ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุกอดีตผู้ว่าการ ททท. “จุฑามาศ” 50 ปี ส่วนลูกสาวโดนคุก 40 ปี ทุจริตรับสินบนเงินใต้โต๊ะจัดเทศกาลภาพยนต์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2545
วันนี้ (16 พ.ย.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีทุจริตเงินสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ หมายเลขดำ อท.46/2559 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 73 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ อายุ 46 ปี บุตรสาว เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นพนักงาน เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อการกระทำอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้อแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาแก่หน่วยของรัฐ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 11 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนรอราคาหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 12
โดยอัยการโจทก์ ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2558 จากกรณีที่จำเลยทั้งสองร่วมกันรับเงินตอบแทนจาก สามี-ภรรยาชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนักธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2002-2007 (หรือปี พ.ศ. 2545-2550) มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาตั้งเเต่วันที่ 29 มี.ค. 2560 เห็นว่า พฤติการณ์ของนางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 12 ให้จำคุกนางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 รวม 11 กระทงๆ ละ 6 ปี เป็นจำคุก 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามกฎหมายแล้ว ให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี ส่วน น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 บุตรสาว จำคุกรวม 11 กระทงเช่นกัน กระทงละ 4 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 44 ปี ริบเงินกระทำผิด 1,822,494 เหรียญสหรัฐฯ และดอกผลที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย โดยเงินนั้นเป็นทรัพย์ที่ฝากอยู่ในธนาคารต่างประเทศ ศาลจึงได้กำหนดมูลค่าทรัพย์ที่สั่งริบนั้น เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 62,724,776 บาท
จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำพิพากษาแก้เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 ให้จำคุก น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 รวม 10 กระทง (จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 11 กระทง) กระทง ละ 4 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 40 ปี ส่วน นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 มารดา คงจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 11 กระทงๆ ละ 6 ปี จำคุกทั้งสิ้น 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษตามกฎหมายแล้ว ให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี และให้ยกคำสั่งริบทรัพย์ของศาลชั้นต้นที่ให้ริบเงินที่เป็นการกระทำผิด ซึ่งเป็นเงินในบัญชีต่างประเทศกว่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯด้วย เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยเกินคำขอ เพราะคดีนี้อัยการโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ริบของกลางหรือเงินใดๆ ไว้ท้ายฟ้อง และบทเฉพาะกาลตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 52 บัญญัติ ให้บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับนั้น ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อน ดังนั้น คดีนี้จึงต้องใช้บทบัญญัติกฎหมายคดีอาญาสามัญ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่นำมาตรการริบทรัพย์สินในคดีทุจริต ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม ตามมาตรา 31(2), มาตรา 32(2) และมาตรา 33 วรรคหนึ่งนั้นมาใช้กับคดีนี้ เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องอีก
โดยในวันนี้ศาลเบิกตัว นางจุฑามาศ และ น.ส.จิตติโสภา จำเลยสองแม่ลูก ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า จากการไต่สวนพยานรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เริ่มดำเนินการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ และโครงการอื่นๆ อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ให้เจ้าหน้าที่ของ ททท. ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญของบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีน เตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่ แก้ไขเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทให้มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้รับจ้างตรงตามที่คณะกรรมการจัดจ้างของ ททท. ต้องการ จนนำไปสู่การเข้าทำสัญญาของบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีนกับ ททท. โดยการอนุมัติของจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีตกลงราคาและวิธีพิเศษ มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าอนุมัติทุกโครงการด้วยความสุจริตรับฟังไม่ได้
ทั้งนี้ยังมีรายละเอียดเส้นทางการเงินเชื่อมโยงระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีน รวมถึงอีเมลและโทรสารที่จำเลยที่ 1 ติดต่อเจรจาเรื่องผลประโยชน์ คือเงินที่โอนเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดหรือไม่ จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่ารับจ้างทำวิจัยและโครงการนั้น ไม่มีหลักฐานหรือการรับรองใดๆ จากหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกที่จะทำให้มีน้ำหนักเชื่อได้ว่ามีการทำวิจัยและโครงการต่างๆ ตามที่นำสืบมา มีลักษณะใช้การทำวิจัยและโครงการเป็นข้ออ้าง เพื่อรับเงินบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีนโอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ นำตัวสองแม่ลูกขึ้นรถยนต์กลับไปคุมขังไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป