xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจง ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ไม่กระทบเกษตรกรไร่ยาสูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตกเป็นประเด็นใหญ่ซึ่งต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งอีกประเด็นหนึ่ง สำหรับร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ...ที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมผลักดันเข้าคณะรัฐมนตรี และได้รับการคัดค้าน ทั้งจากบริษัทผู้ประกอบการยาสูบ สมาคมผู้ค้ายาสูบ สหภาพแรงงานโรงงานยาสูบ ไปจนถึงกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ เพราะคิดว่าจะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมยาสูบมีด้วยกัน ๒ ฉบับ ๑) พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕ ว่าด้วยการควบคุมการขาย หีบห่อ การโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฯลฯ และ ๒) พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.๒๕๓๕ ที่กำหนดสถานที่สาธารณะห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ โดยมีสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดูแล

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ... ที่กำลังเป็นประเด็นกันอยู่ขณะนี้ เป็นการผนวกรวมกฎหมายฉบับที่ ๑ และ ๒ เข้าด้วยกัน ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ

หนึ่ง กฎหมายทั้งสองฉบับใช้บังคับนานแล้วโดยไม่เคยได้รับการปรับปรุงแก้ไข ทำให้เนื้อหาไม่ทันยุคสมัย และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งในด้านเทคนิคการตลาด หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ๆ

สอง ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีและร่วมลงนามให้สัตยาบัณในอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) ซึ่งมีข้อเสนอแนะหลายประการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และดูแลสุขภาพของประชากรของแต่ละประเทศ จึงควรพิจารณาคัดเลือกบทบัญญัติต่าง ๆ ดังกล่าวเท่าที่จำเป็น สอดคล้องและเหมาะสมมาอนุวัติไว้ในกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อปรับปรุงและยกร่างขึ้นเมื่อกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ ประกอบด้วย อาจารย์กฎหมายจากสถาบันการศึกษาที่ทำงานวิจัยด้านกฎหมาย นักกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นิติกรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ แพทย์และผู้แทนองค์กรเอกชนผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ เป็นต้น

จากประเด็นคัดค้านจากบรรดาผู้ประกอบการดังที่เป็นข่าว คณะผู้ร่างฯ ได้ชี้แจงในทุกเวทีและทุกสื่อว่า เจตนารมณ์ รวมถึงถ้อยคำในมาตราต่าง ๆ ของกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวข้อง ครอบคลุม หรือใช้บังคับกับเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นเพียงผู้สร้าง "วัตถุดิบ" เพื่อป้อนเข้าสู่
โรงงานหรือกระบวนการผลิต "ผลิตภัณฑ์ยาสูบ" อีกทีหนึ่ง


คณะผู้ร่างฯ จึงตัดสินใจปรับถ้อยคำตั้งแต่ชื่อและอีกหลายแห่งในร่างให้เป็น "พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ....” เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า กฎหมายนี้ใช้บังคับกับกลุ่มผู้ผลิต นำเข้า จำหน่ายยาสูบประเภทที่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม หรือกรรมวิธีใดๆ จนขึ้นชื่อว่าเป็น "ผลิตภัณฑ์" สำเร็จแล้ว เท่านั้น

ร่าง "พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ....” ไม่แตกต่างจากกระบวนการยกร่างกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่ต้องมีการประชุมปรึกษากันต่อเนื่องยาวนานโดยมีองค์ประชุมหลักเป็นคณะกรรมการยกร่างฯ และเมื่อมีข้อสงสัย หรือติดขัดในประเด็นใด ที่ด้วยความรู้และประสบการณ์ของกรรมการเองไม่สามารถหาคำตอบได้ ก็จะมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น ๆ มาให้ความรู้

ดังนั้น คณะร่างฯ จึงขอชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะเป็นไปอย่างไม่ขัดแย้งและสร้างผลกระทบต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ตามที่ได้ชี้แจงไว้แล้ว
ข้อมูลโดย สสส

กำลังโหลดความคิดเห็น