xs
xsm
sm
md
lg

เก่งได้..เอาตัวรอดเป็น “EF” สร้างภูมิต้านทานเด็กไทย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นคนเก่งและฉลาด ทว่าความเก่งอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการเคลื่อนไหวของโลกที่หมุนเร็วเช่นนี้ นั่นจึงเป็นคำถามที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต่างกระหายในคำตอบที่ว่า “เลี้ยงลูกยังไงให้เก่งและเอาตัวรอดได้ในสังคม”

จากผลวิจัยพบว่าการพัฒนาทักษะทางสมองของเด็ก จะเกิดผลดีต้องทำในช่วงแรกเกิดถึง 6 ขวบ และการวิจัยยังพบอีกว่า “หนังสือ” คือเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการส่งเสริมทักษะสมองได้เป็นอย่างดี นั่นจึงนำมาสู่ “โครงการคัดสรรหนังสือที่มีเนื้อหาส่งเสริมทักษะทางสมอง “Executive Functions (EF)” เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยและเป็นเครื่องนำทางไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต

“เก่ง” อย่างเดียวไม่พอ..ต้องรู้จักเอาตัวรอด!

“ถ้าเด็กสามารถที่จะหยุดคิดและไตร่ตรองก่อนที่จะทำ ไม่ว่าเขาไปเจอเหตุการณ์อะไรในวันข้างหน้า ซึ่งอาจไม่คุ้นเคยมาก่อน สิ่งแวดล้อมที่อันตราย ความเสี่ยง หรือคนที่จะพาเขาไปในทางที่ไม่ดี เด็กที่มี EF จะเป็นเด็กที่สังเกตุและมีไหวพริบว่าอันนี้ไม่ปกติ เขาจะหยุดคิดก่อนและตัดสินใจโดยพื้นฐานข้อมูลที่เขาได้รับการสอนมาตั้งแต่เด็ก”

  “รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล” ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา จากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ขยายความให้ฟังถึงผลลัพธ์ของเด็กที่มีทักษะสมองทางด้าน EF ก่อนจะพาย้อนกลับไปสู่คำถามที่ว่าทำไมเด็กไทยในช่วงอายุ 0-6 ขวบ ถึงจำเป็นที่จะต้องถูกส่งเสริมทักษะทางด้านนี้ รวมถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ต้องบอกก่อนว่า EF ย่อมาจาก Executive Functions มันเป็นการทำหน้าที่ของสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นสมองชั้นสูงที่สัตว์อื่นๆ จะมีสมองส่วนนี้น้อยกว่าเรา การทำหน้าที่ของ EF มันก็จะมีทักษะซึ่งเป็นแก่นสำคัญ 3 หลัก Inhibitory Control คือการหยุดได้ หมายถึงว่าถ้าเราอยากจะทำอะไรตามอารมณ์ออกไปทันที เราสามารถหยุดมันไว้ด้วยตัวเองได้ ไม่ใช่คนอื่นสั่งให้หยุด

ส่วนที่สองคือ Cognitive Flexibility เรื่องของการเปลี่ยนความคิดได้ ยืดหยุ่นความคิด เมื่อเราคิดจะทำอะไรทันทีพอเราหยุดได้ เราสามารถเปลี่ยนไปทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแทน อันที่สามคือ Working Memory คือความจำขณะทำงาน เวลาเราคิดแก้ปัญหา เวลาที่เราเรียบเรียงความคิด จัดอันดับความคิดเรา”
รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล
 
เห็นได้ว่าทักษะทั้ง 3ด้านนี้จะเป็นที่มาของสกิลในด้านอื่นๆ ที่จะเกิดตามมา ถ้าเด็กมีพื้นฐาน 3 ด้านนี้ที่ดี สิ่งที่จะตามมาก็คือ เด็กกำกับควบคุมตัวเองได้ ควบคุมอารมณ์ได้ เวลาที่เจอปัญหาอุปสรรคเขาจะสามารถคิดและหาทางออกที่หลากหลายนั่นเอง

รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ยังกล่าวต่ออีกว่าการทำหน้าที่ของ EF สามารถเป็นเครื่องมือที่เชื่อมโยงให้ไปสู่ความสำเร็จ ทั้งในด้านการเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันดังกล่าวสามารถสร้างได้ด้วยการปลูกฝังลูกให้มีนิสัยรักการอ่าน และจะต้องเป็นหนังสือที่มีการสอดแทรกเนื้อหาที่ทำให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจและพัฒนาความคิดได้ด้วย

“มันมีความเชื่อมโยงอย่างมากระหว่างคนที่มี EF ดีกับการที่เขาจะประสบความสำเร็จในการเรียน การทำงาน และไม่เข้าไปสู่วงจรของการทำผิด เช่น การใช้ยาเสพติด การก้าวร้าว ทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่น เพราะฉะนั้นการอ่านหนังสือในวัยเล็กๆ ที่เขายังคิดไม่ได้เหมือนผู้ใหญ่ การที่เรามีหนังสือที่มีเนื้อหาที่ใส่ข้อมูลให้เด็กที่จะเป็นประสบการณ์

นอกจากเราจะสอนเด็กโดยการทำให้ดู การสอนโดยใช้คำพูดเป็นตัวอย่างแล้ว หนังสือก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะใส่ข้อมูลที่ถูกต้องที่ดีให้ เหมือนเป็นตัวไกด์เด็กว่า ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ มีวิธีที่จะตอบสนองอย่างไรบ้าง หนังสือที่ส่งเสริม EF ก็จะมีเนื้อหาที่ช่วยในการฝึกเด็กในด้านต่างๆ หนังสือก็จะเป็นส่วนช่วย แต่การเลี้ยงดูของครูและพ่อแม่ก็ยังมีความสำคัญอยู่”

ระบบการศึกษา = ทำลายเด็กไทย !?

“เราต้องยอมรับกันนะว่าขณะนี้ประเทศไทยระบบการศึกษาอยู่ในอาการที่เรียกว่า “กำลังล้มเหลว” ไม่ว่าเราจะใช้ผลสอบวิธีไหน แบบที่เร่งเรียน เขียน อ่าน ก็แย่ หรือเอาแบบคิดวิเคราะห์ก็แย่”

“คุณสุภาวดี หาญเมธี” ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เปรยให้ฟังถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ก่อนขยายความให้ฟังถึงการศึกษาในบ้านเราที่เน้นหนักไปในเรื่องวิชาการ มากกว่าจะสอนให้เด็กไทยมีการเรียนรู้ด้วยตนเอง

“วันนี้มันเลยทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราทำไปที่เน้นในเรื่องให้เด็กเรียนแบบวิชาการ ทำแบบฝึกหัดเยอะๆ ฟังคุณครูสอนเยอะๆ แต่เด็กไม่ได้ทักษะในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง มันทำให้ทักษะ EF ไม่เกิด และเด็กก็จะจำสิ่งที่ครูสอนแล้วไปสอบ สอบแล้วก็ลืม

ถามว่าวันนี้ความล้มเหลวที่เราเห็นมันเกิดขึ้น มันสะท้อนให้เห็นทักษะความสามารถพื้นฐานมันขาดไป เด็กหลายๆ คนที่สอบได้คะแนนดีๆ ไม่ได้หมายความว่า EF จะดี เพราะถ้าไปเจอสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหา อาจจะแก้ไม่ได้”

นอกจากนี้ คุณสุภาวดี ประธานสถาบันอาร์แอลจี ยังยกตัวอย่างเด็กบางคนที่ได้คะแนนไม่ดี ทว่ามีทักษะและความสามารถในการแก้ปัญหาและรับมือกับสถานการณ์ได้ดี แต่กลับถูกตัดสินไปแล้วว่าเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง ซึ่งความจริงแล้วเด็กเหล่านั้นอาจแค่ไม่ถนัดในบางวิชาเท่านั้นเอง
คุณสุชาดา สหัสกุล (ซ้าย) และ คุณสุภาวดี หาญเมธี (ขวา)
 
“เด็กบางคนที่คะแนนไม่ดี แถมยังถูกด่าทุกวันว่า โง่ เรียนไม่เก่ง เพราะเขาไม่ได้ชอบในวิชาบางวิชา แต่เขามีทักษะจัดการชีวิตได้ดี กลับไม่ได้รับการยอมรับ เพราะฉะนั้นเด็กส่วนใหญ่ของเราก็เลยเหมือนกับคุณภาพแย่ ทั้งๆ ที่ตอนเกิดอาจจะไม่ได้ต่างกับเด็กทั่วโลก

ดังนั้นพอเราเข้าใจเรื่อง EF มันครอบคลุมไปถึง IQ คือ ทักษะการคิดดี IQ ก็จะได้รับการพัฒนาไปด้วย ถ้า EF ดี การควบคุมอารมณ์ดี EQ มันก็จะดีไปด้วย EF จึงเหมือนเป็นร่มที่ครอบคลุมไว้ทั้งหมด”

สิ่งสำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กไทยได้ผลที่สุดนั่นคือวิธีการ “Learning By Doing” ซึ่งทีมงานเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัย ทว่าการเรียนรู้ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำและจากประสบการณ์ต่างๆ ที่เด็กตกตะกอนมาจากการเรียนรู้ มันจึงย้อนกลับไปสู่วัตถุประสงค์ของการรณรงค์และการให้ความสำคัญกับ EF เพื่อสร้างเด็กไทยให้มีคุณภาพ

“สังคมไทยถ้าจะฝึก EF ต้องส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้แบบ Learning By Doingเรียนรู้จากการทำ การมีประสบการณ์ ได้ไปวิ่งเล่น ได้อ่านหนังสือด้วยความรัก ไม่ใช่อ่านแบบไปนั่งสะกดแต่ต้องอ่านด้วยความสนใจ

ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าการที่เรามาร่วมกันรณรงค์เรื่อง EF คืออยากให้กลับไปสู่เบสิกของสมองมนุษย์ที่เด็กไทยมีทุกคน และพัฒนาเขาให้ถูกทิศถูกทางเขาจะได้กลับมาสู่ความเป็นคุณภาพคนที่สู้กับโลกได้”

“คุณสุชาดา สหัสกุล” อุปนายกฝ่ายในประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมถึงเรื่องระบบการศึกษาไทยอีกว่า มีส่วนสำคัญในการทำลายเด็กไทย ทว่าแม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงระบบการศึกษามาจำนวนไม่น้อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังคงน่าเป็นห่วงและยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

“จริงๆ แล้วระบบการศึกษามีส่วนสำคัญที่จะทำลายเด็กเรา เพราะว่าจริงๆ แล้วที่ผ่านมาไม่ว่าเราจะมีการปฏิรูปการศึกษามากี่ครั้งกี่หนก็ตาม เราหลงทางตลอดและทุกวันนี้เราก็ยังหลงทางกันอยู่ ทุกวันนี้เราโทษเด็กไม่ได้ เพราะในเรื่องการศึกษา การเรียนในระบบถูกช่วงชิงเวลาไปหมด

เพราะฉะนั้นเด็กจะไม่มีเรื่องของการเรียนรู้ เรื่องของการเล่น เรื่องของการทำงานบ้าน ซึ่งจะเห็นว่าความแตกต่างในเด็กยุค Baby Boom กับเด็กยุค Gen-XY จะต่างกันมาก เพราะสิ่งแวดล้อมและการหล่อหลอมที่ต่างกัน ทั้งในระบบการศึกษาก็ดีหรือในระบบสังคมก็ดี เราจึงหวังว่าอนาคตของเด็กไทยจะมีคุณภาพ อนาคตของคนไทยจะมีคุณภาพและนำไปสู่ชาติที่เข้มแข็งได้”

EF สร้างภูมิคุ้มกันต้านยาเสพติด!

“นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต” รองเลขาธิการ ป.ป.ส ให้สัมภาษณ์กับทีมงานว่า ทาง ป.ป.ส ได้มีการนำ EF ไปใช้ในกลุ่มเด็กปฐมวัยผ่านหนังสือนิทานทั้งหมด 5 เรื่องด้วยกัน ซึ่งผลตอบรับที่ได้นั้นถือได้ว่าตรงไปตามเป้าหมายที่ต้องการให้เด็กมีความคิดและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในเรื่องของยาเสพติดได้ดี

“ความสำเร็จของสำนักงาน ป.ป.ส. ในการนำ EF ไปใช้ในกลุ่มเด็กปฐมวัย ผ่านหนังสือนิทานชื่อชุด “อ่านอุ่นรัก” มีนิทาน 5 เรื่อง หลังจากที่มีการนำหนังสือไปทดลองในพื้นที่ โดยให้ครูและพี่เลี้ยงศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลกว่า 53,000 แห่ง อ่านให้เด็กฟังได้รับผลตอบรับที่ดี ทำให้เห็นถึงโอกาสและความสำเร็จในการใช้ EF ซึ่งตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า EF จะทำให้เด็กโตขึ้น มีความยับยั้ง และมีภูมิคุ้มกันที่ดีโดยเฉพาะภูมิคุ้มกันยาเสพติด”

โดยสำนักงาน ป.ป.ส ได้มีการทดลองใช้สื่อกิจกรรมการอ่านจากพ่อแม่และครู ภายในระยะเวลา 1 เดือน ผลที่ได้สะท้อนให้เห็นว่าเด็กมีความสนใจและมีพฤติกรรมไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีซึ่งได้ประสบความสำเร็จไปแล้วในระดับหนึ่ง

“ทั้งนี้ได้สุ่มตัวอย่างและใช้สื่อกิจกรรมอ่านอุ่นรักจากพ่อแม่ และครู จำนวน 772 คน และเด็ก 3,212 คน ใช้ระยะเวลาภายใน 1 เดือน พบว่า 82% เด็กมีความสนใจ มีใจจดใจจ่อ และตั้งใจฟังที่ดีมาก

หากมองในแง่พฤติกรรมสามารถแยกออกได้ดังนี้ 62% ไม่ค่อยดื้อรั้น เชื่อฟังพ่อแม่ คุณครูมากขึ้น 47 % มีระเบียบวินัยมากขึ้น 44% มีน้ำใจ รู้จักแบ่งปัน 42 % ยอมรับผิดเมื่อกระทำความผิด 39% มีความอดทนอดกลั้น ไม่ใจร้อน 36% ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้กำลัง 33% ไม่รังแกเพื่อนและผู้อื่น” ซึ่งผลการประเมินนี้สะท้อนผลในทางบวกระยะสั้น อย่างไรก็ตามยังคงต้องวัดผลในระยะยาวและต้องใส่เครื่องมือ EF เสริมมากขึ้น

 
อย่างไรก็ตามโครงการคัดสรรหนังสือที่มีเนื้อหาส่งเสริมทักษะทางสมอง Executive Functions หรือ EF ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ทำให้เด็กรู้จักคิด เรียนรู้ แก้ปัญหา และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุข ซึ่งผลลัพท์ที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กนั้นยังเป็นการกระตุ้นให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ผลิตสื่อการสอนและหนังสือเสริมทักษะสมองของเด็กๆ ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดอีกด้วย

“สำหรับโครงการคัดสรรหนังสือเด็กที่ส่งเสริมทักษะสมอง EF ถือเป็นโครงการที่ดี ที่ส่งเสริมให้ความรู้ EF ขยายตัวในแวดวงที่กว้างมากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ผู้เขียนและสำนักพิมพ์ต่างๆ สนใจที่จะบรรจุเนื้อหา EF ลงในหนังสือของตน ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ EF ติดที่หน้าปกหนังสือ

เพื่อแสดงถึงความมั่นใจ ทำให้ผู้ซื้อเกิดความเชื่อมั่นว่าจะได้รับความรู้เกี่ยวกับ EF ซึ่งทำให้เกิดภูมิคุ้มกันแก่เยาวชนและครอบครัวของตัวเอง ถือเป็นการสร้างทักษะในการบริหารจัดการชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง”

เรื่องโดย : พิมพรรณ มีชัยศรี


กำลังโหลดความคิดเห็น