xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋ง! ผลิตเครื่องตรวจความเค็ม “อาหาร-ฉี่” สกัดกินเค็มเกินขนาด ลดเสี่ยงโรคไต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิศวะ ม.มหิดล ผลิตเครื่องตรวจความเค็มในอาหาร จุ่มปุ๊บรู้ทันทีมีโซเดียมสูงกี่เปอร์เซ็นต์ ราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ 5 - 6 เท่า ช่วยป้องกันการกินเค็ม พร้อมประดิษฐ์แผ่นตรวจปริมาณโซเดียมในฉี่ เล็งให้ อสม. ใช้ตรวจชาวบ้าน ช่วยคัดกรองเสี่ยงป่วยโรคไต ความดันสูง กินเค็มเกินขนาด

วันนี้ (20 พ.ย.) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ผศ.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล แถลงข่าว “ความสำเร็จของเครือข่ายลดบริโภคเค็มในปี 2557” ว่า จากการดำเนินโครงการผลิตเครื่องตรวจสอบความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนนั้น ในส่วนของเครื่องตรวจสอบความเค็มในอาหารจะใช้หลักการนำไฟฟ้ามาใช้ตรวจสอบ โดนติดวัสดุนำไฟฟ้าที่ปลายเครื่อง เมื่อจุ่มลงไปในอาหารก็จะแสดงปริมาณเกลือ หรือโซเดียม หรือความเค็ม ว่าอยู่ที่ระดับกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถวัดได้สูงสุดถึง 20% สูงกว่าเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะไทยมีอาหารรสจัดกว่า ที่สำคัญราคาถูกกว่า 5 - 6 เท่า โดยราคาอยู่ที่เครื่องละ 1,000 บาท หากผลิตในระดับอุตสาหกรรมปริมาณมากได้ราคาก็จะลดลงอีก ขณะที่เครื่องนำเข้าราคาสูงถึง 3,000 - 8,000 บาท ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตออกจำหน่าย แต่หากหน่วยงานใดมีความต้องการที่จะใช้งานก็พร้อมที่จะทำการผลิต

ระดับความเค็มของอาหารที่แพทย์แนะนำ คือ ไม่ควรเกิน 1 - 5% อย่างไรก็ตาม เครื่องปรุงอาหารไทยบางชนิดมีผลทำให้การนำไฟฟ้าเปลี่ยนแปลง เครื่องมือจึงมีการกำหนดโหมดในการใช้งาน ปัจจุบันมี 2 โหมด คือ โหมดส้มตำ และโหมดต้มยำ สำหรับใช้ตรวจสอบความเค็มในอาหาารทั้ง 2 ประเภท อย่างไรก็ตาม อาหารประเภทอื่นสามารถนำมากำหนดเข้าเครื่องเพื่อใช้ทดสอบความเค็มได้ทันที เพราะมีโปรแกรมอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้กำหนดอาหารชนิดใดลงไปในเครื่องทดสอบ” ผศ.ยศชนัน กล่าว

ดร.พรพิมล ศรีทองคำ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า ส่วนเครื่องตรวจโซเดียมในปัสสาวะ มีลักษณะเป็นแผ่นทำจากสารที่มีความจำเพาะกับโซเดียม หลักการทำงานคล้ายกระดาษลิสมัส โดยนำปัสสาวะเพียง 1 หยดบนแผ่นทดสอบ แผ่นจะเปลี่ยนสีตามปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ หากสีอ่อนคือมีปริมาณน้อย สีเข้มขึ้นคือมีปริมาณโซเดียมมาก โดยสามารถวัดปริมาณโซเดียมในปัสสาวะได้ในระดับตั้งแต่ 0.1- 1% ซึ่งแผ่นทดสอบจะมีสีเข้มมากเมื่อมีปริมาณโซเดียมในปัสสาวะตั้งแต่ระดับ 0.5% ขึ้นไป สามารถผลิตได้ในราคาต้นทุนแผ่นละ 3 บาท แต่หากนำเข้าราคาจะอยู่ที่ 40 - 120 บาท แผ่นการทำสอบโซเดียมในปัสสาวะนี้สามารถใช้งานได้ง่าย และนำไปใช้ในการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไตได้ ซึ่งปัจจุบันยังผลิตได้ในปริมาณน้อยและไม่มีวางจำหน่าย แต่หากมีหน่วยงานที่สนใจก็พร้อมที่จะขยายสู่ภาคอุตสาหกรรม

นายสง่า ดามาพงษ์ เลขานุการคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในอนาคตอาจจะมีการนำนวัตกรรมทั้ง 2 ชิ้นมาใช้งานจริง โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคไตและผู้ที่รับปริมาณอาหารที่มีความเค็มมากในพื้นที่ชุมชนต่างๆ จะช่วยลดปริมาณการบริโภคอาหารรสเค็มของคนไทยลงได้ จะช่วยให้ลดความเสี่ยงต่อการป่วยจากการรับประทานเค็ม เช่น โรคไต หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์การบริโภคเค็ม ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สสส. กล่าวว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยบริโภคเค็มมากกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ถึง 2 เท่า คือ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะคนไทยนิยมเติมเครื่องปรุงรส ทั้งน้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม ส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคไต ซึ่งมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง 17.6% ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 4 หมื่นคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิต และเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หากยังไม่มีมาตรการใดควบคุม คาดว่า ในปี 2560 อาจจะต้องใช้งบประมาณกว่า 17,000 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิตจากไตวาย 13,536 คน ประมาณ 1 ใน 3 ตายก่อนวัยอันควร

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น