได้อ่านอีกด้วย”
ดร.อรสุดา เจริญรัถ
สำหรับหัวข้อ EF (Executive Function) ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ และเป็นทฤษฎีที่มีคนพูดถึงเป็นอย่างมาก สุภาวดี หาญเมธี ได้มาขยายความให้ได้รับความเข้าใจว่า “ความรู้เรื่อง EF (Executive Function) เป็นความรู้ที่มาจากประสาทวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการค้นคว้าเรื่องนี้มามากพอสมควร ก่อนนี้เราจะดูพัฒนาการเด็กจากการสังเกตจากพฤติกรรม ในขณะนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทำให้เรารู้กระบวนการคิดของสมอง แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือ FMRI ที่ทำให้เห็นภาพของสมองได้ดีมากขึ้น เช่น เขากำลังคิดแบบนี้สมองส่วนไหน มีเลือดไปหล่อเลี้ยง มีประจุไฟฟ้าไปทำงาน นักวิทยาศาสตร์สายประสาทวิทยาศาสตร์ ได้เฝ้าสังเกต จนได้ข้อสรุปว่า เด็กมีชุดที่เรียกว่าทักษะสมอง (Executive Function) อยู่ตรงสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เสมือน CEO ในการกำกับสั่งการ เช่น มาเจอสถานการณ์แบบนี้ จะคิดอย่างไร จะรู้สึกอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร คำถามก็คือ การที่รู้ว่าทักษะสมองมันทำงานอย่างไร ยังไม่สำคัญเท่ากับความรู้ที่ว่ามันฝังเป็นชิพอย่างไร ความรู้ชุดนี้เราได้มาจากศูนย์ประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีนักวิชาการที่ทำการศึกษาต่อเนื่องจากที่ต่างประเทศทำ”

EF ทำให้นักการศึกษาทั่วโลกตื่นเต้นกันมากก็เพราะสิ่งที่เขาค้นพบก็คือ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่พัฒนาทักษะ EF ซึ่งจะพัฒนาได้ดีในช่วงวัย 0-6 ขวบ สมองของคนเราจะพัฒนาได้เต็มเมื่ออายุประมาณ 23-24 ปี ซึ่งนั่นลบล้างความเข้าใจของเรามาโดยตลอดว่าสมองเจริญได้เต็มเมื่อายุ 18-19 ปี

EF ประกอบด้วยทักษะทั้งหมด 9 ด้าน แต่ด้านพื้นฐานประกอบด้วยทักษะ 3 ด้าน คือ 1) Working Memory ความจำเพื่อใช้งานไม่เหมือนกับความจำท่องจำ เป็นความจำซึ่งเกิดจากประสบการณ์จริงแล้วบันทึกความทรงจำนั้นเข้าไปในสมอง ซึ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความสุข เช่น นั่งตักแม่อ่านหนังสือแล้วมีความสุข เขาก็จะบันทึกเอาไว้ และถูกดึงมาใช้ในสถานการณ์ที่สอดคล้อง 2) Inhibitory Control คือทักษะการหยุด และค่อยๆ คิดว่าสิ่งนี้ควรหรือไม่ควร เป็นทักษะที่เกิดขึ้นได้จากการอบรมสั่งสอนให้รู้จักยับยั้งชั่งใจเป็น รู้จักอดทน รอคอย 3) Shifting หรือ Cognitive Flexibility คือการยืดหยุ่น เด็กที่เจอสถานการณ์บ่อยๆ จะสามารถรู้ได้ว่าไม่จำเป็นต้องได้เดี๋ยวนี้ แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานกาณณ์ ไม่ยึดติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการคิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์

“ทักษะ 3 ด้านข้างต้นนั้น เป็นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ แต่ต้องได้รับการฝึกฝน ตัวอย่างเช่น Working Memory จำได้ว่าแม่สอนว่าอะไร แม่สอนว่าทำการบ้านต้องนิ่งๆ นะลูก พรุ่งนี้ต้องส่งการบ้านให้คุณครู เด็กจึงต้องมี Inhibitory Control คือต้องยั้งใจไม่ออกไปเล่น เพราะรู้ว่ามีการบ้านที่รออยู่ ดังนั้น Working Memory ถ้ารวมกับ Inhibitory Control จะทำให้มีใจที่จดจ่อ มีสมาธิ ซึ่งการมีสมาธิเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็กเล็ก เพราะถ้าเด็กเล็กไม่มีสมาธิเขาจะเรียนอะไรไม่ได้ ถ้าเราฝึกเขาตั้งแต่เล็กๆ เขาจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าใจจดจ่อ ทำอะไรแล้วจะทำต่อเนื่องจนเสร็จ ส่วนเรื่องของการควบคุมอารมณ์เราต้องทำความเข้าใจกันว่าสถานที่นี้เราลงไปนอนดิ้นไม่ได้ หรือตกลงกันว่าวันนี้เรายังไม่ซื้อของเล่นนะ ไปดูอย่างเดียวก่อน สัปดาห์หน้าค่อยมาซื้อ หรือกลับไปบ้านเราไปประดิษฐ์ของเล่นกันนะ ซึ่งนั่นก็เป็น Shifting หรือ Cognitive Flexibility คือการยืดหยุ่น เป็นต้น”

EF จึงไม่ใช่ทักษะในการวัดความรู้เหมือน IQ แต่เป็นทักษะทางปัญญาที่นำมาใช้เมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ นำทักษะที่ได้สั่งสมจากประสบการณ์ไว้มาใช้แก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ แล้วทำให้ตนเองบรรลุผลสำเร็จได้ “การอ่าน” เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ช่วยเสริมทักษะ EF ได้เป็นอย่างดี EF จะพัฒนาได้ดี จะต้องอยู่บนฐานของความรัก ความผูกพัน ซึ่งการอ่านนิทานให้ลูกฟังนั้น เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสายใยความรักความผูกพัน ในครอบครัว ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะรักตนเอง รักคนอื่น ส่งผลให้เขาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
คุณสุภาวดี  หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี
ด้าน สุดใจ พรหมเกิด ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์จากภารกิจสำคัญของแผนงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. โดยเฉพาะด้านการอ่านหนังสือระหว่างแม่กับลูกว่า “เราเริ่มจากการทำวีดีทัศน์ไปฉายให้พ่อแม่ได้เห็นว่าสมองทำงานอย่างไร และมีความสัมพันธ์อย่างไรกับการอ่าน เทคนิควิธีการของเราคือการเคลื่อนในเชิงนโยบายก่อน คือการทำให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งในขณะนั้นก็ได้รับการตื่นตัวและตอบรับกันเป็นอย่างดี แต่พอเปลี่ยนผ่านวาระแล้วการทำงานก็หยุดชะงัก เราจึงต้องเปลี่ยนแผนโดยการเข้าไปให้ถึงชุมชน โดยเฉพาะการเข้าให้ถึงผู้ที่เป็นแม่ อย่างไปร่วมกับองค์กรอื่นที่เขามีกิจกรรมอยู่แล้ว ทำให้เราพบว่าแม่หลายคนไม่รู้จักการเลือกหนังสือให้เหมาะสมกับช่วงวัย ทำให้การอ่านไม่ส่งผลสำเร็จ เพราะเด็กจะไม่สนใจหนังสือที่ไม่เหมาะกับวัยของเขา จึงต้องมาเริ่มปูพื้นฐานทำความเข้าใจกันใหม่ถึงหนังสือที่เหมาะสมกับเด็ก แต่ละช่วงวัย โดยต่อไปเราจะมีการคัดเลือกหนังสือให้เหมาะกับ EF ในแต่ละด้านโดยเฉพาะ”

“จากประสบการณ์ที่ลงพื้นที่ทำงานขับเคลื่อนการอ่านนั้น พบว่าการที่เด็กถูกนำไปให้ปู่ย่าตายายที่อ่านหนังสือไม่ออกเลี้ยงดู นับว่าเป็นเรื่องที่ยากในการส่งเสริมการอ่านแล้ว แต่ที่เคยเจอและคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะส่งเสริมการอ่าน คือครอบครัวที่เป็นใบ้ทั้งครอบครัว แต่ต้องชื่นชมคุณแม่ที่มีความมุ่งมั่น โดยจะอุ้มลูกไปบ้านของอาสามัครชุมชนทุกวัน ให้อาสาสมัครอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ปรากฏว่าเด็กคนนี้สามารถพูดได้ เรียนภาษามือจากพ่อแม่เพื่อสื่อสารได้ และเป็นเด็กที่เรียนดี จนเด็กกลายเป็นสมบัติที่มีค่าของชุมชน ซึ่งดิฉันเชื่อว่ามันเป็นความมหัศจรรย์จากการอ่าน” สุดใจ กล่าวทิ้งท้าย
คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
สุดท้ายมาฟังความคิดเห็นของผู้ฟังอย่าง สานุพันธ์ ชุมสาย ณ อยุธยา บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ฟรีมายด์ ที่มีอีกบทบาทหนึ่งในฐานะของคุณพ่อกันบ้าง “วันนี้พาครอบครัวมาร่วมกิจกรรม เพราะคิดว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ อีกอย่างคือตนเองเป็นคนทำหนังสือ จึงเห็นความสำคัญของการอ่าน โดยผมและภรรยา จะอ่านหนังสือให้ลูกชาย (น้องเจต้า) ฟังตั้งแต่เค้ายังอยู่ในท้อง ด้วยความเชื่อมั่นในพลังแห่งการอ่าน ว่าจะช่วยส่งเสริมทักษะด้านการเรียนรู้ ด้านภาษา ด้านความคิด จินตนาการ และยังได้ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมด้วย ซึ่งสิ่งเหล่าไม่สามารถหาได้จากสื่อดิจิทัล แต่เกิดข้อคิด และประสบการณ์ที่ได้รับจากการอ่านนิทานทั้งสิ้น

สานุพันธ์เล่าต่อว่า “ตอนนี้น้องเจต้า 4 ขวบแล้ว เค้าชอบอ่านหนังสือมาก เราจะไปร้านหนังสือกันทุกสัปดาห์ โดยน้องเจต้าจะเป็นคนเลือกหนังสือเอง เค้าอ่านหนังสือสามสิบเล่มในหนึ่งวัน บางคนคิดว่าอ่านเยอะไปหรือเปล่า แต่สำหรับผมผมว่าหนังสือไม่ม่พิษภัยจะอ่านกี่เล่มก็ได้ ดีกว่าไปดูโทรทัศน์ หรือดูแท็บเล็ต สิ่งที่ผมคิดว่าลูกได้รับมาเต็มๆ จากนิทานคงหนีไม่พ้นเรื่องของสมาธิ หรือว่าเวลาเจอเหตุการ์อะไรคล้ายๆ กับในนิทานเราก็จะนำมาอ้างอิงได้เลย เขาก็จะตัดสินใจได้ว่าควรทำอย่างไร ไม่ควรทำอย่างไร

“นอกจากนี้ ผมก็ยังส่งเสริมการทำกิจกรรมในครอบครัว เช่น การเล่นกีฬา ร้องเพลง หรือการทำกิจกรรมที่มีการสื่อสารร่วมกันในครอบครัวควบคู่กันไปด้วย โดยครอบครัวของเราจะให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เพราะเราคิดว่าเขาก็เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่อยู่ในร่างเด็ก สำหรับเรื่อง EF ที่ได้ฟังในวันนี้ นับว่าเป็นความรู้ใหม่ ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพของสมองในทุกๆ ด้าน เพราะว่าเวลาเราสอนลูกเราจะได้รู้เราควรจะเน้นเรื่องอะไร ในช่วง เวลาใดให้มากยิ่งขึ้น ผมมองว่ายุคนี้เป็นยุคโซเชียลมีเดีย การอ่านหนังสือจึงลดน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก การที่ได้รับความรู้เรื่องที่วิทยากรพูดในวันนี้ ทำให้พ่อแม่อย่างเราต้องหันกลับมาคิดอีกครั้งว่าเราจะต้องกลับมาทำอะไรแบบดั้งเดิม ทั้งการอ่าน การเล่น การเรียนรู้จากธรรมชาติ”

จะเห็นได้ว่า “แม่” เป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่งในการเป็นแบบอย่างด้านการอ่าน เพราะแม่เปรียบเสมือนต้นแบบของลูก ดังคำที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” หากแม่อยากให้ลูกรักการอ่าน แม่ย่อมจะต้องเป็นแบบอย่างในการอ่านให้ลูกได้เห็น เพราะการอ่านไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการในทุกด้านของลูก หากแต่ยังช่วยส่งเสริมสายใยความรัก ความผูกพันให้เกิดขึ้นในครอบครัวอีกด้วย
สานุพันธ์ ชุมสาย ณ อยุธยาและครอบครัว



กำลังโหลดความคิดเห็น