xs
xsm
sm
md
lg

ไปเที่ยวกับมะเร็ง / ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความโดย ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์
กลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

ใกล้ถึงวันหยุดยาวขึ้นมาครั้งใด เรามักจะนึกถึงบรรยากาศการท่องเที่ยว สมาชิกในครอบครัวมาพบกันพร้อมหน้า อาหารอร่อยๆ รอยยิ้ม และความสุข สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่บอกถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็ง การท่องเที่ยวคือการพักผ่อนรูปแบบหนึ่ง ทำให้จิตใจสบาย เปลี่ยนบรรยากาศจากสิ่งแวดล้อมที่จำเจ ลืมความเจ็บป่วยที่มีไปชั่วขณะ สร้างประสบการณ์ ความหวังและกำลังใจให้กับชีวิต เหมือนเป็นการไปชาร์ตพลังเพื่อสู้มะเร็ง

ผู้ป่วยมะเร็งสามารถไปท่องเที่ยวได้ แต่จะเป็นสถานที่ใด ระยะทางที่ไปจะใกล้หรือไกล และมีวิธีการเดินทางอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดในเรื่องชนิดของมะเร็ง การรักษาที่ผู้ป่วยได้รับ และสภาพร่างกายในช่วงเวลานั้น ของผู้ป่วยแต่ละคน

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการพาผู้ป่วยมะเร็งไปท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย คือ การเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด

ก่อนเดินทาง

พูดคุยกับแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ถึงการวางแผนที่จะพาผู้ป่วยไปท่องเที่ยว ขอความเห็น คำแนะนำ สิ่งที่ผู้ป่วย-ผู้ดูแลควรปฏิบัติ และข้อควรระวัง ซึ่งแพทย์ที่ดูแลติดตามอาการผู้ป่วยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีข้อมูลและสามารถช่วยประเมินสถานการณ์ของผู้ป่วยได้ดี

ประเมินความแข็งแรงของผู้ป่วยเพื่อเลือกสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เหมาะสม ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด ฉายแสง หรือเจ็บป่วยมาเป็นเวลานานมักมีปัญหาอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดตั้งแต่เลือกว่าจะไปหรือไม่ไปดี เช่น หลังเสร็จสิ้นการให้เคมีบำบัดใหม่ๆ อาจรอเวลาให้แข็งแรงดีขึ้นก่อน ค่อยท่องเที่ยว

หรือเป็นข้อจำกัดเรื่องพาหนะและเวลาในการเดินทาง เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาในสมองอาจขึ้นเครื่องบินไม่ได้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันบรรยากาศ ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหรือมีปัญหาอาการบวมที่แขนขาอาจนั่งรถยนต์ผ่านเส้นทางกระทบกระเทือนหรือนั่งเป็นเวลานานไม่ไหว ผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย หรือผู้ป่วยมะเร็งที่มีโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองร่วมด้วย อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณเส้นเลือดดำที่ขาหากนั่งรถยนต์หรือเครื่องบินเป็นเวลานาน

เหล่านี้ต้องได้รับคำแนะนำเป็นพิเศษ หรือเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยวหรือวิธีการเดินทาง หากเดินทางกับกลุ่มทัวร์ ควรแจ้งข้อมูลผู้ป่วยกับบริษัททัวร์ เพื่อจะได้จัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และเตรียมการล่วงหน้าเผื่อขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน

เตรียมเส้นทาง นอกจากการศึกษาเส้นทางเพื่อการเดินทางถึงที่หมายได้ถูกต้องแล้ว ควรสำรวจสถานที่บนเส้นทางที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งทั้งขาไปและขากลับ เช่น ห้องน้ำสะอาด ร้านอาหารสะอาด ห้างสรรพสินค้า ร้านยา ที่พักชั่วคราว คลินิกโรงพยาบาล หากผู้ป่วยจำเป็นต้องนั่งรถเข็นควรมีข้อมูลและการวางแผนว่าที่ใดมีความสะดวกสำหรับรถเข็นนั่งบ้าง การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะสะดวกกว่าการเดินทางเป็นกลุ่มหรือรถสาธารณะ ตรงที่สามารถแวะสถานที่ต่างๆตามความต้องการของผู้ป่วยได้

เตรียมของที่จำเป็น ของใช้ในชีวิตประจำวัน ตระเตรียมเหมือนไปเที่ยวตามปกติ กะประมาณให้เพียงพอกับจำนวนวันที่เดินทาง ของใช้เตรียมไม่ครบก็ไม่ต้องเครียด สมัยนี้ร้านสะดวกซื้อมีมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมเป็นการเฉพาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง คือ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และประวัติการรักษา

ยาประจำตัวทุกอย่าง ควรพกติดตัวไปในจำนวนที่เพียงพอ (เตรียมไปเกินกว่าจำนวนวันเดินทางหน่อยก็จะดี) ทั้งยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ยาโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งยาบรรเทาอาการที่จำเป็นและอาจเกิดขึ้น เช่น ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ยาบรรเทาอาการท้องเสีย ยาทาผื่นคัน กรณีที่มียาหลายชนิดอาจมีบันทึกรายชื่อและขนาดยาทั้งหมด หรือถ่ายรูปยาไว้ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเผื่อกรณียาสูญหาย หากเดินทางไปต่างประเทศควรขอให้แพทย์ออกหนังสือรับรองภาษาอังกฤษแสดงความจำเป็นในการพกยาประจำตัวขึ้นเครื่องไปด้วย

อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ไม้เท้า รถเข็นนั่ง เครื่องผลิตออกซิเจนพกพา เครื่องพ่นยา

ประวัติการรักษา อาจขอให้แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยช่วยสรุปข้อมูลที่จำเป็น พกไประหว่างเดินทาง หรือขอเอกสารที่จำเป็นมารวบรวมไว้ แล้วเก็บในรูปแบบอิเลคโทรนิกไฟล์ ในแฟลชไดรฟ์ เว็บไซด์ที่มีพื้นที่รับฝากข้อมูล หรืออีเมล จะได้ไม่ต้องกลัวข้อมูลหาย

เตรียมเงินสำรองให้เพียงพอ ในการท่องเที่ยวอาจมีค่าใช้จ่ายเกินกว่าแผนที่วางไว้ อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยมะเร็ง เช่น สิ่งของที่ต้องซื้อเพิ่มเติม การเจ็บป่วยระหว่างเดินทางที่ต้องเข้ารับการรักษา
ออกเดินทาง

กินอาหารและยาตามเวลาปกติ อย่ามัวเที่ยวเพลิน ผู้ป่วยอาจดูแลตัวเองในเรื่องอาหารและยาได้ดี หรือให้ผู้ดูแลช่วยเตือน อาจใช้เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันช่วย เช่น การตั้งนาฬิกาปลุก โปรแกรมบันทึกช่วยจำ หรือใช้แอพพลิเคชั่นเตือนกินยาในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

ระวังการติดเชื้อ ผู้ป่วยมะเร็งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจากการได้รับเคมีบำบัด การติดเชื้อจากการท่องเที่ยวมีโอกาสมาจากอากาศ อาหาร และการเกิดบาดแผล จึงควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่การถ่ายเทอากาศไม่ดี มีคนหนาแน่นเบียดเสียด เลือกรับประทานอาหารที่สุก ผ่านความร้อน กระบวนการปรุงและภาชนะสะอาด ไม่รับประทานสิ่งที่สุ่มเสี่ยง เช่น น้ำแข็ง ผลไม้ปอกขาย หรือของหมักดอง (หากอากาศร้อน อาจทำน้ำแข็งสะอาดใส่กระติกเก็บความเย็นไป) ล้างมือบ่อยๆ ใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือ และระวังอย่าให้เกิดบาดแผล

ระวังแสงแดด เคมีบำบัด รังสีรักษา หรือยามุ่งเป้าบางชนิด ทำให้ผิวหนังมีการอักเสบ มีผื่นแพ้ มีความไวต่อแสงแดด ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรงในช่วงเวลาประมาณ 10.00-15.00 น. ทาครีมกันแดดที่แพทย์แนะนำ สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังจากแดด สวมแว่นกันแดด

พักเป็นระยะระหว่างเดินทาง จะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไป

อย่าลืมถ่ายภาพความทรงจำ การท่องเที่ยวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันแล้วผ่านไปเท่านั้น ภาพถ่ายสถานที่สวยงามที่เดินทางไปถึง ภาพความสนุกกับครอบครัว จะถูกบันทึกไว้เป็นกำลังใจในการรักษาของผู้ป่วยได้อีกยาวนาน

นอกจากความสุขของผู้ป่วยแล้ว ความสุขของผู้ดูแลผู้ป่วย และทุกคนที่ร่วมเดินทางก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่าวิตกกังวลจนรู้สึกว่าการพาผู้ป่วยมะเร็งมาท่องเที่ยวกลายเป็นภาระอันหนักหน่วง เพราะความกังวลจะพาให้ผู้ป่วยไม่สบายใจไปด้วย ขอให้ใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกันให้เต็มที่ มีความสุขร่วมกัน ชาร์ตพลังไปพร้อมกันทั้งครอบครัว หากมีปัญหาต้องแก้ไขระหว่างการเดินทาง ให้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำสำหรับทุกคน

ขอให้ทุกท่านมีความสุข และสนุกกับการเดินทางนะคะ ^^

_______________________
ข้อมูลบางส่วนประยุกต์จาก www.cancerresearchuk.org

กำลังโหลดความคิดเห็น