ยังไม่มีหลักฐานอื่นที่เก่ากว่า ฟอสซิลที่พบทางภาคอีสานของจีนจึงเป็นดอกไม้ที่เก่าแก่ที่สุดอายุกว่า 160 ล้านปี ยาวนานกว่าที่ทฤษฎีวิวัฒนาการพืชมีอยู่คาดการณ์ไว้
รายงานจากเซาท์ไซน่ามอร์นิงโพสต์ระบุว่า นักวิจัยที่ปฏิบัติงานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้พบฟอสซิลดอกไม้ที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดในโลก โดยมีอายุถึง 162 ล้านปี และได้รายงานลงวารฮิสทอริคัลไบโอโลจี (Historical Biology) วารสารวิชาการนานาชาติทางด้านบรรพชีววิทยาของอังกฤษ
ศ.จงเจียน หลู (Liu Zhongjian) จากศูนย์อนุรักษ์กล้วยไม้แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (National Orchid Conservation Centre of China) และ ศ.ซิน ว่าน (Wan Xin) จากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยานานจิง (Nanjing Institute of Geology and Paleontology) ผู้เขียนรายงานการค้นพบระบุในรายงานว่า การค้นพบนี้เผยให้เห็นมุมมองใหม่ที่หายากสำหรับวิวัฒนาการของดอกไม้
ตามที่นักวิจัยอ้างดอกไม้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "ยูอันธัสพานิอิ" (Euanthus panii) น่าจะเป็นพืชมีดอกพันธุ์แรกที่พบในยุคจูราสสิก (Jurassic) ช่วง 199.6-145.5 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคทองของไดโนเสาร์
อ้างตามรายงานของสื่อจีนมีความขัดแย้งเรื่องการแข่งขันเพื่อค้นหาดอกไม้แรกสุดบนโลกมานาน โดยเป็นเวลากว่าร้อยที่คนจำนวนมากอ้างว่าได้ค้นพบดอกไม้ยุคจูราสสิก แต่ตัวอย่างเหล่านั้นต่างสอบตกเมื่อผ่านการทดสอบโดยนักพฤกษศาสตร์
ก่อนหน้ามีตัวอย่างดอกไม้ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในจีนกัน คือดอกไม้สปีชีส์ คาลเลียนธีส ดิเล (Callianthus dilae) ซึ่งสืบอายุย้อนไปถึงยุคครีเตเชียสตอนต้น โดยมีอายุราวๆ 125 ล้านปี
ส่วนยูอันธัสนั้น ผู้รายงานการวิจัยอ้างว่าแตกต่างไปจากดอกไม้ยุคจูราสสิกที่เคยล่าวอ้างกันก่อนหน้านี้ โดยฟอสซิลของดอกยูอันธัสที่พบนี้ยังคงสภาพโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปของดอกไม้ไว้อย่างดี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาตัวอย่างค่อนข้างมั่นใจว่าได้พบดอกไม้ ไม่ใช่อย่างอื่น
ยูอันธัสปรากฏให้เห็นทั้งกลีบเลี้ยงดอกและกลีบดอก และองค์ประกอบอื่นๆ ที่พบได้ทั่วไปในดอกไม้ยุคปัจจุบัน โดยรายงานยังระบุว่าองค์ประกอบเหล่านั้นจัดเรียงเหมือนดอกไม้ของพืชดอกอย่างสมบูรณ์แบบ
สำหรับฟอสซิลของยูอันธัสนั้น ถูกค้นพบมานานแล้วพร้อมกับตัวอย่างฟอสซิลอื่นๆ โดย กว่าง ปัน (Kwang Pan) นักสะสมฟอสซิลที่เก็บตัวอย่างเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 จากหมู่บ้านซันเจียวเชงทางตะวันตกของมณฑลเหลียวหนิง
ทีมวิจัยสรุปว่าการค้นพบดอกไม้เก่าแก่ในครั้งนี้ทำให้เราต้องกลับมาคิดถึงกำเนิดและประวัติศาสตร์ของดอกไม้กันใหม่ซึ่งการพบดอกไม้ที่ค่อนข้างสมบูรณ์อย่างยูอันธัสในยุคจูราสสิกนี้ไม่สอดรับกับทฤษฎีวิวัฒนาการของพืชที่มีอยู่ในปัจจุบัน สื่อเป็นนัยว่า ทฤษฎีที่มีอยู่นั้นบกพร่อง หรือประวัติศาสตร์ของพืชดอกอาจจะยาวนานกว่าที่เคยสรุปก่อนหน้านี้
*******************************