xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยป่วยไตเรื้อรัง 8 ล.พบเด็กป่วยมากขึ้น อึ้ง! 1 ใน 3 ตายเพราะรอเปลี่ยนไตไม่ไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไทยป่วยไตเรื้อรังถึง 8 ล้านคน รอเปลี่ยนไตกว่า 40,000 คน พบ 1 ใน 3 รอไม่ไหวจนเสียชีวิต แถมเด็กป่วยมากขึ้น กรมอนามัยพร้อมเครือข่ายต่างๆ ร่วมจัดกิจกรรมวันไตโลกและสัปดาห์ลดบริโภคเค็ม หวังกระตุ้นประชาชนตระหนักการลดเค็ม ช่วยสุขภาพดี

วันนี้ (26 ก.พ.) ที่ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ นพ.พรเทพ ศิริรวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวแถลงข่าวการจัดงานกิจกรรมวันไตโลกและสัปดาห์วันไตโลก 2557 ว่า จากข้อมูลพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน หรือร้อยละ 17.6 ของประชากร จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน มีการป่วยเพิ่มปีละ 7,800 คน รอการผ่าตัดเปลี่ยนไต 40,000 คน แต่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไตเพียง 400 คนเท่านั้น ที่น่าตกใจคือ 1 ใน 3 ของคนที่รอการเปลี่ยนไตต้องเสียชีวิตลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยไต 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อคน เพราะต้องได้รับการฟอกไตด้วยวิธีฟอกเลือด หรือล้างไตผ่านหน้าท้อง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้แต่ละปีต้องใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านบาท โดยปัจจุบันภาครัฐให้สิทธิประชาชนทุกคนในการฟอกไตผ่านช่องท้องฟรี นอกจากนี้ เมื่อป่วยยังทำให้คุณภาพชีวิตต่ำลง เสี่ยงการติดเชื้อแทรกซ้อน และไม่สามารถทำงานได้ตามปกติด้วย

“สาเหตุของโรคไตเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง โดยปัจจุบันประชาชนบริโภคโซเดียมสูงกว่าที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า เนื่องจากลักษณะการกินของคนไทยชอบกินอาหารรสจัด ชอบเติมเครื่องปรุงเพิ่ม ทั้งที่อาหารที่ซื้อกินทั่วไปมีการเติมเครื่องปรุงและผงชูรสลงไปอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุให้ได้รับโซเดียมเพิ่ม นอกจากนี้ การเกิดโรคไตมักเกิดจากโรคเบาหวานและความดัน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคและไม่ออกกำลังกายเช่นกัน เมื่อป่วยเป็นความดันและเบาหวาน ทำให้เส้นเลือดแข็งตัว ตีบตัน เส้นเลือดฝอยในไตหมดสภาพและตาย ทำให้เกิดโรคไต” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ กรมอนามัยจะเน้นเรื่องการลดบริโภคเค็ม จะช่วยให้ความดันลดลง โดยจะจัดสัปดาห์ลดการบริโภคเค็มระหว่างวันที่ 10-16 มี.ค.ที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาโรคไตและปัจจัยหลักที่คนไทยบริโภครสเค็มมากเกินไป ทำให้เป็นโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาและเกิดภาวะไตวายเรื้อรังและเสียชีวิตในที่สุด

น.อ.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคไตเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ หากไม่มีการปรับพฤติกรรมดูแลตัวเองโรคไตก็จะไม่มีวันลดลง สมาคมฯจึงเตรียมจัดกิจกรรมวันไตโลกขึ้นในวันที่ 9 มี.ค.ที่แกรนด์ฮอลล์ ชั้น 1 สยามดิสคัฟเวอรี ซึ่งสมาคมโรคไตในต่างประเทศต่างก็จัดขึ้นพร้อมกันเช่นกัน โดยมีสโลแกนว่า โรคไตเสี่ยงทุกวัยเป็นได้ทุกคน โดยบนเวทีจะมีการให้ความรู้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากผู้ป่วยโรคไต มีการสาธิตการทำอาหาร เมนูอร่อยดีต่อสุขภาพไต และการทำเมนูจืดๆอย่างไรจึงจะอร่อย นอกจากนี้ จะได้รับการตรวจร่างกายสุขภาพไตด้วย

ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปตามสังคม คือเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไตเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การป้องกันการดูแลตนเองก่อนมีอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัญหาสำคัญคืออาหาร โดยเฉพาะอาหารเค็ม ซึ่งมีรสชาติดี แต่เมื่อกินเค็มมากเกินไปก็เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ รุนแรงขึ้น ถ้าบุคลากรทุกฝ่ายร่วมกันในเชิงป้องกัน โน้มน้าวให้เห็นถึงความตระหนัก ให้ประชาชนกินอาหารเหมาะสมต่อสุขภาพเป็นเรื่องดี ราชวิทยาลัยฯจึงสนับสนุนทั้ง 2 กิจกรรม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักของการกินอาหารลดเค็มที่เหมาะสม ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 21.4 หรือ 11.5 ล้านคน โรคไต ร้อยละ 17.5 หรือ 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด ร้อยละ 1.4 หรือ 0.75 ล้านคน โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ร้อยละ 1.1 หรือ 0.5 ล้านคน

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขณะนี้ไลฟ์สไตล์ของคนไทยเปลี่ยนไปมาก การเจ็บป่วยก็เปลี่ยนไป สสส.จึงเน้นทำเรื่องโรคที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะการลดบริโภคอาหารรสจัดทั้งหวาน มัน เค็ม โดยกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือเด็กวัยเรียน 6-14 ปี เน้นทำเรื่องศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ อาหารเหมาะสม อ่อนหวานมันเค็ม และกลุ่มวัยทำงาน ส่งเสริมให้มีองค์กรต้นแบบคือองค์กรไร้พุง ซึ่งกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลก และลดบริโภคเค็มก็จะนำเครือข่ายต่างๆ มาช่วยจุดประกายให้สนใจอาหารใกล้ตัวมากขึ้น

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทั้งไทยและต่างประเทศคล้ายกันคือ ประชาชนบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ โดยชาวตะวันตกมักได้รับโซเดียมจากอาหารแช่แข็ง ส่วนแถบเอเชียมักได้รับจากเครื่องปรุงต่างๆ ​โดยคนไทยได้รับจากการกินอาหารแต่ละมื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมักอยู่ในอาหารแปรรูป โดยเฉพาะจากเครื่องปรุงรสซึ่งนิยมใช้มาก 5 ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม เมื่อเปรียบเทียบจะพบว่าเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 6,000 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,160-1,420 มิลลิกรัม ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 960-1,420 มิลลิกรัม ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม เป็นต้น

ยังพบว่าคนไทยนิยมกินอาหารถุงปรุงสำเร็จ ซึ่งมีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยต่อถุง 815-3,527 มิลลิกรัม อาทิ ไข่พะโล้ แกงไตปลา คั่วกลิ้ง เป็นต้น ส่วนอาหารจานเดียว ที่มีปริมาณโซเดียม 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งจาน อาทิ ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และข้าวคลุกกะปิ เป็นต้น ปัจจุบันผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไตมีอายุเฉลี่ยที่น้อยลง รวมถึงพบว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไตในเด็ก เพิ่มสูงขึ้นมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่มักจะต้องเติมน้ำปลาหรือน้ำปลาพริกทุกมื้อ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยง จนเป็นสาเหตุในเรื่องของภาวะไตวายเรื้อรัง” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวและว่า การลดเค็มต้องเริ่มจากการลดทีละน้อย จะค่อยๆ ช่วยเปลี่ยนการรับรสของลิ้น อย่าลดเค็มทีละมากๆ เพราะจะทำให้รู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย


กำลังโหลดความคิดเห็น