ภาคียาสูบ ยื่นหนังสือต่อรองประธาน สนช. จี้แก้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ โวยคุกคามอาชีพสุจริต ไม่นึกถึงชาวไร่กว่า 40,000 ครัวเรือน ยื่นนายกฯ ก็ไม่รับฟังจริงจัง แถมโดนลดโควต้าปลูกยา กระทบโชวห่วย ขอตัวแทนให้ข้อมูลในชั้น กมธ. ด้าน “พีระศักดิ์” ขออย่ากังวล จ่อให้แจงแน่ เชื่อผู้บริหารบ้านเมืองจะใจกว้างรับฟัง
วันนี้ (10 พ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 12.00 น. ตัวแทนภาคียาสูบประกอบด้วยสมาคมชาวไร่ยาสูบจาก 6 จังหวัดภาคเหนือ และเครือข่ายชาวไร่ยาสูบ 5 จังหวัดภาคอีสาน สมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์ จ.สุโขทัย จ.เพชรบูรณ์ รวมทั้งสมาคมการค้ายาสูบซึ่งเป็นตัวแทนของร้านค้าโชวห่วยทั่วประเทศพร้อมตัวแทนชาวไร่ยาสูบจำนวน 40 คน นำโดยนายกฤษณ์ ผาทอง ตัวแทนภาคียาสูบ และนายกสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบ จ.เชียงใหม่ และนางวราภรณ์ นะมาตร์ ผอ.บริหารสมาคมการค้ายาสูบ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 เพื่อเรียกร้องให้ สนช.แก้ไขบางมาตราในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
โดยนายกฤษณ์กล่าวว่า ภาคียาสูบมีความกังวลหลายมาตราในร่าง พ.ร.บ.ที่สาธารณสุขนำเสนอ กำลังคุกคามการประกอบอาชีพสุจริต ไม่ได้คำนึงถึงชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศกว่า 40,000 ครัวเรือน แม้จะเคยยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีแล้วแต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดรับฟังอย่างจริงจัง ปีนี้นอกจากปัญหาน้ำท่วมแล้วเรายังเจอปัญหาโดนลดโควตาปลูกยา ดังนั้นจึงวิงวอนขอความเป็นธรรมจาก สนช.แก้ไขกฎหมายที่สุดโต่ง และให้ตัวแทนชาวไร่และร้านโชห่วยเข้าให้ข้อมูลในชั้นกรรมาธิการ
ขณะที่นางวราภรณ์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มีข้อห้ามมากมายที่จะกระทบกับธุรกิจร้านค้าขนาดเล็กกว่า 870,000 รายทั่วประเทศ โดยข้อห้ามเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับการลดจำนวนผู้สูบหรี่
ด้านนายพีระศักดิ์กล่าวว่า ตนจะนำเรียนประธาน สนช.เพื่อแจ้งให้สมาชิก สนช.ได้รับทราบถึงข้อเรียนดังกล่าว โดยร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... จะพิจารณารับหลักการในวันที่ 11 พ.ย.นี้ โดยเราได้รับทราบปัญหาและตั้งรับเรื่องนี้พอสมควรโดยเมื่อรับหลักการในวาระแรกแล้วก็จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมากกว่าปกติคือจำนวน 21 คน และเพื่อรัดกุมและความรอบคอบในการพิจารณาจึงกำหนดเวลาในการพิจารณาเป็น 60 วัน ทั้งนี้ ขอให้อย่าได้กังวลเนื่องจาก สนช.จะขอให้เกษตรกรปลูกยาสูบและเครือข่ายภาคีได้ส่งตัวแทนเข้าชี้แจงปัญหาและข้อเสนอในชั้นกรรมาธิการต่อไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันเชื่อว่าผู้บริหารบ้านเมืองจะใจกว้างรับฟังหากเป็นหลักการที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมแก้ไขกว่าสถานการณ์ปกติ