xs
xsm
sm
md
lg

สสส.เชื่อ “ยาสูบ” มีวาระแอบแฝง ขวางงบ “สสส.” - “ไทยพีบีเอส” ยันถูกตรวจสอบต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
“สุปรีดา” โวยยาสูบขวางจัดงบ “สสส.- ไทยพีบีเอส” เชื่อมีวาระแอบแฝง หรือผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ หลังถูกรีดภาษีเหล้า - บุหรี่ 2% ตั้งกองทุนพัฒนาท่องเที่ยว ยัน สสส. ตั้งขึ้นมาตามกฎหมาย ถูกตรวจสอบการใช้งบอย่างต่อเนื่อง

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงกรณีที่รักษาการผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ (รยส.) เตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้โรงงานยาสูบต้องส่งงบประมาณเข้าคลัง แทนการจัดสรรให้ สสส. และ ไทยพีบีเอส เพื่อให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบได้ ว่า สสส. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ซึ่งกลไกการตรวจสอบตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จะต้องส่งข้อมูลการดำเนินงานให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พิจารณาตรวจสอบโดยตลอด รวมทั้งระหว่างปีงบประมาณ สตง. สามารถเข้ามาตรวจสอบทั้งในส่วนเอกสารและบัญชีต่างๆ รวมถึงตรวจสอบในด้านสมรรถนะการทำงาน ทั้งในส่วนของสำนักงานและภาคีเครือข่ายด้วย โดยที่ สสส. จะมีห้องทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ สตง. นั่งประจำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำหน้าที่ตรวจสอบได้โดยตลอดเวลา

รองผู้จัดการ สสส. กล่าวอีกว่า สสส. ดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มี รมว.สาธารณสุข เป็นรองประธานคนที่ 2 ทำหน้าที่พิจารณาแผนการดำเนินงาน ตลอดจนงบประมาณในภาพรวม โดยระบบการติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานของ สสส. นอกเหนือจาก สตง. แล้ว ยังถูกตรวจสอบอีกหลายชั้น อาทิ คณะกรรมการประเมินผล ที่แต่งตั้งโดย ครม. มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชาทำหน้าที่ คณะกรรมการตรวจสอบภายใน อีกทั้งยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มหน่วยงานที่บริหารงานแบบกองทุนหมุนเวียน ซึ่งกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเป็นพิเศษ เพื่อรายงานผลการดำเนินงานต่อ ครม. หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ได้เข้ามาตรวจสอบด้วย

“สสส. ต้องส่งรายงานผลการดำเนินงานตามระบบมาตรฐานนี้ทุกปี มีการกำหนดเคพีไอต่างๆ เป็นไปตามระบบกลไกการตรวจสอบของหน่วยงานนั้นๆ แม้ว่าเฉพาะตามกฎหมายจริงๆ จะกำหนดให้ถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการประเมินผล และ สตง. เท่านั้น อีกทั้งเมื่อลงลึกไปที่รูปแบบการทำงาน ก็ยังมีคณะกรรมการบริหารแผนอีก 8 คณะ มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 คน ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานให้เป็นไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ทั้ง 15 แผนงานของ สสส. และอนุมัติงบประมาณในโครงการใหญ่ๆ หรือในโครงการย่อยๆ ก็ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาวิชาต่างๆ กว่า 700 คน ทำหน้าที่กลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง” ดร.สุปรีดา กล่าว

ดร.สุปรีดา กล่าวอีกว่า สำหรับแนวคิดของรักษาการผู้อำนวยการ รยส. หากมองในฐานะหน่วยงานก็อาจจะออกมาแสดงความเห็นได้ แต่ในส่วนงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อเสนอในการที่จะขอไม่่ให้ส่งเงินให้กับ สสส. หรือ ทีพีบีเอส ตามที่กฎหมายกำหนด โดยให้เหตุผลที่ขาดน้ำหนักและคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงนั้น ก็คงต้องพิจารณาว่าจะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากที่ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีข้อเสนอให้มีการนำเงิน 2 เปอร์เซ็นต์ จากภาษีสุราและยาสูบ มาจัดตั้งเป็นกองทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ ก็ทราบว่า มีขบวนการที่พยายามเคลื่อนไหวส่งข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและให้ร้ายการทำงานของ สสส. อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเจตนาจากผู้เสียประโยชน์หากกำหนดให้มีการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น