สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วิงวอนให้เร่งรัดออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อปกป้องเด็กจากบุหรี่ และพร้อมกันนี้ ขอเชิญชวนพ่อแม่ร่วมกันปกป้องบุตรหลานด้วยการสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้มีเยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี ติดบุหรี่แล้ว 1.6 ล้านคน โดย ร้อยละ 70 (หรือ 1.1 ล้านคน) จะติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต และในจำนวนนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งหรือกว่า 5 แสนคน จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยผลกระทบจากบุหรี่ ซึ่งจากสถิติที่พบว่า ผู้สูบบุหรี่ 50,000 คน ที่เสียชีวิตในแต่ละปี ประมาณ 27% หรือ 13,500 คน จะเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นในการพัฒนา
“ผมและคณะ ในนามของสถาบันและองค์กรที่ทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก และเยาวชนไทย จึงส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี วิงวอนให้ท่านและรัฐบาล ให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็กและเยาวชนจากการตกเป็นเหยื่อของบริษัทบุหรี่ โดยเร่งรัดให้มีการออก พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยเร็ว ซึ่งจดหมายฉบับดังกล่าว มีผู้ร่วมลงนามจาก 12 สถาบันด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน และจะนำส่งไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้”
รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสูบบุหรี่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาส่วนต่าง ๆ ของเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงวัยรุ่นร่างกายกำลังพัฒนาสมองส่วนของการคิด กับการทำงานขั้นสูงนั้น หากได้รับสารนิโคตินจากการสูบบุหรี่เข้าไปแล้ว การพัฒนาในส่วนนั้นก็จะถูกทำลายไปตามปริมาณและระยะเวลาที่สูบ
นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการติดยาเสพติดอื่น ๆ และตามมาด้วยพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ เช่น เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน ดื่มสุรา เป็นต้น ตนเองในฐานะที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล และพ่อแม่ ออกมาช่วยป้องกันบุตรหลาน และร่วมกันหยุดยั้งวงจรการทำลายสมองเด็กเนื่องจากการสูบบุหรี่
นางศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามในสัตยาบัน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่มีผลให้ต้องปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน อีกทั้งประเทศไทยยังมีพันธกรณี ที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบให้ สอดคล้องกับอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยเป็น 1 ใน 180 รัฐภาคี ที่ต้องควบคุมกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ และการบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นที่น่าเป็นห่วงว่า ขณะนี้ร่างกฏหมายบุหรี่ถูกดึงให้ล่าช้า โดยองค์กรที่จะได้ประโยชน์จากการขายบุหรี่