xs
xsm
sm
md
lg

น่าสะพรึง!! "ภูมิแพ้จมูก" ขั้นรุนแรง ทำให้เลือดออกปาก-จมูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณีข่าว "จ๊ะ อาร์สยาม" ได้โพสต์ภาพตนเองมีเลือดไหลออกจากโพรงจมูกอย่างหนัก ลงอินสตาแกรม เบื้องต้นทราบสาเหตุของอาการแล้ว คืออาการภูมิแพ้ในจมูก ทำให้โพรงจมูกบวมอักเสบ เส้นเสียงอักเสบ เป็นสาเหตุทำให้เลือดไหลไม่หยุด เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะในผู้ป่วยในเด็กและวัยรุ่น มากกว่า 80% ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ มีอาการก่อนอายุ 20 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในคนทุกวัย

สาเหตุของการเกิดอาการภูมิแพ้ในจมูก

เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้และเข้าจับกับภูมิคุ้มกันร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดขาวแตกออกและปล่อยสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ฮิสตามีน” ออกมา ส่งผลให้เยื่อบุจมูกเกิดการอักเสบ เกิดการบวม และสร้างเมือกออกมามากกว่าปกติ โรคภูมิแพ้นั้นโดยส่วนมากจะมีเรื่องของกรรมพันธุ์เข้ามาร่วมด้วย ถ้าพ่อแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ก็จะมีอัตราเสี่ยงที่จะถ่ายทอดไปสู่ลูกเพิ่มขึ้น 1 เท่า ดังนั้น การเกิดโรคภูมิแพ้จึงนับได้ว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างหนึ่งเช่นกัน

ลักษณะอาการเมื่อเป็นภูมิแพ้จมูก

เมื่อผู้ป่วยสัมผัสสารที่ก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นบ้าน ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ฯลฯ ผู้ป่วยจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังต่อไปนี้

คันจมูก ก่อให้เกิดการจามติดต่อกันหลายครั้ง เพื่อพยายามขับสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ให้ออกมา

เริ่มมีน้ำมูกใสๆ ไหลอยู่ตลอดเวลา คล้ายอาการของคนเป็นหวัดคัดจมูก ซึ่งอาการเหล่านี้จะแสดงออกมาเป็นเวลาค่อนข้างนานบางครั้งอาจเป็นชั่วโมง และจะสามารถหายได้เอง

บางรายจะมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมกัน เช่น คันตา คันคอ คันหู หรือคันที่เพดานปากด้วย หรือไม่ก็ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ หรือหูอื้อ

นอกจากอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการจมูกอักเสบ จะพบว่าเยื่อบุจมูกจะบวมมาก หรือบางครั้งจมูกของผู้ป่วยก็จะบวมไปด้วย มีน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาเป็นจำนวนมาก เยื่อบุจมูกอาจมีริดสีดวงจมูกร่วมด้วยได้ และที่บริเวณคอ ผนังด้านในคอจะเป็นตุ่มนูนแดงกระจายไปทั่ว ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองจากน้ำมูกที่ไหลลงคอหรือจากการหายใจทางปากเมื่อเกิดอาการคัดจมูกบ่อยๆ ซึ่งหากสังเกตพบอาการที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น นอกจากมีอาการภูมิแพ้แล้วอาจมีอาการของไซนัสอักเสบร่วมด้วย ก็สามารถทำให้เกิดอาการเลือดออกได้ง่ายขึ้น หรืออาจเกิดจากการสั่งน้ำมูกมากจนทำให้เส้นเลือดฝอยแตก หรือคัน คัดจมูก แล้วล้วงแคะเข้าไปในจมูกทำให้เส้นเลือดฝอยแตก ก็ทำให้เกิดภาวะเลือดออกขึ้นได้
วิธีการดูแลตัวเองในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูกมีดังต่อไปนี้

1.หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย เช่น ฝุ่นละออง ควันรถยนต์ สารเคมีต่างๆ เกสรดอกไม้ เชื้อรา เชื้อไวรัส อาหารที่ผู้ป่วยแพ้ง่าย ไรฝุ่น เป็นต้น

2.ด้านโภชนาการ พยายามปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงหรืองดการรับประทานของเย็น ไอศกรีม เป็นต้น และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ผักกาดขาว มัสตาร์ด มังคุดแตงโม
แคนตาลูป เป็นต้น

3.การนอนหลับพักผ่อน ไม่ควรเข้านอนดึกจนเกินไป เพราะในช่วงหลังจาก 5 ทุ่มเป็นต้นไป จะเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการซ่อมแซมและฟื้นฟูปรับสมดุล การนอนดึกจะไปทำลายระบบการฟื้นฟูของภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดภูมิแพ้ขึ้น

4.ป้องกันความเย็น รักษาความอุ่น ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศในอุณหภูมิที่ต่ำเกินไปควรใส่เสื้อนอนที่มิดชิดเพื่อป้องกันความเย็นที่อาจกระทบต่อร่างกายได้ มีการทดสอบกับผู้ป่วยในหลายราย พบว่าสามารถค่อยๆ ลดอาการจาม น้ำมูกไหลได้

5.รักษาความอบอุ่นบริเวณแผ่นหลัง ผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้จมูกมักจะมีอาการเย็นบริเวณแผ่นหลัง ดังนั้นควรป้องกันให้แผ่นหลังอบอุ่นตลอดเวลา

6.ใช้น้ำเย็นล้างจมูก ใช้น้ำเย็นทำความสะอาดบริเวณโพรงจมูก ค่อยๆ สูดน้ำเย็นให้น้ำเย็นได้สัมผัสกับโพรงจมูก แล้วค่อยๆ หายใจออก ให้น้ำเย็นเกิดการผ่านเข้าออกในโพรงจมูก ใช้เวลาทำประมาณ 3 นาที หากสามารถทำต่อเนื่องได้ในทุกๆ วัน จะสามารถช่วยรักษาอาการภูมิแพ้จมูกที่เป็นอยู่ได้

7.นวดจมูก ก่อนที่จะทำการนวด ให้ใช้น้ำเย็นล้างโพรงจมูกให้เรียบร้อย จากนั้นให้ใช้นิ้วกลางนวดคลึงเบาๆ บริเวณข้างปีกจมูกสองข้างใช้เวลาประมาณ 20 นาทีโดยประมาณ

8.ควรได้รับแสงแดดเพื่อเพิ่มหยางในร่างกาย ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงในการเดินออกกำลังกาย สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดอาการเกิดภูมิแพ้ แนะนำให้ออกกำลังกายในช่วงที่แดดไม่แรงจนเกินไป โดยให้แสงแดดส่องที่บริเวณแผ่นหลังและฝ่ามือเป็นหลัก

9.หากเข้ารับการรักษาแล้วอาการภูมิแพ้ลดลง ควรปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติข้างต้นอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอาการภูมิแพ้ที่อาจเกิดขึ้นอีก

10.สำหรับอาการแพ้ในลักษณะอื่นๆ เช่น อาการภูมิแพ้รอบดวงตา อาการคันผิวหนัง ผื่นผิวหนัง เป็นต้น สามารถปฏิบัติตามข้อที่ 1-5, 8-10 ได้

________________________________

ขอบคุณข้อมูล : นพ.อุทัย ประภามณฑล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรม ศีรษะ ลำคอ หลอดลม และกล่องเสียง ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลพญาไท 3

กำลังโหลดความคิดเห็น