xs
xsm
sm
md
lg

จัดให้เสียชื่อ! “พชร์ อานนท์” เล่าบรรยากาศเทศกาลหนัง อดีตผู้ว่าฯ ททท.โกง!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พชร์ อานนท์” เคยร่วมงานเทศกาลหนัง อดีตผู้ว่าฯ ททท.โกง! ซัดเสียชื่อ เสียเวลาแต่งตัว ไทยไม่เจริญเพราะคอร์รัปชัน “ศรีสุวรรณ” เตรียมฟ้องอัยการ ข้องใจไม่ยึดทรัพย์ด้วย

กรณีศาลฎีกายืนตามอุทธรณ์จำคุก 50 ปี นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว เจอคุก 40 ปี กรณีเรียกรับสินบน 60 ล้านบาท เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ

รายการ “ถามสุดซอย” ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 22.20-23.15 น. ทางช่องเนชั่น ช่อง 22 ดำเนินรายการโดย “เอิ๊ก พรหมพร ยูวะเวส” เปิดใจสัมภาษณ์ “พชร์ อานนท์” ผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ และ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ถึงประเด็นดังกล่าว

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติคืออะไร?
พชร์ : ตอนนั้นเมืองไทยไม่มี แต่เมืองนอกเขามีมานานแล้ว อย่างเทศกาลเมืองคานส์ เทศกาลปูซาน เมืองไทยก็อยากมีบ้าง เป็นเทศกาลไทยแลนด์ แต่ตอนนั้นที่จัดก็ไม่ได้ซักเซส จัดแล้วก็หายไป

แต่หลายคนก็ตื่นเต้น?
พชร์ : คนวงในไงตื่นเต้น นอกจากมีหนังเมืองไทย ยังมีหนังทั่วโลกมาฉายในเทศกาลนี้ แล้วเขาเชิญดาราและคนอยู่ในวงการหนังของแต่ละประเทศ มีการซื้อขายหนังกันด้วย หนังไทยที่มีก็เอามาขาย

ไทยเป็นเจ้าภาพ?
พชร์ : เพิ่งเริ่มจะมี เริ่มจะเอาบ้าง

บรรยากาศตอนนั้นเป็นยังไง?
พชร์ : มีการเดินพรมแดน มีดาราต่างประเทศมาด้วย ยุโรป อเมริกาก็เชิญมา ถ้าพูดว่าใหญ่มั้ยก็สู้ปูซานไม่ได้ เพราะประเทศไทยเพิ่งมีเทศกาลแบบนี้ พอมีปุ๊บก็กะล๊องก๊องแก๊ง หนังที่เอามาฉายไม่ใช่หนังใหญ่โตที่คนอยากดู เขาก็ติดต่อหนังยุโรป เอเชีย มาฉายในเทศกาลนี้

คนจัดงานได้อะไร?
พชร์ : คนจัดงานได้เงินไปจัดงาน (หัวเราะ) เพราะต้องใช้ตังค์ คนประมูลเทศกาลนี้ไปได้ก็ต้องดูแลทั้งหมด หาสปอนเซอร์

ตอนปีที่เกิดเรื่อง ปี 45-50 ได้ไปร่วมงานมั้ย?
พชร์ : ไปร่วมงานตอนแรกๆ ผิดกับเมืองนอกเลย เราคิดว่าไม่น่าจัดเลย เสียชื่อ มันไม่ได้ใหญ่โตจริงๆ ดาราที่มาไม่ได้เยอะเหมือนที่โฆษณา เสียเวลาแต่งตัว ยังไม่ถึง หนังที่เอามาฉายไม่ได้มีเยอะมาก ความร่วมมือมันไม่เยอะ

พี่พชร์บอกว่าถ้าประชาชนอยากดูหนังได้ดูฟรี?
พชร์ : ดูฟรี ถ้าจำไม่ผิดนะ แต่ถ้าเทศกาลหนังฝรั่งเศสมาฉายโรงหนังเมเจอร์ อันนี้เสียเงิน แล้วแต่ประเทศนั้นเขามาจัดกัน แต่ที่พูดกันคือเทศกาลหนังไทย แบงกอก ฟิล์ม เฟสติวัล อะไรอย่างนี้ เพื่อโปรโมตประเทศไทย แล้วเอาเงินเข้าประเทศโดยการหนังเมืองนอกมาถ่ายทำในประเทศไทย

เคยเจออดีตผู้ว่าฯ ททท.ที่ถูกตัดสินคดีมั้ย?
พชร์ : ไม่เคยเจอ แต่เคยเห็นไกลๆ ตอนไปงาน เห็นเขาขึ้นเวที แต่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว และไม่คิดด้วยว่าช่วงนั้นจะคอรัปชั่นอะไรเยอะ พอเป็นข่าวถึงรู้ว่ามันมีแบบนี้นี่เอง มิน่า เมืองไทยถึงไม่เจริญ โกงกิน คอรัปชั่น ไม่งั้นเทศกาลหนังแบงกอกฟิล์มก็ยังคงอยู่ ทุกวันนี้ไม่มีมา 20 ปีแล้ว เพราะคอรัปชั่นแบบนี้ สิ่งดีๆ เลยไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

คุณศรีสุวรรณ ตอนนั้นเพราะอะไร ททท.ถึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับเทศกาลหนัง?
ศรีสุวรรณ : ผมคิดว่าเทศกาลหนังเริ่มเป็นที่สนใจของคนไทยและทั้งโลกด้วย อย่างเราสนใจเทศกาลเมืองคานส์ ปูซาน เมื่อรัฐบาลยุคนั้นอยากโปรโมตประเทศ ก็ให้ ททท.ไปแสวงหาเรื่องนี้แล้วจัดเป็นนโยบายของรัฐ ผู้ว่าททท. ก็ตั้งแผนงานโครงการขึ้นมา เชิญชวนให้ต่างประเทศมาร่วมงาน

ณ ตอนนั้นต้องมีคนเสนอราคา หรือเสนอตัวไปเป็นเจ้าภาพเยอะ?
ศรีสุวรรณ : เวลาหน่วยงานรัฐจะทำโครงการใดๆ ขึ้นมา เขาจะเปิดประมูลให้เสนอแผนงานและราคา ช่องทางนี้แหละจะเกิดการทุจริต คอรัปชั่น สมมติผมดีลกับใคร ผมก็จะบอกว่าผมจะเขียนรายละเอียดแผนงานนี้ คนอื่นก็จะไม่สามารถเข้าถึงรายละเอียดนี้ได้ เขาเรียกล็อกสเปกกัน มันเลยเข้าประเด็นฮั้วประมูล ตามที่ถูกจับได้

เวลาเลือก คนเลือกคนเดียวเลยเหรอ?
ศรีสุวรรณ : ผมว่าผู้ว่าคงไม่ได้เลือกหรอก เขามีคณะกรรมการกลั่นกรอง ตัดสิน แต่ว่ามันต้องเงี่ยหูฟังผู้ว่าในฐานะผู้บริหารสูงสุดว่าท่านจะเห็นชอบอย่างไร เพียงแต่เวลาเขาคุยกันเราไม่ได้ยินหรอก คนฟันว่าเอาเจ้าไหนก็เป็นผู้ว่า คนประมูลงานนี้ได้ ถูกทางเจ้าหน้าที่ลอสแองเจลิส ส่งฟ้องที่ศาลแขวง เรื่องมันเลยดังที่ต่างประเทศ พอดังที่ต่างประเทศ ที่เมืองไทยหน่วยงานที่มีหน้าที่คือป.ป.ช. เขาเลยตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเงียบๆ พอได้ข้อมูลก็มาชี้มูลความผิด อดีตผู้ว่าททท.คนนี้ เรื่องเลยดังขึ้่นมาในประเทศ

ถ้าไม่เป็นเรื่องที่อเมริกา เรื่องนี้ในประเทศก็คงเงียบไป?
ศรีสุวรรณ : ก็คงหายไปกับคลื่นแล้ว

การจัดครั้งนี้ ผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน?
ศรีสุวรรณ : มหาศาล ประมูลได้ ทุกอย่าง โฆษณาก็ต้องจ่าย แล้วผัวเมียฝรั่งที่ประมูลงานนี้ได้เงินไป น่าจะ 429 ล้านบาท จริงๆ คนอาจยื่นหลากหลาย แต่สองคนนี้อาจมีคอนเนคชั่นอะไรกันอยู่ อาจคุยลงคอ คุยรู้เรื่อง เรื่องผลประโยชน์ตอบแทน จากข้อมูลที่ ป.ป.ช.ได้นำเสนอพบว่า ลูกสาวผู้ว่าฯ ไปเปิดบัญชีอยู่ธนาคารต่างประเทศที่สิงคโปร์ ที่อังกฤษ เวลาโอนเงินใต้โต๊ะก็โอนเงินผ่านบัญชีต่างประเทศ ก็คงคิดว่าไม่ได้โอนมาในบัญชีประเทศไทยก็คงไม่มีใครรับรู้รับทราบ คิดว่าจับไม่ได้ แต่ ณ วันนี้ยากแล้ว ถ้าไปเปิดบัญชีอยู่ที่ไหน หน่วยงานของรัฐเราสามารถสืบได้หมด แล้วมีหลายเวทีนะ เพราะ ททท.มีงานเอ็กซิบิชัน ที่ ททท.ไปจัดต่างประเทศเยอะ ล่าสุดที่เยอรมนี ญึ่ปุ่น ผมจับผิดที่เยอรมนี งานเอ็กซิบิชันเหมือนกัน แต่บังเอิญเจอโควิดซะก่อน เขาเลยยกเลิก เป็นเอ็กซิบิชันระดับโลกด้วย ททท.ก็ไป มีคนร้องเรียนผมว่ามีพฤติการณ์บางอย่างที่ดูไม่ชอบมาพากล แล้วทุกหน่วยงานของรัฐ ถ้าตราบใดองค์กรทำหน้าที่นี้โดยตรงไม่เข้มแข็ง มันก็จะเล็ดลอดให้คนมีอำนาจ มีอิทธิพล ในการฉ้อราษฎร์บังหลวง เอาเงินภาษีประชาชนไปใช้แบบไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่

ตอนมีเรื่อง ท่านผู้ว่าฯ ททท.ปฏิเสธ?
ศรีสุวรรณ : ก็ปกติ ท่านผู้ว่าฯ ท่านปฏิเสธทั้งหมด เอาพยานหลักฐานทั้งในและต่างประเทศมาเบิกความเกือบสิบคน แต่คำเบิกความไม่มีน้ำหนักเพียงพอ กับหลักฐานที่ปรากฏ ทั้งคดีที่อเมริกา และจากพยานหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีลูกสาวและเพื่อนลูกสาวที่ถือบัญชีร่วมกันในสิงคโปร์และอังกฤษ มันเป็นประจักษ์พยานที่มีน้ำหนักมากกว่า มันเลยทำให้คำปฏิเสธไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

สรุปศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาตัดสินมีความผิดในฐานอะไร?
ศรีสุวรรณ : จริงๆ มีหลายกระทง ผู้ว่าฯ โดนไป 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวมเป็น 66 ปีแต่ตามประมวลกฎหมายอาญา แม้มีโทษเกิน 50 ปีก็ให้เหลือ 50 ปี แต่ที่น่าเสียดายคือทำไมมาเอาผิดเฉพาะท่านผู้ว่าฯ กับลูกสาว ทั้งๆ ที่กระบวนการคอร์รัปชันน่าจะมีมากกว่านี้ ที่ไล่มาตอนต้น คนเขียนทีโออาร์ คนตรวจรับงานจ้าง 3-5 คนก็น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่เข้าใจว่า ป.ป.ช.คงไปเน้นที่ตัวเม็ดเงินที่โอนเข้าบัญชีลูกสาว คนใช้เงินตัวนี้น่าจะเป็นตัวอดีตผู้ว่ากับลูกสาวเท่านั้น

หรือคนอื่นๆ หาหลักฐานไม่ได้?
ศรีสุวรรณ : น่าจะไม่ถึง เลยยกประโยชน์ให้จำเลยไป

แล้วลูกสาวโดนโทษยังไง?
ศรีสุวรรณ : ลูกสาวมีความผิดเฉกเช่นท่านผู้ว่าฯ เพราะไปเปิดบัญชีธนาคารต่างประเทศรับเงินจากตระกูลกรีน เอามาให้ทั้งบัญชีที่สิงคโปร์และอังกฤษ ก็ถือว่าเป็นประจักษ์พยานที่มีน้ำหนักมาก ก็เลยโดนไปด้วย โดนไป 10 กระทง กระทงละ 4 ปี ก็ติดไป 40 ปี การไปเปิดบัญชีต้องรับรู้ เพราะคงอธิบายไม่ได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเข้ามาได้โดยวิธีใด และเงินเหล่านั้นได้มาด้วยธุรกิจอะไร

ลูกสาวแค่เปิดบัญชี โดนไปเกือบ 50 ปี มองว่าเยอะไปมั้ย?
ศรีสุวรรณ : ผมว่าเพียงพอ สมดุลกับคนทุจริต ประพฤติมิชอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น ถ้ากฎหมายอ่อนแอจะทำให้ผู้มีอำนาจเหล่านี้ได้ใจ ไม่เกรงกลัวอาญาแผ่นดิน โทษสูงๆ ดีแล้ว ไม่ถูกยึดทรัพย์แม้ศาลชั้นตั้งพิพากษายึดทรัพย์ทั้งหมด 62 ล้านบาท เพราะว่าเงินที่คอร์รัปชันหรือจ่ายใต้โต๊ะ 60 กว่าล้านบาท เงินนี้ถูกฝากอยู่ต่างประเทศ เราไม่มีอำนาจยึดเงินที่อยู่ต่างประเทศได้ ก็ยึดทรัพยสินในประเทศไทยที่มีอยู่ให้มีมูลค่า 60 กว่าล้านบาท นี่ศาลชั้นต้นนะครับ แต่พอมาศาลฎีกา ศาลฎีกาบอกว่าในชั้นคำขอท้ายฟ้อง ไม่ปรากฏว่าขอให้ยึดทรัพย์ด้วย ไปพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย เลยยกประโยชน์ให้ โดยหลักควรมาคู่กัน แต่คดีนี้เขาฟ้องกันมาตั้งแต่ปี 58 กฎหมายพวกนี้เกิดขึ้นปี 59 มันเกิดก่อน ตอนนี้เงินอยู่ต่างประเทศ ติดคุก 50 ปีก็ไปใช้ได้ ตอนนี้ท่านผู้ว่าฯ 73 ปี หลังจากนั้น 50 ปีก็ไปใช้เงินนี้ได้ แต่โดยหลักติดคุกประเทศไทยไม่ถึงหรอก เข้าไปแล้วทำความดี มีการลดโทษอยู่เรื่อยๆ เราอาจมีกรณีพิเศษของประเทศ ซึ่งมีบ่อย เทศกาลพิเศษ ยิ่งอายุสูงเกิน 80 ปี การติดอยู่ในทัณฑสถานหญิงก็ไม่น่าเหมาะสมนัก ก็ขอบรรเทาโทษติดกำไลอยู่ที่บ้านก็ได้"

ถ้าเป็นพี่พชร์ เอามั้ย ได้ 50 ล้าน เสี่ยงติดคุก 50 ปี?
พชร์ : แค่คิดก็ไม่เอาแล้ว มันไม่คุ้มค่า ไม่ได้ใช้เงิน แล้วไปอยู่ในนั้นตั้งหลายปี

ถ้าจะมีเทศกาลหนังนานาชาติอีกรอบ ให้พี่พชร์จัดเอามั้ย แต่ต้องมีแบ่งเปอร์เซ็นต์หน่อยนะ?
พชร์ : ไม่เอา พี่ไม่ชอบอะไรใหญ่ๆ โตๆ แบบนี้ เราหากินในอาชีพเราดีกว่า เราไปโกงชาวบ้านใช่ว่าเราจะมีความสุขนะ ถ้าเขาจับได้ขึ้นมาจริงๆ สักวันก็ช้ำใจนะ ยิ่งโดนจับเข้าคุก ยิ่งไปกันใหญ่เลย

ผู้ว่าฯ ททท.น่าจะเป็นหนึ่งในลิ่วล้อหรือเปล่า จริงๆ มีคนสูงกว่าท่านรู้เรื่อง?
ศรีสุวรรณ : เป็นข้อสงสัยที่สังคมจะตั้งคำถามในใจหรือพูดออกมาดังๆ ก็ได้ โดยหลักคงไม่อยู่แค่ผู้ว่าฯ แต่เชิงพยานหลักฐานคงก้าวล่วงไปไม่ถึง แต่ถามว่าใครอยู่เหนือระดับผู้ว่าบ้าง แต่เมื่อระบุไปไม่ถึง ก็ไม่สามารถเอาผิดเขาได้ ก็ต้องยกประโยชน์ให้คนมีพยานหลักฐานได้ก็เท่านั้นเอง แต่อย่าคิดว่าคดีอดีตผู้ว่าฯ ททท. ระดับบนรอด อนาคตจะทำอย่างนี้บ้าง อย่าจะครับ เพราะสมัยนี้ระบบโซเชียลฯ มันแรง การเจาะข้อมูลต่างๆ มันง่ายมาก

คิดว่าจะจบแค่นี้หรือมีการสืบค้นต่อไป?
ศรีสุวรรณ : ผมว่าน่าจะจบ แต่แคลงใจมากว่าทำไมไม่ยึดทรัพย์ ทำไมอัยการยุคนั้นไม่มีคำขอท้ายฟ้องเพื่อขอยึดทรัพย์ไปด้วย เดี๋ยวผมจะทำเรื่องไปเสนอร้องต่ออัยการสูงสุดว่ากรณีนี้ทำไมไม่ตั้งประเด็นคำขอท้ายฟ้องเรื่องยึดทรัพย์ด้วย ไม่งั้นจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องให้คนหลายๆ คน ผู้มีอำนาจหลายๆ คน อยากคอรัปชั่นบ้างเพราะลูกเมียสบาย

ทำเรื่องไปจะทันมั้ย?
ศรีสุวรรณ : ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าเขาทำงานเร็ว ขอคุ้มครองในการอายัดทรัพย์สินไว้ จนกว่าเรื่องจะถึงที่สุด

คนที่รับผิดชอบเรื่องไม่ยึดทรัพย์ เป็นหน้าที่ของใคร?
ศรีสุวรรณ : อัยการเป็นคนชงเรื่อง แต่ต้องไปตรวจสอบอีกที ว่าอัยการคนดังกล่าวเกษียณไปหรือยัง

คิดว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในเรื่องคอรัปชั่นได้มั้ย?
ศรีสุวรรณ : ถูกต้อง แต่ถามว่าเกิดขึ้นอีกมั้ยผมไม่เชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่มีมนุษย์ที่ยังใช้อำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์อยู่ แต่จะเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้เกรงใจ มีพฤติกรรมทำแบบนี้แต่จะหาช่องทางที่ละเอียดรอบคอบขึ้นก็ได้ เพราะนักการเมืองไทย ศรีธนชัยเยอะ หาช่องทางจนได้ เราเองในฐานะผู้จับผิดตรวจสอบก็ต้องเร่งหาวิธีการของพวกเหล่านี้ให้เจอ

พี่พชร์ ถ้ามีอำนาจ คิดว่าจะลงโทษคนโกงภาษี ทุจริต เอาผลประโยชน์ไปเป็นของส่วนตัวยังไง?
พชร์ : พี่จะขังคุกไม่ให้ออกมาใช้เงิน อยากโกงเขานักก็ไม่ต้องใช้ ก็อย่างโกงแชร์ เข้าคุกแป๊บเดียวก็ออกแล้ว เอาเงินที่ฝากคนอื่นมาใช้กัน บ้านเราจำคุก 30 ปี เต็มที่ก็ไม่เท่าไหร่ ยอมติดไป สองสามปีก็ได้ออก คนเราเลยไม่กลัวกฎหมายไง เราติดคุก 5 ปี แต่ออกมาได้เงินใช้ 100 กว่าล้าน คนเขาก็ยอมติดกันนะ ถ้าโกงเขาก็ต้องยึดทรัพย์ด้วย

คุณศรีสุวรรณล่ะ?
ศรีสุวรรณ : ผมว่าเรื่องยึดทรัพย์สินต้องเอาให้หนัก และทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ให้คนพวกนี้หมดหนทางที่จะได้ใช้เงินเหล่านั้น ไม่ว่าคุณจะไปซุกไปแอบไปซ่อนกับใครตรงไหนอย่างไรให้ตามยึดให้หมด ไม่งั้นคนเหล่านี้จะย่ามใจ เพราะประเทศไทยเราติดคุกไม่เป็นไปตามคำพิพากษา อย่างมาก 10 กว่าปี ไม่เกิน 15 ปี แต่การยึดทรัพย์เข้าหลวงจะเป็นประโยชน์ และเป็นกำลังใจให้คนทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบคนทุจริต คอร์รัปชัน ทำให้คนเหล่านี้เกรงกลัวด้วยซ้ำไป

พชร์ : แล้วต้องทำให้เหมือนกันทุกคนนะ ตอนนี้บ้านเราเลือกทำอยู่








กำลังโหลดความคิดเห็น