เมื่อสี่เดือนก่อน ตอนที่ “อินไซต์ เอาต์” (Inside Out) เข้าฉาย และมีตัวอย่างเวอร์ชั่นเต็มของ “เดอะ กู๊ด ไดโนซอร์” (The Good Dinosour) ออกมาให้เห็นแล้ว ผมเองก็เหมือนกับอีกหลายคนที่มองว่า ออสการ์สาขาแอนิเมชั่นที่จะมาถึงในปีหน้า พิกซาร์อาจจะต้องแข่งกันเองในสายนี้ แต่ถึงนาทีนี้ เมื่อไดโนเสาร์เข้าฉายเป็นทางการ ความคิดนั้นก็ดูจะเปลี่ยนไป เพราะเท่าที่เห็นจากภาพรวมของ “ไดโนเสาร์” ตลอดจนเสียงสะท้อนจากคนดูผู้ชม โอกาสที่หนังการ์ตูนสองเรื่องของพิกซาร์จะชิงออสการ์ในสาขาเดียวกัน ปีเดียวกัน ดูจะเป็นเพียงความคาดหมายในสี่เดือนก่อนเท่านั้น
ในเบื้องต้นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนำเอาสิ่งมีชีวิตที่แลดูน่าสะพรึงซึ่งสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปจากโลกแล้วเป็นล้านปี มาทำเป็นหนังการ์ตูนน่ารักๆ นั้น มีความน่าสนใจอย่งแน่นอน แม้ก่อนหน้านี้ เราจะเคยเห็นแอนิเมชั่นอย่าง “ไอซ์ เอจ” (Ice Age) เอาพวกช้างแม็มมอธหรือสัตว์ดุๆ อย่างเสือสิงห์กระทิงแรดมาทำเป็นการ์ตูนแล้ว แต่จินตนาการเกี่ยวกับความน่ารักของไดโนเสาร์นั้น ดูจะไม่ค่อยอยู่ในความคิดเท่าไหร่นัก
บางที นี่อาจเป็นผลพวงจากสิ่งที่เรารับรู้ผ่านสื่อมาโดยตลอด โดยเฉพาะสื่อภาพยนตร์ ซึ่งมักจะถ่ายทอดด้านที่ดุร้ายน่ากลัวของไดโนเสาร์ หรือแม้กระทั่งในหนังบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์หลายเรื่อง เช่น The Valley of Gwangi (ปี ค.ศ.1969) หรือแม้กระทั่งหนังซึ่งเพิ่งทำภาคใหม่อย่าง “จูราสสิก พาร์ค” ที่แม้จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ตัดต่อพันธุกรรมแล้วจึงดุร้าย และยังมีไดโนเสาร์ตัวดีๆ อยู่ แต่ภาพความดุร้ายก็ยังโดดเด่นเหนืออื่นใด ก่อเกิดเป็นภาพจำเกี่ยวกับสัตว์สูญพันธุ์ชนิดนี้เรื่อยมา
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไดโนเสาร์สายน่ารัก ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ เพราะถ้ายังจำกันได้ เมื่อปี ค.ศ.2000 ดิสนี่ย์เองก็เคยทำแอนิเมชั่นไดโนเสาร์น่ารักและฟีลกู๊ดมาแล้วกับเรื่อง “ไดโนเสาร์” (Dinosaur) ซึ่งทำเงินได้เยอะมากในบ้านเรา และหนึ่งในประเด็นที่ “ไดโนเสาร์” ของดิสนี่ย์ (ก่อนครองพิกซาร์) มีความคาบเกี่ยวกับเดอะ กู๊ด ไดโนซอร์ เรื่องนี้ เพราะในขณะที่ “ไดโนซอร์” กล่าวถึงความกล้าหาญ เสียสละ ท่ามกลางการผจญภัยของเหล่าไดเสาร์หลากสายพันธุ์ “เดอะ กู๊ด ไดโนซอร์” ก็ขับเน้นประเด็นความกล้าหาญให้เป็นหัวใจสำคัญ ผ่านการผจญภัยของไดโนเสาร์เยาว์วัยที่สุดท้ายนำไปสู่การเรียนรู้ เติบโต และเปลี่ยนผ่านทางความคิด
ตามรูปแบบของแอนิเมชั่นที่เดินตามแนวทางความเป็นหนังครอบครัวเต็มรูปแบบ เรื่องราวโดยย่อของเดอะ กู๊ด ไดโนซอร์ เริ่มต้นที่ครอบครัวไดโนเสาร์กินพืชครอบครัวหนึ่งซึ่งมีไฮไลต์อยู่ที่ “อาโล่” ไดโนเสาร์ตัวสุดท้องในบรรดาพี่น้องสามคน ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์บางอย่าง ทำให้อาโล่ต้องพลัดพรากจากครอบครัวและต้องผจญภัยกลางป่าเพื่อหาทางกลับบ้าน ซึ่งในระหว่างนั้น เขาได้พบกับมนุษย์น้อยจอมซนที่เคยสร้างความเดือดร้อนและสูญเสียให้แก่ครอบครัวของอาโล่ ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายอาโล่ก็ตัดสินใจให้มนุษย์น้อยร่วมทางด้วย ช่วยเหลือกันและกันระหว่างการเดินทาง และฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกัน คล้ายกับการเล่นเกมที่จะต้องเจอกับอุปสรรคในแต่ละด่านและผ่านพ้น
สิ่งที่เราจะได้เห็นในลำดับแรกสุด และเป็นสิ่งที่ถูกจัดวางเพื่อขายตั้งแต่ในหนังตัวอย่างก็คือคาแร็กเตอร์ของตัวแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาโล่” ไดโนเสาร์ตัวน้อยที่ว่ากันจริงๆ ทำให้ออกมาดูน่ารักได้ขนาดนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ เชื่อว่าเด็กๆ น่าจะอินไปกับตัวละครตัวนี้ได้ไม่ยาก แต่โดยส่วนตัว ผมรู้สึกชอบเจ้ามนุษย์น้อยที่ยังใช้มือคลานคู่กับขาเวลาเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเวลาซุกซน (แลบลิ้น) หรืออยู่ในโหมดดราม่า หนังทำให้ตัวละครตัวนี้ออกมามีชีวิตชีวาและน่าจะเป็นที่จดจำได้
ในส่วนของตัวเรื่อง เดอะ กู๊ด ไดโนซอร์ ให้การเล่าเรื่องแบบง่ายๆ ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน เหมือนนิทานสอนใจที่ตรงไปตรงมา ถึงแม้จะดูเบาๆ ไป ถ้ามองจากสายตาผู้ใหญ่ (เช่นเดียวกับโอกาสในออสการ์ อาจจะไม่เจิดจ้าเท่าที่ควร) แต่เมื่อเป้าหมายหลักๆ ของเดอะ กู๊ด ไดโนซอร์ เป็นพวกเด็กๆ นี่ก็เป็นหนังแบบที่เด็กจะเข้าใจได้โดยง่าย พร้อมกับซึมซับเอาความตื่นเต้นและประทับใจได้ไม่ยาก จากเรื่องราวของอาโล่และเพื่อนมนุษย์คู่หูที่ปูทางไปสู่ประเด็นความสำคัญของครอบครัว รวมทั้งการก้าวข้ามความกลัวซึ่งถือเป็นการเติบโตไปอีกขั้นของพัฒนาการวันวัย
ไม่หนักไป แต่ก็ไม่เบาไป สำหรับเดอะ กู๊ด ไดโนซอร์ ครับ มันคือหนังที่เหมาะสำหรับพ่อแม่ที่จะพาลูกๆ ไปดูได้ มีความตื่นแบบที่เด็กๆ ควรจะได้รับ และมีความประทับใจสไตล์หนังฟีลกู๊ดที่ไร้พิษภัย ข้อสังเกตอย่างหนึ่งซึ่งเรามักจะเห็นได้ในหนังของพิกซาร์ เราก็ยังได้เห็นในหนังเรื่องนี้ คือกล่าวอย่างถึงที่สุด เนื้อหาที่ถูกพูดผ่านหนังพิกซาร์แทบทุกเรื่อง ไม่ใช่เรื่องภายนอก หากแต่เป็นเรื่องภายในจิตใจของแต่ละคนที่จะต้องผ่านพ้นด้วยตนเอง
ไม่มีศัตรูภายนอกที่ไหนซึ่งจะต้องตามไล่ล่าฆ่าล้างกันอย่างเอาเป็นเอาตาย หากแต่เป็นศัตรูภายในที่ต้องเอาชนะ อารมณ์มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความกลัว คือสิ่งที่อยู่ในตัวตนของแต่ละคน และจำเป็นต้องข้ามพ้นด้วยตนเอง แม้ว่าระหว่างนั้น อาจจะต้องเจ็บปวดเพราะเกิดบาดแผล แต่ก็เพราะบาดแผลความเจ็บปวดนั้นเอง ซึ่งช่วยบีบนวดกล้ามเนื้อหัวใจให้เติบใหญ่แข็งแรง
“ไดโนเสาร์” อาจสูญพันธุ์จากโลกไปแล้วเป็นล้านปี
แต่มุมมองและวิธีคิดแบบ เดอะ กู๊ด ไดโนซอร์ นั้นไม่เคยดับสิ้น
และมันยังคงใช้การได้ แม้ในวันนี้ หรือวันต่อๆ ไป
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม