xs
xsm
sm
md
lg

ค้านร่าง กม.การยาสูบฯ เปิดช่อง “บุหรี่ข้ามชาติ” ตั้งบริษัทผลิตบุหรี่ในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอหทัย” ค้านร่าง พ.ร.บ. การยาสูบฯ เปิดช่อง “บริษัทยาสูบข้ามชาติ” เข้ามาผลิต “บุหรี่” ในประเทศ หวั่นกระทบสุขภาพคนไทย สูญเสียอธิปไตยควบคุมยาสูบ วอน "บิ๊กตู่" สั่งการทบทวนกฎหมาย ด้านทนายความ สสท. ชี้ ร่าง กม. เขียนชัดเปิดบริษัทยาสูบได้ ต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49% หวั่นเจอปัญหานอมินี นักเศรษฐศาสตร์เผยตั้งบริษัททำพนักงานโรงงานยาสูบ-ชาวไร่ยาสูบตกงานแน่

วันนี้ (28 มี.ค) ที่โรมแรมเดอะ สุโกศล ในงานแถลงข่าวเรื่อง “ร่างกฎหมายใหม่เปิดทางให้มีการแปรรูปโรงงานยาสูบ นำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยในการควบคุมยาสูบของประเทศไทย” โดย นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย (สสท.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (2550-2551) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะเป็นการยกฐานะของโรงงานยาสูบจากรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ให้เป็น “การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)” ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อให้สะดวกต่อการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งในเรื่องนี้ก็สนับสนุนและเห็นด้วย แต่มีข้อกังวลว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้มีการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ตรงนี้จะเป็นการเปิดช่องให้อุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติสามารถเข้ามาผลิตบุหรี่ซิกาแรตในประเทศไทยได้ ทั้งที่ผ่านมาถือเป็นกิจการที่ผูกขาดโดยรัฐ และยังเปิดช่องให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดอื่นๆ อีกมากด้วย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการควบคุมยาสูบของประเทศไทย อธิปไตยการควบคุมยาสูบของประเทศไทย และสุขภาพของคนไทย จึงขอเสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วยสั่งการให้มีการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายวศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความ สสท. กล่าวว่า การยกฐานะโรงงานยาสูบเป็นนิติบุคคลถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ร่างกฎหมายกลับเปิดช่องให้ต่างชาติสามารถเข้ามาผลิตยาสูบในประเทศไทยได้ เนื่องจากมีการเขียนว่า ให้มีการจัดตั้งบริษัท หรือบริษัทมหาชนที่เกี่ยวกับ หรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการ ยสท. โดยต่างด้าวสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 อาจทำให้อุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในกิจการยาสูบของประเทศไทยได้ นอกจากนี้ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนไทยที่ถือหุ้นจะไม่เป็นนอมินีของต่างชาติ รวมไปถึงยังกำหนดให้มีการออกตราสารเพื่อการลงทุนได้ ซึ่งก็ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นตราสารประเภทใด เพราะถ้าเป็นตราสารลักษณะ “บุริมสิทธิ” ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการครอบงำกิจการของอุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติได้ และแม้การออกตราสาร การจัดตั้งบริษัท การเข้าถือหุ้น หรือการลงทุน ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าอุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติจะไม่เข้าแทรกแซง โดยอาศัยอิทธิพลและอำนาจเงินที่มีอยู่

“ที่สำคัญคือ การจัดตั้งเป็นบริษัทก็จะกลายเป็นองค์กรที่แสวงหาผลกำไร หมายถึงย่อมต้องมาจากการจำหน่ายที่มากขึ้น สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาดึงดูดคนไทยได้ ทั้งบุหรี่แบบเคี้ยว บุหรี่ไร้ควัน ฯลฯ ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคยาสูบของประชาชนโดยตรง และกระทบต่อสุขภาพของคนไทย เรียกได้ว่าเป็นการทำกำไรบนสุขภาพของคนไทย ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก” นายวศิน กล่าว

รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักเศรษฐศาสตร์ สสท. กล่าวว่า การเปิดช่องให้มีการร่วมทุนกับเอกชน นอกจากเป็นการเปิดทางการผลิตบุหรี่ที่ดำเนินการโดยบริษัทยาสูบข้ามชาติแล้ว พนักงานของโรงงานยาสูบส่วนหนึ่งจะถูกปลดจากงาน เนื่องจากเครื่องผลิตบุหรี่รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพเพิ่มยอดผลิตได้มากขึ้น เกษตรชาวไร่ยาสูบก็จะตกงานจำนวนมาก เนื่องจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติจะนำใบยาสูบจากประเทศที่ตนไปลงทุนไว้มาผลิตแทน นอกจากนี้ การตั้งบริษัทขึ้นเพื่อหวังผลกำไร แต่เมื่อเทียบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากสุขภาพแล้วก็ถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งเมื่อต้นปี 2560 องค์การอนามัยโลกเปิดเผยผลการศึกษาว่า การสูบบุหรี่ก่อความสูญเสียต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่ารายได้ที่ประเทศต่างๆ ได้รับจากภาษียาสูบ สำหรับประเทศไทยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศศึกษาพบว่า ในปี 2552 การสูบบุหรี่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 74,884 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าภาษที่รัฐบาลจัดเก็บได้จากยาสูบรวมกับกำไรของโรงงานยาสูบ
กำลังโหลดความคิดเห็น