xs
xsm
sm
md
lg

โวย”ยาสูบ”มีวาระซ่อนเร้น ขวางจัดงบ"สสส.-ไทยพีบีเอส"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงกรณีที่รักษาการ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ (รยส.) เตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้โรงงานยาสูบต้องส่งงบประมาณเข้าคลัง แทนการจัดสรรให้ สสส. และไทยพีบีเอส เพื่อให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบได้ว่า สสส.เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ซึ่งกลไกการตรวจสอบตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จะต้องส่งข้อมูลการดำเนินงานให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง. ) พิจารณาตรวจสอบโดยตลอด รวมทั้งระหว่างปีงบประมาณ สตง. สามารถเข้ามาตรวจสอบทั้งในส่วนเอกสาร และบัญชีต่างๆ รวมถึงตรวจสอบในด้านสมรรถนะการทำงาน ทั้งในส่วนของสำนักงานและภาคีเครือข่ายด้วย โดยที่ สสส. จะมีห้องทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ สตง. นั่งประจำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำหน้าที่ตรวจสอบได้โดยตลอดเวลา
รองผู้จัดการ สสส. กล่าวอีกว่า สสส. ดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรมว.สาธารณสุข เป็นรองประธานคนที่ 2 ทำหน้าที่พิจารณาแผนการดำเนินงาน ตลอดจนงบประมาณในภาพรวม โดยระบบการติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานของ สสส. นอกเหนือจาก สตง. แล้ว ยังถูกตรวจสอบอีกหลายชั้น อาทิ คณะกรรมการประเมินผล ที่แต่งตั้งโดยครม. มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชาทำหน้าที่ คณะกรรมการตรวจสอบภายใน อีกทั้งยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มหน่วยงานที่บริหารงานแบบกองทุนหมุนเวียน ซึ่งกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเป็นพิเศษ เพื่อรายงานผลการดำเนินงานต่อครม. หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) ได้เข้ามาตรวจสอบด้วย
“สสส.ต้องส่งรายงานผลการดำเนินงานตามระบบมาตรฐานนี้ทุกปี มีการกำหนด เคพีไอ ต่างๆ เป็นไปตามระบบกลไกการตรวจสอบของหน่วยงานนั้นๆ แม้ว่าเฉพาะตามกฎหมายจริงๆ จะกำหนดให้ถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการประเมินผล และ สตง. เท่านั้น อีกทั้งเมื่อลงลึกไปที่รูปแบบการทำงาน ก็ยังมีคณะกรรมการบริหารแผนอีก 8 คณะ มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 คน ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานให้เป็นไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ทั้ง 15 แผนงานของ สสส. และอนุมัติงบประมาณในโครงการใหญ่ๆ หรือในโครงการย่อยๆ ก็ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาวิชาต่างๆ กว่า 700 คน ทำหน้าที่กลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง”ดร.สุปรีดา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น