xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ “ลุงพลมาร์เก็ตติ้ง” เกาะกระแส-ขายรากหญ้า จากผู้ต้องสงสัย สู่ขวัญใจมหาชน!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถอดบทเรียน “ปรากฏการณ์ลุงพล” จากผู้ต้องสงสัยคดีเด็กตาย สู่คนดังคนใหม่ของวงการบันเทิง งานรุมรับทรัพย์รัวๆ ฟันค่าตัวหลักแสน กูรูการตลาดเผย “เพราะความดังมันขายได้”

ยิ่งว่าซีรีส์ กรณี “น้องชมพู่-ลุงพล”

“ตอนนี้อะไรที่มันเป็นกระแส เราก็จะต้องไปจับกระแส แล้วเอากระแสนั้นมาเล่นให้เป็นประโยชน์ ความดังมันจะมาชั่วครู่ชั่วคราว จำกรณีของถ้ำหลวงได้มั้ย เหมือนกันนะ คนรายงานข่าวทุกวัน ไปทั่วโลกเลย มีการเอาไปทำหนัง ทำสารคดี ปรากฏการณ์นี้ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือ กรณีลุงพลแกอาจจะเป็นผู้ต้องสงสัย และอาจจะเป็นผู้ต้องหาก็ได้ในอนาคตถ้าเกิดเจอหลักฐานอะไรขึ้นมา ตอนนี้แกกลายเป็นดาราไปแล้ว ถึงจะชั่วครู่ชั่วคราวก็ตาม”

ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงปรากฏการณ์ “ลุงพลฟีเวอร์” อันมีจุดเริ่มต้นมาจากคดี “น้องชมพู่” เด็กหญิงวัย 3 ขวบที่หายตัวไป ก่อนจะพบว่าเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาบนภูเหล็กไฟ บ้านกกกอก จ.มุกดาหาร ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดย ไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล ผู้มีศักดิ์เป็นลุงเขยของน้องชมพู่ ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีด้วย

[ ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ]
ทันทีที่เกิดคดีขึ้น ทั้งสื่อน้อยสื่อใหญ่ก็ฉายสปอตไลต์มายังบ้านกกกอก ครองพื้นที่สื่อหลักและสื่อออนไลน์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะตัวละครสำคัญอย่างลุงพลนั้นก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะตอนนี้เขากลายเป็นคนมีชื่อเสียง มีแฟนคลับมากมายที่คอยให้กำลังใจ และทุกการเคลื่อนไหวก็กลายเป็นข่าวได้ แม้แต่คลิปวิดีโอลุงพลกินข้าวไข่ดาวกับแจ่วบอง ที่ถ่ายโดย “ป้าแต๋น” ผู้เป็นภรรยา ก็มีคนคลิกชมแล้วเกือบล้านครั้ง!

ตลอดจนโอกาสการทำงานในวงการบันเทิง โดย “อุ๊บ-วิริยะ พงษ์อาจหาญ” นักปั้นและผู้จัดการดาราชื่อดัง ก็เล็งสร้าง “บ้านกกกอก เดอะ ซีรีส์” ที่มีการทาบทามลุงพลมาร่วมแสดง ภายหลังมีอันต้องได้พับโครงการ แต่มีแผนที่จะนำตัวลุงพลมามาร่วมแสดงมิวสิกวิดีโอด้วยในอนาคต ซึ่งจะให้ค่าตัวสูงถึง 100,000 บาท และล่าสุดลุงพลคนเดิม ได้ร่วมแสดงมิวสิกวิดีโอเพลง “เต่างอย” ของ จินตหรา พูนลาภ ก็ฟันค่าตัวหลักแสนเช่นกัน



แม้ตอนนี้ลุงพลจะมีชื่อเสียงและเงินทองตามมามากมาย แต่ขณะเดียวกัน สังคมอีกด้านที่รู้สึกเอือมระอาข่าวนี้ เพราะมองว่านอกจากกระแสข่าวต่างๆ ที่อาจเข้าทำนองหากินกับคนตายแล้ว ในส่วนของคดีความยังไม่คืบหน้า หลายคนถึงขนาดที่ว่าติดแฮชแท็ก ขอให้ข่าวลุงพล #ให้มันจบที่รุ่นเรา

ทางด้านของกูรูการตลาด จึงวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ทีมข่าวว่า เป็นเพราะการที่สื่อหลักอย่างโทรทัศน์ เกาะกระแสนี้ไม่เว้นวัน ขุดทุกแง่มุมมานำเสนอแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับคดี จนไม่ต่างจากละครเรื่องหนึ่ง


“สื่อเดี๋ยวนี้โดยเฉพาะโทรทัศน์ก็จะต้องหาเรื่องเล่าที่เป็นซีรีส์ไม่ใช่วันสองวันจบ กรณีชมพู่-ลุงพล มันกลายเป็นคล้ายๆ ซีรีส์บนทีวี แล้วรายการแบบนี้มันมีหลายช่อง ต่างคนก็ต่างแข่งกัน ก็ไปขุดหาและรายงาน ลุงพลเหมือนกลายเป็นดาราที่มาออนแอร์ทุกวันตอนนี้แกกลายเป็นพระเอกนะ แต่ในชีวิตจริง เหมือนแกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ทุกวันคนดูทีวีเดี๋ยวจะมีเคสน้องชมพู่-ลุงพลรึเปล่า เหมือนตามละคร

ตอนนี้มันก็จะมีการเข้ามาหรือหากินกับคนดัง อย่างคุณอุ๊บ เวลาใครดังๆ เขาก็จะมาติดต่อ ไม่ใช่แค่ลุงพล กรณีพชร์ อานนท์ พอเวลามีคนดังเขาก็จะเอาไปเล่นหนัง ก็จะเป็นแบบนี้ และคนที่ดูทีวีเยอะส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัด ก็จะเห็นว่าถ้าเอาลุงพลไปเล่น จะมีคุณจินตหราก็จะเป็น Segment อาจจะเป็นคนต่างจังหวัด ก็เป็นเรื่องธรรมดา ผมคิดว่าตอนนี้ประเด็นสำคัญที่สื่อหลักไม่ค่อยได้ลง ถึงลงก็ลงไม่ได้เยอะคือการชุมนุม”



วอนสื่อแยกแยะ “บางอย่างไม่ควรมากเกินไป”

นักการตลาดชื่อดังกล่าวต่อไป แม้คนคนนั้นจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม แต่จากกระแสความดังนี้เอง ทำให้จับอะไรก็กลายเป็นมูลค่าไปเสียหมด

“หลักของสื่อสารการตลาด บอกว่า “ถ้าต้นไม้ล้มแล้วคุณไม่ได้ยินเสียงล้ม ถือว่าต้นไม้ไม่ได้ล้ม” ถ้าคุณทำอะไรขึ้นมาแล้วคนไม่รู้ไม่เห็น ถือว่าไม่ได้ทำนะ แต่กรณีลุงพลแกคงไม่ได้คิดว่าจะดังขนาดนี้นะ แต่ว่าสื่อพาไป แกก็ใช้โอกาสนั้นไง ส่วนคนที่คิดว่าลุงพลขายได้ ก็เอาลุงพลมาทำมาหากิน ไม่ได้สนใจว่า คนคนนี้จะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ตาม คนคนนี้จะเป็นคนดีหรือไม่เป็นคนดี

น่าจะเป็นดาราฮอลลีวูดผมจำชื่อไม่ได้เคยบอกว่า “คุณเป็นข่าวไม่ดี ดีกว่าไม่มีข่าวนะ ถ้าคุณไม่เป็นข่าวเลย ไม่มีคนพูดถึง คุณก็จบ” แต่ถึงคุณเป็นข่าวไม่ดี ลงมาทีหนึ่งคนด่าเยอะแยะ แต่กลายเป็นว่าคุณอยู่ในความสนใจ จะเห็นว่าในบรรดานักการเมืองบางคนก็ทำ เวลาโพสท์อะไรคนก็จะวิจารณ์ มันอยู่ในกระแสไง คนไม่ลืม”



[ ป้าแต๋น-อุ๊บ วิริยะ-ลุงพล ]
อีกทั้งยังมีการยกตัวอย่างเหตุการณ์สะเทือนใจในอดีต ที่ถูกนำมาเล่าใหม่ ในแง่มุมของสื่อบันเทิงนับครั้งไม่ถ้วน

“อย่างซีอุยตั้ง 60 ปีเพิ่งจะเอาร่างไปเผาเมื่อไม่นานนี้ หรือว่าจะมีคดีเชอรี่ แอน ดันแคน ก็สร้างเป็นหนัง แต่ 2 อย่างนั้นสมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย แล้วทีวีมันมีแค่ 4 ช่อง แต่ตอนนี้ทีวีมีตั้ง 24 ช่อง แล้วก็เล่าข่าวทุกวัน เล่าข่าวเรื่องเดียวเป็นชั่วโมงทุกวัน ช่องนั้นลงช่องนี้ก็ลง จากนั้นก็มาต่อกันในโซเชียลฯ ยูทูปต่อ มีหลายแพลตฟอร์มที่สร้างในคนทำได้

(ถ้าสมัยนั้นมีโซเชียลฯ) ยิ่งกว่านี้อีก เพราะเนื้อหามันหนักหนาสาหัสกว่านี้ แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนมีมือถือ ทุกคนเป็นผู้สื่อข่าว บางเรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อยยังเป็นเรื่องใหญ่ได้ ทีวีก็จะไปเล่น ทีวีก็มีโซเชียลมีเดียอยู่ในมือ ตอนลุงพลนี้เป็นผู้บริสุทธิ์นะ คุณจะเป็นผู้ต้องหาก็ต่อเมื่อหมายจับ คุณก็ยังทำนู่นทำนี่ได้ แต่ว่าในวงการถือว่าคุณเป็นคนดัง เพราะความดังมันขายได้ จับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด”



เมื่อถามว่า กระแสของลุงพลจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน กูรูการตลาดให้คำตอบว่า ตราบเท่าที่คนยังให้ความสนใจ พร้อมกับทิ้งท้ายถึงสังคม โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวจนเกินความจำเป็น ก็อาจเป็นการชี้ช่องให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

ความดังมันจะเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ถ้าคุณมี Personal brand มันจะถาวร ยกตัวอย่างเช่น พี่เบิร์ด ทุกวันนี้ไม่ได้เล่นละคร ไม่ได้เล่นคอนเสิร์ตก็ยังดัง ตราบใดที่พูดกรณีลุงพลแล้วเรตติ้งยังสูงกว่าละคร เขาก็จะยังพูดต่อ แต่เมื่อใดก็ตามแต่ที่พูดไปแล้ว เรตติ้งมันไม่มีแล้ว เขาก็จะค่อยๆ ชะลอ พอหลายช่องไม่แข่งกันแล้วมันก็จะเหี่ยวไปโดยปริยาย เหมือนไฟถ้าคุณไม่สาดน้ำมันเข้าไป มันก็จะไม่พุ่ง ทีวีเลิกพูดไปซักสัปดาห์นึงก็หายแล้ว คนลืมแล้ว

ผมก็ขอฝากถึงสังคมโดยเฉพาะสื่อ ควรจะแยกแยะว่าอันไหนควรสนับสนุนในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นสื่อใหญ่หรือสื่อออนไลน์ บางอย่างไม่ควรมากเกินไป แล้วการไปพูดถึงกรณีนี้ ลุงพลกลายเป็นคนดังและมีช่องทางในการทำมาหากินมากมาย มันอาจจะมีการเลียนแบบขึ้นมาทำยังไง อันนี้ต้องระวังเลยครับ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น