ปัจจุบันมีผู้ป่วยจากการรับประทานเค็ม ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 11 ล้านคน โรคไต 7 ล้านคน (ข้อมูลจากศ.นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล)
อาหารรสเค็มอุดมไปด้วยโซเดียมที่สูงมาก ซึ่งโซเดียมนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายก็จริงแต่หากได้รับเกินความจำเป็นก็ให้โทษและอันตรายต่อร่างกายได้
โซเดียมคืออะไร ??
โซเดียมจัดเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายทำหน้าที่รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ ดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก ควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย ฯลฯ แต่หากได้รับมากเกินความจำเป็นร่างกายก็จะขับออกส่งผลให้ไตทำงานมากจนเกินปกติ
อาหารที่อุดมไปด้วยโซเดียม ได้แก่
1.อาหารแปรรูป, อาหารกระป๋อง, อาหารหมักดอง
2.เครื่องปรุงรสต่างๆ อาทิ น้ำปลา, ซีอิ๊ว, ซอส ฯลฯ
3.อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, โจ๊กชนิดซอง ฯลฯ
4.ผงชูรส
5.เครื่องดื่มเกลือแร่ต่างๆ
6.อาหารธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ, ข้าว ฯลฯ
5 อันดับเครื่องปรุงรสยอดนิยมโซเดียมสูง
1. เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 6,000 มิลลิกรัม
2.น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,160-1,420 มิลลิกรัม
3. ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียม 960-1420 มิลลิกรัม , ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม
4.กะปิ 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม
5. ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม
ส่วนอาหารถุง, อาหารปรุงสำเร็จก็มีโซเดียมสูงเช่นเดียวกัน อาทิ ไข่พะโล้ แกงไตปลา คั่วกลิ้ง ฯลฯ โซเดียมเฉลี่ยต่อถุง 815-3,527 มิลลิกรัม , อาหารจานเดียว อาทิ ข้าวหน้าเป็ดข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และข้าวคลุกกะปิ ฯลฯ มีปริมาณโซเดียม 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งจาน (ข้อมูลจากนางธัญวรินทร์ ตั้งเสริมวงศ์ หัวหน้าฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ)
ช่วงอายุและปริมาณโซเดียมที่ต้องการต่อวัน อายุ 6 เดือนแรก 200-400 มิลลิกรัม (เท่ากับปริมาณโซเดียมในนมแม่) อายุ 6-11 เดือน 175-550 มิลลิกรัม อายุ 1-3 ปี 225-675 มิลลิกรัม อายุ 4-5 ปี 300-900 มิลลิกรัม อายุ 6-8 ปี 320-950 มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี 350-1,175 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี 400-1,500 มิลลิกรัม อายุ 16-18 ปี 425-1,600 มิลลิกรัม อายุ 19-30 ปี 400-1,475 มิลลิกรัม อายุ 31-70 ปี 400-1,450 มิลลิกรัม |